สัปดาห์ก่อน “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” (MAJOR) เพิ่งประกาศเข้าไปถือหุ้น “เถ้าแก่น้อย” (TKN) 69 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 539 ล้านบาท ล่าสุดเข้าไปลงทุนเพิ่มใน บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ผู้ผลิตคอนเทนต์และเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล โดยเข้าถือหุ้น 22.1 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 23.66 บาท ด้วยมูลค่า 522 ล้านบาท
เมเจอร์ฯ แจ้งว่าการเข้าซื้อหุ้น เวิร์คพอยท์ เป็นการทยอยซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามราคาซื้อในตลาดอยู่ระหว่างช่วงราคา 22.41 ถึง 25.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาซื้อในตลาดเฉลี่ย 23.66 บาทต่อหุ้น (วันที่ 15 มีนาคม 2565 WORK ปิดที่ราคา 24.90 บาท)
โดย เมเจอร์ฯ ได้เข้าไปถือหุ้นเวิร์คพอยท์ฯ แล้ว 5% คาดว่าจะถือหุ้นใน WORK ไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการหรือกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด
ตามสัดส่วนการถือหุ้น 5% ใน เวิร์คพอยท์ฯ ทำให้ เมเจอร์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 รองจากคุณปัญญา นิรันดร์กุล ถือหุ้น 23.97% และ คุณประภาส ชลศรานนท์ ถือหุ้น 22.94%
การเข้าถือหุ้นเวิร์คพอยท์ฯ ดังกล่าว เมเจอร์ฯ มีเป้าหมายสร้างการเติบโตของธุรกิจและเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงด้านการผลิตคอนเทนต์มากขึ้นและสร้างโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตร
เวิร์คพอยท์ฯ ถือเป็นธุรกิจสื่อและผู้ผลิตคอนเทนต์ ที่มี “กำไร” มาต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคทีวีดิจิทัลมาถึงโควิด ย้อนดูรายได้และกำไรช่วง 4 ปีหลังดังนี้
– ปี 2561 รายได้ 3,640 ล้านบาท กำไรสุทธิ 345 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 2,835 ล้านบาท กำไรสุทธิ 159 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 2,336 ล้านบาท กำไรสุทธิ 159 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 2,312 ล้านบาท กำไรสุทธิ 324 ล้านบาท
ก่อนหน้านั้นในเดือนมกราคม 2565 เมเจอร์ฯ และเวิร์คพอยท์ ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจกันไปแล้ว ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Skybox Entertainment (สกายบ็อกซ์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ฯ) ผ่านบริษัท “เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” บริษัทในเครือเมเจอร์ฯ เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารศิลปิน โดยเปิดรับสมัครออดิชันทั่วประเทศ คัดเลือกเป็นศิลปิน-นักแสดงในสังกัดสกายบ็อกซ์ ทำงานในวงการบันเทิงโดยไม่จำกัดค่าย ไม่จำกัดช่อง และไม่จำกัดแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้ เมเจอร์ฯ ได้เข้าลงทุนใน “เถ้าแก้น้อย” ซึ่งเป็นการทยอยซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามราคาในตลาดอยู่ระหว่างช่วงราคา 7.06 ถึง 8.26 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาซื้อในตลาดเฉลี่ย 7.82 บาทต่อหุ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 5% เมเจอร์ฯ คาดว่าจะถือหุ้นใน TKN ไม่เกิน 10% และไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการหรือกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจ
วัตถุประสงค์การถือหุ้น “เถ้าแก่น้อย” เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่าย “ป๊อปคอร์น” สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาสินค้าที่หลากหลายร่วมกัน ผลักดันธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Concession) ให้เติบโต เพราะก่อนโควิดธุรกิจนี้เคยทำรายได้ให้เมเจอร์ฯ ถึงปีละ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้
การเข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทที่ เมเจอร์ฯ มองโอกาสต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ทั้งด้านบันเทิงกับ “เวิร์คพอยท์” และด้านเทรดดิ้งกับ “เถ้าแก่น้อย” เป็นการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจโรงหนัง และชดเชยส่วนแบ่งรายได้หลังจากปีก่อนได้ขายหุ้นทั้งหมด 30% ใน “สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์” (SF) ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ในประเทศไทยรวม 19 แห่ง เช่น เมกา บางนา, เอสพลานาด
หลังขายหุ้น สยามฟิวเจอร์ฯ ปีก่อน เมเจอร์ฯ ได้รับเงินรวม 7,765 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 3,163 ล้านบาท
ณ สิ้นปี 2564 เมเจอร์ฯ มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นกว่า 5,000 ล้านบาท หลังจากลงทุนใน “เถ้าแก่น้อยและเวิร์คพอยท์” รอบแรก สัดส่วนบริษัทละ 5% รวมมูลค่า 1,061 ล้านบาทแล้ว ยังมีเงินเหลือลงทุนเพิ่มอีกโดยมีเป้าหมายถือไม่เกิน 10% ในทั้ง 2 บริษัท
อ่านเพิ่มเติม