เปิดข้อมูล “ทรูมันนี่” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการเงินดิจิทัล พบผู้ใช้งานในไทยทะลุ 24 ล้านแอคเคาน์ ตั้งเป้าแตะ 30 ล้านในปีนี้ ล่าสุดประกาศจับมือ “Shield” (ชิลด์) บริษัทเทคโนโลยีด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จากสิงคโปร์นำระบบ AI เข้ามาช่วยตรวจจับภัยคุกคาม – การฉ้อโกงบนแพลตฟอร์ม หวังเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้งาน – เพิ่มโอกาสเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับการประกาศเป็นพันธมิตรระหว่างทรูมันนี่กับ Shield (ภายใต้บริษัท ชิลด์ เอไอ เทคโนโลยี จำกัด) นั้น ทางคุณจัสติน ลี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Shield กล่าวว่า ทรูมันนี่เป็นพันธมิตรรายแรกของ Shield ในประเทศไทย โดยปัจจุบัน มีบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของ Shield แล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา กรุ๊ป, OVO, SEA, HappyFresh, Razer ฯลฯ
ด้านคุณมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ของบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า การจับมือกันครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการขยายธุรกิจของทรูมันนี่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นในแง่ของการเพิ่มความมั่นใจในการใช้บริการ และการนำ AI มาปรับใช้ยังทำให้ทรูมันนี่สามารถป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ทรูมันนี่เลือก Shield เป็นพาร์ทเนอร์เพราะทาง Shield มีเทคโนโลยี AI และมีระบบหลังบ้านในส่วนของแพทเทิร์นความเสี่ยงในระดับโลก
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยในการแถลงข่าว เผยว่า ภัย – การฉ้อโกงออนไลน์ที่พบมากที่สุดในแพลตฟอร์มด้านการเงินมี 5 ประเภท ได้แก่
- – การแฮค การเจาะข้อมูล (Hacking/Data Breaches)
- – บัญชีปลอม (Fake Registration)
- – การช่วงชิงบัญชี (Account takeovers)
- – การหลอกลวงเพื่อชิงข้อมูลส่วนตัว (Phishing)
- – การแอบอ้าง หรือการปลอมแปลง (Impersonation Scams)
ในส่วนของทรูมันนี่ คุณอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด เผยว่า พบเรื่องของการแอบอ้าง – การปลอมแปลงมากที่สุด อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ภัยทั้ง 5 ข้อเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินทุกวันนี้ต้องเผชิญอยู่แล้ว
ไม่แชร์ข้อมูล Biometric กับ Shield
สำหรับประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานจะได้รับเพิ่มเติมจากการนำ AI ของทาง Shield มาปรับใช้กับทรูมันนี่นั้น คุณมนสินี และคุณอธิปัตย์เผยว่า หาก Transaction ที่กำลังจะเกิดขึ้นมีความเสี่ยงว่าอาจจะเป็นภัยคุกคาม หรือการฉ้อโกง AI อาจปฏิเสธ Transaction นั้น ๆ ให้โดยอัตโนมัติ หรืออาจมีการขอให้ผู้ใช้งานสแกนหน้า เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของบัญชีจริง ๆ (โดยจะมีการเก็บภาพใบหน้าเอาไว้ในฐานข้อมูลของทางทรูมันนี่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงดังกล่าว) และการนำ AI มาปรับใช้กับแพลตฟอร์มทรูมันนี่ที่อาจต้องสแกนใบหน้านั้น จะไม่มีการแชร์ข้อมูล Biometric (ภาพใบหน้า) กับทาง Shield แต่อย่างใด
เป้าหมายคนไทยใช้ทรูมันนี่ 50% ในปี 2023
สำหรับเป้าหมายส่วนหนึ่งของทรูมันนี่ในปี 2022 คือการมีผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 20% และต่อเนื่องถึงปี 2023 คือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้เป็น 50% ของจำนวนประชากรในประเทศ โดยคุณมนสินีกล่าวว่า “เราอยากให้คนทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ และมีเป้าว่า ภายในปี 2022 – 2023 ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของประชากรไทย จะใช้ทรูมันนี่วอลเล็ต ซึ่งเป้าหมายนี้เราได้พัฒนาขึ้นทุกปี อย่างในปีที่แล้ว (2021) ก็มีคนไทย 24 ล้านคนใช้ทรูมันนี่วอลเล็ตแล้ว”
นอกจากนั้นคุณมนสินียังได้กล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจทรูมันนี่ในกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียด้วย โดยมีการยกตัวอย่างการเติบโตในกัมพูชาว่า คิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศ
“ที่ผ่านมา เราขยายจุดรับชำระเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในร้านสะดวกซื้อ รถไฟฟ้าใต้ดิน ฯลฯ Covid ก็เป็นเหตุผลสำคัญในการเติบโต แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้คนไทยให้ความสนใจมากขึ้นก็คือการออมและการลงทุน ซึ่งก็มีให้บริการบนทรูมันนี่เช่นกัน แค่หนึ่งบาทก็สามารถลงทุนได้แล้ว โดยเป็นการจับมือกับเกียรตินาคิน (KKP)”
พร้อมกันนี้ ทางคุณมนสินีบอกว่า จะมีการเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินเพิ่มเติมบนแพลตฟอร์มทรูมันนี่ในปีนี้ตามมาอีกมากด้วย
เน้นเจาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีอีกหลายประเทศที่คนยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร เช่น กัมพูชา เมียนมา โฟกัสของทรูมันนี่จึงอยู่ในตลาดนี้เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ และการขยายการเติบโตจะไปทั้ง Ecosystem ของทั้งทรูมันนี่เอง และ Ecosystem ของทางเครือฯ ด้วย โดยตอนนี้เรากำลังขอไลเซนต์การให้บริการ e-Wallet ในมาเลเซีย พร้อม ๆ กับที่ทางเครือฯ ไปลงทุนในโลตัส และแมคโครนั่นเอง” คุณมนสินีกล่าวปิดท้าย