อันที่จริง “เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” หรือ “Vending Machine” มีมานานแล้ว โดยมีการพัฒนาเวอร์ชั่นของตู้ให้ฉลาด และทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ อย่างถ้าใครไปญี่ปุ่น จะเห็นตู้อัตโนมัติได้ทั่วไป ในทุกสถานที่ ทุกถนน ทุกตรอกซอกซอย ถือเป็นหนึ่งในช่องทางการขายสำคัญของแบรนด์ต่างๆ ไปแล้ว
ขณะที่ประเทศไทย ในช่วง 5 ปีมานี้ เริ่มเห็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีประเภทตู้หลากหลาย ตั้งแต่ตู้ขายเครื่องดื่ม, ตู้ขายขนมขบเคี้ยว, ตู้ขายอาหารพร้อมรับประทาน, ตู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ, ตู้ขายเสื้อ และอีกมากมาย
แต่หนึ่งใน Vending Machine ที่กำลังเป็นกระแส โดยสามารถขยายการติดตั้งตู้ เข้าไปตามสถานที่ต่างๆ คือ “ตู้เต่าบิน” (TAO BIN) ซึ่งนิยามตัวเองเป็น “Robotic Barista” เพื่อให้บริการคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ดำเนินการโดย “บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด” (FORTH Vending) บริษัทพัฒนาตู้กดสินค้าอัตโนมัติ ในเครือบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (FORTH Corporation)
ท่ามกลางร้านกาแฟสดมากมายในไทย ทั้งเชนใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีให้เลือกหลากหลายระดับราคา แต่ทำไม “ตู้เต่าบิน” ถึงมีคนให้ความสนใจ ทั้งในฝั่งผู้บริโภค โดยในหลายจุดติดตั้งตู้ พบว่ามีคนต่อคิวรอซื้อเครื่องดื่ม และสามารถขายได้ตั้งแต่กว่า 60 แก้วต่อวันต่อตู้ ไปจนถึงกว่า 200 แก้วต่อวันต่อตู้ ขณะที่ในฝั่งองค์กร หน่วยงานต่างๆ ติดต่อขอให้ตู้เต่าบินเข้าไปติดตั้งเพิ่มขึ้น
Brand Buffet ชวนมาถอดกลยุทธ์ “เต่าบิน” ตู้จำหน่ายกาแฟ และเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ และ Roadmap ธุรกิจในอนาคต ?!?
เปิดสถิติยอดขายตู้เต่าบิน 1 วัน ขายได้กว่า 60 แก้ว/วัน/ตู้ – รายได้กว่า 1.6 ล้านบาทต่อวัน
ปัจจุบันมีจำนวนตู้เต่าบิน 818 ตู้ สามารถสร้างยอดขาย และรายได้ดังนี้
– มีลูกค้าโดยเฉลี่ย 50,000 คนต่อวัน
– มียอดขายกว่า 60 แก้วต่อวันต่อตู้ จากเดิมตั้งเป้า 50 แก้วต่อวันต่อตู้
– มีบางตู้ขายได้ 240 – 250 แก้วต่อวัน
– ราคาขายโดยเฉลี่ย 34 บาทต่อแก้ว
– รายได้รวมกว่า 1.6 ล้านบาทต่อวัน
– อัตรามาร์จิ้นกว่า 60%
– เป้าหมายปี 2565 วางแผนขยายจำนวนตู้เพิ่มอีก 5,000 ตู้
– ภายในปี 2567 จะขยายตู้เต่าบินเป็น 20,000 ตู้
5 กลยุทธ์ “ตู้เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ “ตู้เต่าบิน” ได้การตอบรับที่ดีจากตลาด ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลักคือ
1. ต่อยอดจาก “ตู้บุญเติม” และใช้พลัง Synergy ธุรกิจในเครือ พัฒนาและผลิตตู้อัตโนมัติออกสู่ตลาด
ภายใต้บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH Corporation) ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ
– EMS Business มีทั้งโรงงานผลิต ทั้งของในเครือฟอร์ท และลูกค้าข้างนอก ขณะเดียวกันทำเทรดดิ้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
– Enterprise Solutions Business เน้นประมูลงานโครงการภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับลูกค้าหน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน เช่น อุปกรณ์ชุมสาย ที่พัฒนาต่อจากตู้สาขาโทรศัพท์, ไฟจราจร และระบบควบคุม
– Smart Services Business เป็นกลุ่มธุรกิจที่เจาะลูกค้ารายย่อย (B2C) ปัจจุบันมี 2 ส่วนคือ
- “FSMART” อีกหนึ่งบริษัทลูกของกลุ่มธุรกิจ Smart Service ทำตู้บุญเติม ปัจจุบันมีกว่า 130,000 ตู้ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการรับชำระ, เติมเงินระบบต่างๆ, EV Charger ที่มาพร้อมกับแอปฯ Be Charger เป็นทั้ง e-Payment, จองออนไลน์ และเช็คจุดติดตั้งชาร์จ EV
- “FORTH Vending” ทำธุรกิจตู้กดอัตโนมัติ และล่าสุดคือ “ตู้เต่าบิน” เป็น Robotic Barista หรือ Robotic Cafe ถือเป็นหนึ่งในเรือธงของกลุ่มฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น
การพัฒนาตู้เต่าบิน ใช้พลัง Synergy ของบริษัทในเครือฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ EMS Business เป็นผู้ผลิตตู้เต่าบิน โดยปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 10 – 12 ตู้ต่อวัน แต่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 15 ตู้ต่อวัน เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ธุรกิจตู้เต่าบินตั้งไว้ในปี 2565 ที่ต้องการติดตั้งเพิ่มอีก 5,000 ตู้ จากปัจจุบันมี 818 ตู้
การพัฒนาตู้เต่าบิน แตกต่างจากเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอื่น และตู้ทำเครื่องดื่มอัตโนมัติรายอื่นตรงที่ ด้วยความที่มีเมนูเครื่องดื่มหลากหลาย มากกว่า 170 เมนู และให้ลูกค้าสามารถ Customize ได้เอง ทำให้การออกแบบและพัฒนาระบบ จึงมีความซับซ้อนกว่าตู้อัตโนมัติทั่วไป
โดยปัจจุบันตู้เต่าบิน 1 ตู้ มีชิ้นส่วนภายในมากกว่า 7,000 ชิ้น และด้วยความที่กลุ่มบริษัทฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมตู้เต่าบินขึ้นเอง จึงได้มีการจดสิทธิบัตรการคิดค้นและพัฒนา ปัจจุบันมี 35 สิทธิบัตร
นอกจากนี้ยังได้ผนึกกำลังกับ “FSMART” ที่ทำธุรกิจตู้บุญเติม เช่น ใช้ระบบ Call Center ของตู้บุญเติม ให้บริการลูกค้าในยามที่ติดปัญหาต่างๆ
จากองค์ความรู้และประสบการณ์ ทั้งการผลิต และการขยายตู้บุญเติม ทำให้การต่อยอดมาสู่ “ตู้เต่าบิน” สามารถ takeoff ธุรกิจคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมงได้เร็ว
2. กว่า 170 เมนู – ให้ลูกค้า Customize ได้เอง
อีกหนึ่งหัวใจของการให้จำหน่ายเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภคใน Mass Market คือ ความหลากหลายของเมนู โดยปัจจุบันตู้เต่าบิน มีเมนูเครื่องดื่ม ทั้งหมวดกาแฟ, หมวดโซดา, นมและช็อคโกแลต, ชา และอื่นๆ รวมกว่า 170 เมนู ครอบคลุมทั้งเมนูร้อน, เย็น และปั่น โดยลูกค้าสามารถ Customize ได้เอง
เช่น ระดับความหวานมีให้เลือก 5 ระดับ, เมล็ดกาแฟ ปัจจุบันมีคั่วเข้ม กับคั่วอ่อน แต่ในอนาคตเตรียมพัฒนาฟีเจอร์ตู้เต่าบิน ให้สามารถปรับแต่งรสชาติกาแฟได้เอง
นอกจากนี้หากเมนูไหนขายไม่ดี จะมีการปรับเปลี่ยน และนำเสนอเมนูใหม่เรื่อยๆ เช่น Seasonal Menu และมีกาแฟ Single Origin เอาใจคอกาแฟ
ทั้งนี้ปัจจุบันมูลค่าตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในไทยอยู่ที่ 247,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
– กาแฟ 60,000 ล้านบาท (24%)
– เครื่องดื่มโซดา 62,000 ล้านบาท (25%)
– นม และช็อคโกแลต 60,000 ล้านบาท (24%)
– เครื่องดื่มชูกำลัง 20,000 ล้านบาท (8%)
– ชา 13,000 ล้านบาท (5%)
– เครื่องดื่มอื่นๆ เกือบ 32,000 ล้านบาท (13%)
ขณะที่สัดส่วนการขายเครื่องดื่มของตู้เต่าบิน สอดคล้องกับภาพรวมตลาด นั่นคือ
– 33% กาแฟ
– 20% โซดา
– 22% นมและช็อคโกแลต
– 16% ชา
– 9% อื่นๆ
3. คุณภาพและมาตรฐานต้องเสถียร
เมื่อเป็นเครื่อง Robotic Barista จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคมาซื้อซ้ำต่อเนื่อง (Repeat Customer) และสร้างความเชื่อมั่น คือ คุณภาพและมาตรฐานทุกแก้วต้องเสถียร และสะอาด – ปลอดภัย
“ตู้เต่าบิน” ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม รวมทั้งใช้แขนกลในการชั่ง ตวง วัด เพื่อให้ได้คุณภาพ และมาตรฐานเหมือนกันทุกแก้ว ส่วนน้ำ – น้ำแข็งที่ใช้ทำเครื่องดื่ม ใช้น้ำ RO ซึ่งปัจจุบันในจำนวนกว่า 800 ตู้ ปริมาณการใช้อยู่ที่วันละ 2,000 ถัง เพื่อให้มั่นใจในความสะอาด และมีระบบทำความสะอาดหัวชง โดยก่อนจะชงแก้วถัดไป ใช้น้ำร้อนแรงดันสูงในการล้างหัวชง
4. ราคาเข้าถึงง่าย – ซื้อได้ 24 ชั่วโมง
นอกจากเมนูหลากหลายแล้ว การทำราคาให้เข้าถึงง่าย ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาดตู้เต่าบินเช่นกัน โดยราคาเฉลี่ย 34 บาทต่อแก้ว ซึ่งเป็นระดับราคาเครื่องดื่มชงสด ที่สามารถแข่งขันได้ใน Mass Market เพื่อเข้าถึงฐานผู้บริโภคในวงกว้าง
ประกอบกับการเป็นตู้จำหน่ายอัตโนมัติ และมีทีมงานเข้ามาตรวจเช็คอยู่เสมอ ทำให้สามารถให้บริการเครื่องดื่มแก่ผู้บริโภคได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดแข็งของตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ
5. กระจายจุดติดตั้ง เข้าถึงทุกพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่น
การเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากราคา และเมนูแล้ว ต้องมาพร้อมกับการขยายจุดติดตั้งด้วยเช่นกัน โดยในจำนวนตู้เต่าบินกว่า 800 ตู้ กระจายไปในโลเคชั่นต่างๆ ที่มีศักยภาพ ได้แก่
– 47% อยู่ในคอนโดมิเนียม
– 20% ในโรงงาน
– 12% ในศูนย์การค้า
– 12% อาคารสำนักงาน, หน่วยงานภาครัฐ, สถานศึกษา
– 7% โรงพยาบาล
– 2% ระบบขนส่งมวลชน โดยที่พบเห็นได้เยอะคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส
หลังจากธุรกิจตู้เต่าบิน Takeoff ได้แล้ว สเต็ปจากนี้ “FORTH Vending” ต้องเร่งขยายตู้เต่าบิน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
ตามแผนการขยายจุดติดตั้งตู้เต่าบิน
– ปี 2565 ตั้งตู้เพิ่มอีก 5,000 ตู้
– ปี 2566 ตั้งตู้เพิ่มอีก 5,000 ตู้
– ปี 2567 ตั้งตู้เพิ่มอีก 10,000 ตู้
นั่นหมายความว่าภายใน 3 ปีจากนี้ จำนวนตู้เต่าบินจะอยู่ที่ 20,000 ตู้ ซึ่งกลุ่มฟอร์ทฯ เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการติดตั้งตู้เต่าบินตามแผนที่วางไว้ เพราะเคยสำเร็จมาแล้วกับการตั้งตู้บุญเติมกว่า 130,000 ตู้
เป้าหมายในปี 2567 เมื่อตู้เต่าบินมีจำนวน 20,000 ตู้ คือ
– Gross Margin 60%
– 20,000 ตู้ภายในปี 2567
– คาดการณ์ว่าจะขายได้ประมาณวันละ 600,000 – 1 ล้านแก้วต่อวัน หรือยอดขายโดยเฉลี่ยต่อตู้อยู่ที่ 30 – 50 แก้วต่อตู้ต่อวัน
– คาดว่ารายได้อยู่ที่ 18 – 30 ล้านบาทต่อวัน (ราคาขายโดยเฉลี่ยกว่า 30 บาทต่อแก้ว)
– รายได้รวม 6,000 – 10,000 ล้านบาทต่อปี
Roadmap “ตู้เต่าบิน” ไม่หยุดแค่ตู้คาเฟ่ 24 ชั่วโมงในไทย! เตรียมขยายสู่ต่างประเทศ – เล็งเข้าตลาดหุ้น
แผนธุรกิจของตู้เต่าบิน นอกจากขยายให้ได้ 20,000 ตู้ภายในปี 2567 แล้ว ในอนาคตยังมี Diversify ธุรกิจเพิ่มเติม เช่น
– ประมาณช่วงกลางปี 2565 จะส่งตู้เต่าบินออกไปทดสอบตลาดที่ต่างประเทศ ประเทศแรกคือ อังกฤษ เนื่องจากทีม Generation รุ่นที่ 2 ของฟอร์ท คอร์ปอเรชั่นมี Connection ที่นั่น
ส่วนในภูมิภาคอาเซียน มองโอกาสความเป็นไปได้ในการขยายฐานธุรกิจที่เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
– แบรนด์ “เต่าบิน” จะไม่หยุดแค่การเป็นคาเฟ่อัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังได้ศึกษาและมองหาโอกาสใหม่ ทั้งการขยายธุรกิจรูปแบบ “Backward Integration” และ “Forward Integration”
สำหรับกลยุทธ์ “Forward Integration” การการขยายธุรกิจไปข้างหน้า เช่น อนาคตอาจต่อยอดด้วยการนำเครื่องดื่มบาง Category ที่ได้รับความนิยมในตลาด มาผลิตเป็นเครื่องดื่มบรรจุขวด เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง, น้ำกัญชา ภายใต้แบรนด์เต่าบิน
ขณะที่ “Backward Integration” การขยายธุรกิจย้อนกลับไปต้นน้ำในด้านวัตถุดิบ อย่างทุกวันนี้ตู้เต่าบิน ขยายจุดติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากถึง 5,000 ตู้ ก็มองว่าถึงเวลาต้องตั้ง “โรงคั่วกาแฟ” เพื่อคั่วกาแฟเอง เพราะด้วยปริมาณการใช้วัตถุดิบมากขึ้น หรือแม้แต่การตั้งโรงผลิตแก้ว และโรงผลิตน้ำ RO เป็นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันตู้เต่าบินกว่า 800 ตู้ ใช้น้ำ RO 2,000 ถังต่อวัน และ เพื่อรองรับจำนวนตู้ที่มากขึ้น และปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น
– บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีแผนจะ Spin-off สองบริษัทในเครือ คือ “FORTH Vending” ทำตู้เต่าบิน และธุรกิจ “FORTH EMS” ทำโรงงานผลิตตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็น SET หรือ mai
– ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น มองว่าธุรกิจเต่าบิน เป็นธุรกิจเรือธงในการพาธุรกิจขยายออกไป ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ