บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยืนราคาขายปลีกแบบซอง 6 บาท มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งสุดท้ายเมื่อ 14 ปีก่อน แต่ในสถานการณ์ต้นทุนพุ่งขึ้นทุกอย่าง โดยเฉพาะแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม วัตถุดิบหลัก 60-70% ราคาขยับขึ้นมาหลายเท่าตัว อย่าง น้ำมันปาล์มจาก 19 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 53-57 บาทต่อกิโลกรัม เริ่มส่งผลต่อต้นทุนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มาม่า ยำยำ ไวไว ได้ขายปลีกสินค้าหลักแบบซองขนาด 60 กรัม ในราคา 6 บาท มาตั้งแต่ปี 2551
แต่ “ไวไว” ปรุงสำเร็จ (รสชาติดั้งเดิม) น้ำหนัก 55 กรัม ยืนราคาขายปลีกซองละ 5.50 บาท มาตลอดอยู่รสชาติเดียว ส่วน “ไวไว” รสชาติอื่น น้ำหนัก 60 กรัม ขายที่ราคา 6 บาทเช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ
ล่าสุด “ไวไว” รสชาติดั้งเดิม ได้ปรับราคาขายปลีกขึ้น 50 สตางค์ เป็นซองละ 6 บาท โดยสินค้าใหม่ได้เพิ่มปริมาณเป็น 57 กรัม ส่วนเครื่องปรุงปริมาณโซเดียมจาก 710 มิลลิกรัม เพิ่มเป็น 1,020 มิลลิกรัม
สำหรับ “ไวไว” ปรุงสำเร็จ เริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี 2515 จำหน่ายเป็นรสชาติแรกมาถึงปัจจุบันระยะเวลา 50 ปี
สำรวจร้านขายปลีก “ไวไว” รสชาติอื่นๆ แบบซองยังคงราคาเดิม 6 บาท เช่นเดียวแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอื่นๆ ที่ยังยืนราคาแบบซอง 60 กรัม ไว้ที่ 6 บาทเช่นกัน
จากสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ทั้งวัตถุดิบและราคาพลังงานเชื้อเพลิง คงต้องจับตาดูว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมราคาจะปรับตัวอย่างไร และจะยืนราคาสินค้าหลักแบบซอง 6 บาทไปได้อีกนานแค่ไหน
แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นสินค้าควบคุมราคา (สินค้าซอง 6 บาท) แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ประกอบการได้ปรับตัวด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่ รสชาติใหม่ในกลุ่มพรีเมี่ยมหรือบรรจุภัณฑ์แบบถ้วยวางจำหน่ายด้วยราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นอีกทางออกในการเปลี่ยนจากตลาดแมสไปสู่ตลาดที่มีกำไรสูงกว่า
อ่านเพิ่มเติม