สถานการณ์ชิปขาดแคลนที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อาจมาถึงจุดที่หนักที่สุดแล้วก็เป็นได้ เพราะมีรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างฟอร์ด (Ford) ต้องส่งมอบรถที่มีฟังก์ชันการทำงานไม่ครบให้กับผู้บริโภคก่อน ตามหลังบริษัทอื่นอย่าง เทสล่า (Tesla) และเจเนอรัล มอเตอร์ (General Motor) ที่เคยตัดสินใจลักษณะเดียวกันไปเมื่อก่อนหน้านี้
สำหรับ Ford นั้นมีรายงานว่า บริษัทอาจเริ่มส่งมอบรถยนต์ SUV รุ่น Explorer ที่ขาดชิปบางตัวให้กับดีลเลอร์ก่อน โดยชิปที่ขาดนั้น จากการเปิดเผยของ Ford เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือชิปที่ควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศ และการทำความร้อนในส่วนที่นั่งด้านหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยแต่อย่างใด โดย Ford อธิบายว่า คนขับ และคนที่นั่งหน้าข้าง ๆ คนขับ จะยังสามารถปรับอุณหภูมิให้กับเบาะหลังได้อยู่ แต่คนนั่งเบาะหลังจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิใดๆได้เองเลย
Ford บอกว่า พวกเขาพยายามทำให้ผู้บริโภคได้รับรถที่สั่งไว้ให้เร็วที่สุด
รถอีกรุ่นของ Ford ที่อาจได้รับผลกระทบคือรถปิคอัพรุ่น F-150 ที่มีฟีเจอร์ประหยัดพลังงานชื่อ Start-Stop โดยผู้ซื้อรถรุ่นนี้จะได้รับทางเลือกว่า ถ้าไม่รับฟีเจอร์ดังกล่าวแต่เปลี่ยนเป็นเครดิตเงินคืน 50 เหรียญสหรัฐ ก็สามารถรับรถได้เลย ถ้าไม่อย่างนั้น ก็อาจต้องรอจนกว่าบริษัทจะได้รับชิ้นส่วนมาจึงจะสามารถส่งมอบได้ (ข้อจำกัดคือ ฟีเจอร์ Start-Stop นี้ Ford บอกว่าไม่สามารถนำมาเพิ่มได้ทีหลัง เพราะต้องใส่ในระหว่างประกอบตัวรถเลย ต่างจากชิปควบคุมเครื่องปรับอากาศที่สามารถมาเพิ่มทีหลังได้)
GM ตัดระบบอำนวยความสะดวก – Tesla ส่งมอบรถไร้ USB Port
Ford ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริการายเดียวที่เริ่มใช้แนวคิดดังกล่าวในการส่งมอบรถ เพราะในปีที่ผ่านมา ค่าย General Motors (GM) เองก็มีการยกเลิกระบบอำนวยความสะดวกในรถยนต์ของทางค่ายไปหลายรายการเพื่อให้ยังสามารถส่งมอบรถออกไปได้ ยกตัวอย่างระบบที่ตัดออกไปเช่น ระบบปรับความร้อน-เย็นให้กับที่นั่งผู้โดยสาร, ระบบ Wireless Charging, HD Radio ซึ่งทาง GM บอกว่า หากซัพพลายเชนด้านชิปกลับมาเป็นปกติเมื่อไร บริษัทจะติดตั้งฟีเจอร์ดังกล่าวกลับคืนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ส่วน Tesla นั้น บอกว่า รถยนต์บางคันที่ขายไปไม่มีพอร์ต USB แต่บริษัทจะติดตั้งเพิ่มให้ในภายหลัง เช่นเดียวกับ BMW ที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทตัดสินใจถอดจอทัชสกรีนของรถยนต์ซีรีส์ 3 ออกไปเนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอย่าง CNN รายงานด้วยว่า สถานการณ์การขาดแคลนชิปประมวลผลจนทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมากในสหรัฐอเมริกาต้องปิดโรงงานเนื่องจากไม่สามารถผลิตรถได้นั้น ได้ทำให้ราคารถในประเทศดังกล่าวพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นสาเหตุสำคัญของอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปีของอเมริกาด้วย