หากฟังวิสัยทัศน์ของบรรดาผู้นำโลกจะพบว่าหลาย ๆ คน เอ่ยไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคืองานในส่วนของเทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้น และจำเป็นต่อการพัฒนาของโลกในยุคต่อไป แต่ในมุมของ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) ซีอีโอ Meta ที่ให้สัมภาษณ์ผ่าน Podcast ของ Lex Fridman นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งสถาบัน MIT เขามองว่า แม้งานสายเทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือ “ความคิดสร้างสรรค์”
ในมุมของผู้สร้างแพลตฟอร์ม Facebook ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเขียนโปรแกรมล้วน ๆ คำพูดของ Mark Zuckerberg จึงน่าสนใจว่าทำไมความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อตอนที่เขาสร้าง Facebook เมื่อปี 2004 นั้น มันเป็นยุคที่ทุกคนหนีไม่พ้น ที่จะต้องเริ่มจากการเขียนโปรแกรม (หรืออาจกล่าวได้ว่า ในยุคนั้น ถ้าไม่สร้างจากพื้นฐานก็ไม่มีอะไรให้สร้างได้แล้ว)
แต่สำหรับอนาคตที่มีพื้นฐานเหล่านี้ก่อร่างสร้างเอาไว้ดีแล้ว เด็ก ๆ ก็เพียงต่อยอดมันขึ้นไป และอาจไม่จำเป็นต้องมาเริ่มจากการเขียนโค้ดเหมือนรุ่นพ่อแม่ก็ได้นั่นเอง และในอนาคต เด็ก ๆ อาจคุ้นเคยกับการทำงานแบบอัตโนมัติ (automation) จนเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้วก็ได้
เขาได้ยกตัวอย่างลูกสาวของเขาที่พิมพ์สมการบางอย่างลงไปในคอมพิวเตอร์และให้มันสร้างออกมาเป็นงานศิลปะได้ ซึ่งก็ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนพัฒนาโปรแกรมอีกแบบหนึ่งที่ทำให้เด็กสามารถสร้างผลงานศิลปะจากสมการได้
อย่างไรก็ดี แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะในอดีต ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายคนเคยคาดการณ์ว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ในหลายภาคส่วน เช่น การคาดการณ์ของ The World Economic Forum เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ที่บอกว่า งานคีย์ข้อมูล, งานของฝ่ายธุรการ, ฝ่ายบัญชี, งานในโรงงาน รวมไปถึงงานของสายไอทีพื้นฐาน เช่น การเขียนโค้ดง่าย ๆ อาจจะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติภายในปี 2025 เพื่อให้มนุษย์เอาเวลาไปทำสิ่งที่สำคัญกว่านั้น เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ AI ยังทำแทนไม่ได้
The World Economic Forum ยังคาดการณ์ด้วยว่า จะมีตำแหน่งงานที่หายไปมากถึง 85 ตำแหน่งจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนคนที่ตกงานก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะจะมีงานใหม่ ๆ ให้ทำจากการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่รออยู่ถึง 97 ล้านตำแหน่ง โดยส่วนหนึ่งเป็นงานในสาย Digital Marketing, Data Analysis และ Business Development นั่นเอง