SCB CIO ประเมินสงครามระหว่างรัสเซีย–และยูเครนยังมีความไม่แน่นอนสูง มีแนวโน้มยืดเยื้อ เป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มยืดเยื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ธนาคารกลางหลัก Fed และ ECB จะไม่ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงจนเกินไป ยังคงมุมมองเพิ่มน้ำหนักการถือเงินสด ไม่ซื้อไม่ขายสินทรัพย์เสี่ยง จับจังหวะสะสมหุ้นไทยและเวียดนามเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง
สงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่อแววยืดเยื้อ เสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ สงครามระหว่างรัสเซีย–และยูเครนยังมีความรุนแรง และ ความไม่แน่นอนสูง สัญญาณล่าสุดมีแนวโน้มยืดเยื้อมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ที่อาจมีบางประเทศมีความเสี่ยงต่อภาวะ Stagflation มากขึ้น (เศรษฐกิจเติบโตต่ำ แต่เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานสูง) จากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุน SCB CIO ประเมินจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) การสู้รบมีทั้งทางบก น้ำ อากาศ และ cyber ยูเครนต่อสู้อย่างเข้มข้น โดยได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ รวมถึงอาวุธจากหลายประเทศในยูโรปและสหรัฐฯ ในขณะที่รัสเซียมีการขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์
2) มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย สะท้อนผ่านราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น มาตรการคว่ำบาตรต่อภาคการเงินการธนาคารและเศรษฐกิจรัสเซียยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการขู่ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้น และมีความเสี่ยงต่อภาวะ Stagflation สูงขึ้น
3) การเจรจา ที่ผ่านมาเป็นการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ SCB CIO ประเมินว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับการเจรจาของเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเฉพาะประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศมากกว่า
เงินเฟ้อ – ราคาพลังงาน พุ่ง
ทั้งนี้ ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกถดถอย ( Stagflation concern ) ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงและยืดเยื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากแม้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งส่งออกและนำเข้าของรัสเซียและยูเครนต่อประเทศเศรษฐกิจหลักจะมีไม่มากนักแต่ความยืดเยื้อของสงครามและจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง ราคาพลังงานและเงินเฟ้อที่สูง และภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในยุโรปจึงนับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ความกังวลต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลักของรัสเซีย เช่น ปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี อลูมิเนียม ทองแดง และ ปุ๋ยเคมี ทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อด้านพลังงานและอาหาร (energy and food inflation) ในหลายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อมากกว่าที่ธนาคารกลางและตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้
ในระยะถัดไปเราประเมินว่าราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นและมีแนวโน้มยืดเยื้อ จะทำให้เงินเฟ้อสูงจากปัจจัยด้านต้นทุน (cost push inflation) เป็นปัจจัยกังวลหลักของตลาดต่อไป ซึ่งประเทศในเอเชียอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ ยกเว้น มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยนำเข้าพลังงานต่อ GDP สูงที่สุด เงินเฟ้อด้านค่าจ้าง (wage inflation) ยังคงโตต่ำยกเว้นในสหรัฐฯ ส่วนเงินเฟ้อจากอาหาร (food inflation) มีแนวโน้มเร่งตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศที่ใช้ข้าวสาลีเป็นหลัก แต่ในเอเชียได้รับผลกระทบน้อยโดยเฉพาะข้าวไทยและเวียดนาม ไม่ได้ปรับตัวสูงมากนัก
ถือเงินสด รอลงทุนหุ้นไทย – เวียดนาม
ดร. กำพล กล่าวต่อไปว่า SCB CIO คาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ( Fed ) และ ธนาคารกลางยุโรป ( ECB ) จะไม่ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงจนเกินไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะ Fed จะยังคงส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย แต่ด้วยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกถดถอย จึงเชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 25 bps ในการประชุม 15-16 มี.ค. และ รวมทั้งหมด150 bps ในปี 2022 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วอาจไม่ได้ขยับขึ้นเร็วนัก เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงนักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น (risk-off mode ) จากความกังวลประเด็น stagflation จะทำให้อัตราผลตอบแทน (yield curve) มีลักษณะไม่ผันผวน (flattening) มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันกับหุ้นในกลุ่มธนาคารในระยะถัดไป ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศ Emerging markets ที่อ่อนไหว ( sensitive) ต่อเงินเฟ้อ เช่น บราซิล ตุรกี ยังอยู่ในระดับสูงและมีความเสี่ยงอยู่มากโดยเฉพาะรัสเซีย ในขณะที่ Asian bond yields ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม SCB CIO คงมุมมองเพิ่มน้ำหนักการถือเงินสด ไม่ซื้อไม่ขายสินทรัพย์เสี่ยง จับจังหวะสะสมหุ้นไทยและเวียดนาม และยังคงมุมมองหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นกู้ High Yield bond ของจีน รวมทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย หรือธนาคารในยุโรป ผลกระทบจากประเด็นสงครามต่อเศรษฐกิจเวียดนามและไทย ส่วนใหญ่จะมาจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อ แต่เราคาดว่าธนาคารกลางใน 2 ประเทศจะยังคงเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อผลประกอบการน่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ รวมถึง valuation ของตลาดเริ่มกลับสู่ระดับที่น่าสนใจ