หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือร่วมกันเพื่อกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
ก.ล.ต. จึงใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565) และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
สรุปสาระสำคัญ หลักเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัลดังนี้
1. ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น
2. กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน
ประกาศหลักเกณฑ์นี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ให้ปฏิบัติเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ไขข้อสงสัย “คำถาม-คำตอบ” หลักเกณฑ์คุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
กรณีการออกเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) ก.ล.ต. ชี้แจงดังนี้
1. การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างไร
คำตอบ
หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง จะมีความเสี่ยงต่อผู้เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ดังนี้
– เสถียรภาพระบบการชำระเงิน
หากสินทรัพย์ดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าบริการอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลต่อการดูแลระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงและปลอดภัย เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีสาธารณะแบบกระจายศูนย์ (public blockchain) ทำให้ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้ หากเกิดปัญหา ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ ยังทำให้มีระบบการชำระเงินหลายระบบ (fragmentation) และซ้ำซ้อน อาจสร้างความสับสนหรือทำให้เกิดต้นทุนหากผู้บริโภคต้องใช้หลายระบบ ทำให้ต้นทุนการชำระเงินโดยรวมของประเทศสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินด้วย
– เสถียรภาพทางการเงิน และความสามารถในการดูแลภาวะการเงินของประเทศ
การเกิดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) หรือหน่วยการตั้งราคาที่นอกเหนือจากสกุลเงินบาท จะเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและธุรกิจ จากการแลกเปลี่ยนไป-มาระหว่างสกุลต่าง ๆ นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสกุลเงินบาทที่ลดลง จะลดทอนประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมถึงลดความสามารถของ ธปท. ในการดูแลให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในประเทศ ธปท. จะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบาทได้
มุมมองความเสี่ยงข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสมเช่นกัน
– ผู้ใช้หรือรับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ
1) ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้ หรือรายรับของผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง แม้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายมีบริการที่ช่วยแลกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทก่อนส่งมอบแก่ร้านค้า แต่ยังอาจมีต้นทุนแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมในการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันความผันผวน ที่อาจเก็บจากผู้ใช้หรือผู้รับชำระได้
2) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบหยุดชะงักทำให้เสียโอกาส
3) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนหรือรับโอนจากกระเป๋าส่วนตัว (private wallet) ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน จึงมีโอกาสที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน และเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนทางการเงินให้กับการก่อการร้าย รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต่าง ๆ เป็นต้น
2. แนวทางนี้ สะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่
คำตอบ
ประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลฯ กังวล คือ ความเสี่ยงจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ระบบชำระเงินปัจจุบันของไทยมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มประโยชน์มากนักให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ธปท. และ ก.ล.ต. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น blockchain และให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรมและไม่ได้ปิดกั้นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการลงทุน สะท้อนจากการที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีกฎหมายรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดย ก.ล.ต. เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหมาะสม และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ธปท. เป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี blockchain หรือการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินด้วย
3. ก.ล.ต. มีแนวทางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร
คำตอบ
ก.ล.ต. ยึดหลักสนับสนุนการพัฒนาควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน และมีแนวทางกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบัน ให้เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการด้านนวัตกรรมทางการเงิน โดยยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ดี ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้กำหนดหน้าที่ในลักษณะเป็นหลักการ (principle based) โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
4. เกณฑ์นี้มีผลกระทบกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร
คำตอบ
เกณฑ์นี้กำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลห้ามให้บริการเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ดังนั้น ผู้ซื้อขาย/ผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน/ซื้อขายได้ตามปกติ เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาต สามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการได้ตามปกติ
5. เหตุใดจึงออกหลักเกณฑ์บังคับใช้ และมีกำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือไม่
คำตอบ
การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ประเมินความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง โดยได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ และร้านค้าแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจึงเห็นพ้องร่วมกันว่า หากไม่ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าว จะเกิดความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ จึงเห็นควรคงหลักการดังกล่าวไว้เช่นเดิม
ทั้งนี้ ในส่วนของการมีผลใช้บังคับ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจขอขยายระยะเวลาออกไป เพื่อให้มีเวลาดำเนินการให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบ และได้ขยายระยะเวลาการมีผลใช้บังคับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว จากเดิม 15 วัน เป็น 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565