HomeBrand Move !!เปิด 5 กลยุทธ์ AIS Business 2022 ดึงโครงข่ายอัจฉริยะเจาะตลาดองค์กร – เอสเอ็มอี

เปิด 5 กลยุทธ์ AIS Business 2022 ดึงโครงข่ายอัจฉริยะเจาะตลาดองค์กร – เอสเอ็มอี

แชร์ :

PIC 08 นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS

คุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS

AIS Business พร้อมโตต่อในปี 2022 ล่าสุด เปิด 5 กลยุทธ์หลักที่จะเน้นหนักมากขึ้นในปีนี้ ได้แก่ การนำเครือข่าย 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ, การสร้าง Intelligent Network, การสร้าง Digital Infrastructure และแพลตฟอร์ม, การเป็นผู้ใช้ Data และการสร้างทีมงานที่มีความเป็นมืออาชีพ การพร้อมเล่าเคสการนำ 5G ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจค้าปลีก, โรงงานอุตสาหกรรม, โลจิสติกส์, ภาคการเกษตร และสถานพยาบาลอัจฉริยะ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ก่อนจะไปถึงในส่วนกลยุทธ์ อาจต้องย้อนกลับไปดูผลประกอบการของ AIS Business ในปี 2021 ก่อน โดยพบว่า AIS Business มีรายได้อยู่ที่ 5,291 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2020 กว่า 16% และคิดเป็น 10 – 12% ของรายได้ทั้งหมด

แต่นอกเหนือจากรายได้ที่เติบโตขึ้นแล้ว ในปี 2021 ที่ผ่านมา AIS Business ยังมีเคสที่น่าสนใจในการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจต่าง ๆ ถึง 5 เคสมานำเสนอด้วย ได้แก่ การนำ 5G ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของ The Mall Group เพื่อช่วยให้ประสบการณ์ในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคดีขึ้น หรือกรณีของบริษัท Yawata ที่เดิมเคยต้องลากเส้นให้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมวิ่งตามเส้น ซึ่งถ้าหากจะเปลี่ยนเส้นทางก็ต้องรื้อแล้วตีเส้นใหม่ แต่เมื่อนำเทคโนโลยี 5G ไปปรับใช้ ก็ทำให้สามารถสั่งการหุ่นยนต์ได้อย่างอิสระ ไม่ต้องวิ่งตามเส้นอีกต่อไป

PIC 07 นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับบริษัทด้านประกันภัยอย่าง TQM พัฒนาแพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ที่อิงตามพฤติกรรมการขับรถของลูกค้า และคิดเบี้ยประกันภัยได้แบบ Personalized ซึ่งจะทำให้การคิดเบี้ยประกันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีทราบว่าลูกค้าเป็นคนที่ขับรถในระยะที่ไม่ไกลนัก ค่าเบี้ยอาจไม่ต้องแพงมาก แต่ถ้าลูกค้าเป็นกลุ่มที่ขับรถขึ้นเหนือล่องใต้ ค่าเบี้ยประกันก็อาจต้องปรับให้เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนอีกสองเคสเป็นการทำงานกับโรงพยาบาลวิมุติ เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม Smart Health สำหรับช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลได้ผ่านแอปพลิเคชัน และเคสสุดท้าย คือการทำงานกับ Kubota เพื่อพัฒนาไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)

เปิด 5 กลยุทธ์สร้างการเติบโต

Pic 05 AIS Business กางแผน 2022

สำหรับการเติบโตของ AIS Business ในปี 2022 นั้น คุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS เผยว่าจะมาจาก 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 

การนำ 5G Ecosystem มาสร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจ 

ในจุดนี้คุณธนพงษ์เผยว่า เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้มีตั้งแต่ Private Network, Multi-access EDGE Computing (MEC), Vertical Solutions, Fixed Wireless Access และ Network Slicing มาให้บริการ โดยตัวอย่างการใช้ Network Slicing ที่เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการใช้แบนด์วิธให้กับเน็ตเวิร์กได้ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถใช้งานแบนด์วิธได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นยังจะเน้นไปที่โซลูชันด้าน AR, VR และการใช้ Data จากอุปกรณ์ IoT ร่วมด้วย

และเมื่อพูดถึงในแง่ของการครอบคลุม ผู้บริหารเอไอเอสเผยว่า ปัจจุบัน เอไอเอสมีสถานีฐาน 5G แล้วทั้งสิ้น 19,000 สถานีฐาน ครอบคลุมพื้นที่ 76% ทั่วประเทศ และตั้งเป้าจะขยายให้เป็น 85% ในปีนี้ โดยพื้นที่ที่ 5G ของเอไอเอส ครอบคลุมสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร 99% รองลงมาคือ EEC 90%

ปั้นโครงข่ายสู่ Intelligent Network 

เอไอเอสเผยว่า จะมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการเชื่อมต่อที่ครบวงจรทั้งเครือข่ายใยแก้วนำแสง และเครือข่ายไร้สายสำหรับลูกค้าองค์กร ด้วยการมี Gateway ที่สามารถเชื่อมต่อทั้งแบนด์วิธในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทีมงานที่เชี่ยวชาญ โดยปัจจุบัน เอไอเอสมีเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกทั่วประเทศเป็นระยะทาง 1.6 แสนกิโลเมตร และมีแบนด์วิธระดับ International ที่ส่งผ่านข้อมูลได้มากกว่า 2.75 Tbps  

การสร้าง Digital Infrastructure และแพลตฟอร์ม

ในจุดนี้ คุณธนพงษ์ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่บริษัทมี ได้แก่ AIS IoT, AIS Business Cloud, AIS Cyber Secure และ AIS Business Network โดยมีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกด้วย

การนำ Data มาช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ข้อนี้คุณธนพงษ์เผยว่า ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก และที่ผ่านมามีการร่วมมือกับหลายภาคส่วน เช่น ททท. ที่มีการใช้ Data จากเอไอเอสในการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวว่าเดินทางไปที่ไหนบ้าง และมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง หรือการร่วมมือกับ Plan B ในการใช้ Data เพื่อประเมินทราฟฟิกการผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณที่ติดตั้งป้ายโฆษณา เพื่อให้ Plan B สามารถตั้งราคาค่าโฆษณาของป้ายได้อย่าง Dynamic มากขึ้น

การพัฒนาทีมงานมืออาชีพ

ข้อสุดท้ายเป็นการสร้างทีมงานมืออาชีพที่สามารถส่งมอบบริการในสายงาน ICT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคุณธนพงษ์เผยว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มในสายงานคลาวด์, IoT และ CyberSecurity เพิ่มอีกมากกว่า 100 ตำแหน่ง รวมถึงการมี ซีเอส ล็อกซอินโฟ หรือ CSL เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ทำให้ AIS Business สามารถให้บริการได้ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ประเมิน ติดตั้ง บริหารโครงการ และบริการหลังการขายได้นั่นเอง

ตอบโจทย์ SME ด้วย 4 โซลูชันและ 3 การซัพพอร์ท

ais sme 7s

นอกจากในส่วนขององค์กรขนาดใหญ่ ในส่วนของ SME ทางผู้บริหาร AIS Business เผยว่ามีการเตรียม 4 โซลูชัน และ 3 การสนับสนุนเอาไว้สำหรับธุรกิจ SME ด้วย (AIS SME 7S) ได้แก่

  • 4 SME Solutions
    • SME Digital Marketing Services
    • SME Mobile Services
    • SME Internet Services
    • SME IT & Digital Solutions
  • 3 SME Supports
    • SME Special Privileges
    • SME Strategic Partnerships
    • SME Full e-Services

จุดที่น่าสนใจอยู่ที่แผนการเปิดตัว SaaS (Software as a Service) Marketplace ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ SME สามารถเข้าใช้บริการ – เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้โดยตรงจากแพลตฟอร์มนั่นเอง

Pic 03 AIS Business กางแผน 2022

ความท้าทายเพิ่มขึ้นทุกปี

คุณธนพงษ์กล่าวทิ้งท้ายถึงความท้าทายในปี 2022 ว่า มีสองเรื่อง เรื่องแรกมาจากตัว AIS Business เองที่ยังสเกลองค์กรได้ไม่เร็วพอกับโอกาสที่บริษัทมองเห็น และนั่นทำให้ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าว่าจะขยายทีมงานเพิ่มขึ้น 3 เท่า

ส่วนเรื่องที่สองมาจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ปัจจุบันมีความหลากหลายมาก และต้องใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกัน โดยลูกค้ากลุ่มองค์กรอาจเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมสูง แต่เขาเปลี่ยนตัวเองยาก ขณะที่ลูกค้ากลุ่ม SME นั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่เขาก็ไม่มีกำลังมากพอจะใช้จ่าย  หรือลูกค้ากลุ่ม Laggard หรือกลุ่มที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน บริษัทก็ต้องหาวิธีกระตุ้น และจัดเทรนนิ่งเพื่อให้่ธุรกิจกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายของ AIS Business นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดย 3 กลุ่มหลักคือ ธุรกิจค้าปลีก, Transportation และภาคการผลิต (Manufacturing)


แชร์ :

You may also like