“กลุ่มเซ็นทรัล” เริ่มเข้ามาบุกตลาดค้าปลีก Home Improvement และตกแต่งบ้านในปี 2544 ภายใต้แบรนด์ “โฮมเวิร์ค” (HomeWorks) แต่ทว่ากลับ “ไม่เวิร์ค” เพราะด้วยการแข่งขันที่มีคู่แข่งแข็งแกร่งอย่าง “โฮมโปร” (HomePro) ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่าง บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ บมจ. ควอลิตี้เฮ้าส์ ทำตลาดมาก่อนตั้งแต่ปี 2538
อย่างไรก็ตามเพื่อปักธงในตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้านให้สำเร็จ “เซ็นทรัล” ได้ศึกษาตลาดใหม่ และเห็นช่องว่างตลาดในเวลานั้น ที่ยังมีโอกาสให้เข้าไปบุกตลาด คือ ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างกลุ่ม Hardline เน้นเจาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลาง – รายย่อย จึงได้ปลุกปั้นแบรนด์ “ไทวัสดุ” (Thai Watsadu) เปิดสาขาแรกที่บางบัวทองในปี 2553 ให้บริการรูปแบบ Open Air ชูจุดเด่นเป็นศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างครบวงจร ในราคาคุ้มค่า โดยมีฐานลูกค้าตั้งแต่ผู้รับเหมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ไปจนถึงเจ้าของบ้าน
ถึงวันนี้ “ไทวัสดุ” กลายเป็นแบรนด์หลักของกลุ่มธุรกิจ Hardline ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่นไปแล้ว ขณะที่แบรนด์ “โฮมเวิร์ค” ได้รีแบรนด์เป็น “บ้านแอนด์บียอนด์” (Baan&Beyond) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเชนค้าปลีก Home Improvement ที่เซ็นทรัลได้เปิดตัวในปี 2556 และล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ “บ้านแอนด์บียอนด์” ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บีแอนด์บี โฮม” (BnB Home) รวมทั้งแตกแบรนด์ใหม่ ไปยัง Category ร้านวาไรตี้ สโตร์ ภายใต้แบรนด์ “โก! ว้าว” (go! Wow) จำหน่ายสินค้าจิปาถะ
สำหรับแผนในปี 2565 “บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด” ในเครือเซ็นทรัล รีเทล สานต่อยุทธศาสตร์ CRC Retailligence ภายใต้วิสัยทัศน์การขึ้นเป็นผู้นำค้าปลีก Omnichannel ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านอย่างครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการทุ่มงบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท
กางพอร์ตโฟลิโอ จาก “ไทวัสดุ” ถึง “go! WOW” เซ็นทรัลชู 3 จุดแข็งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ในช่วง 12 ปีนี้ “บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด” เดินหน้าขยายธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และสินค้าตกแต่งบ้าน ภายใต้เชนต่างๆ คือ
– ปี 2553 เปิดตัว “ไทวัสดุ” สาขาแรกที่บางบัวทอง ถึงปัจจุบันมี 59 สาขา
– ปี 2555 เปิดตัว “บ้านแอนด์บียอนด์”
โดยแบ่ง positioning ชัดเจนคือ “ไทวัสดุ” เป็น Hard DIY ส่วน “บ้านแอนด์บียอนด์” เป็น Soft DIY ซึ่งในเวลาต่อมา “ซีอาร์ซี ไทวัสดุ” ได้รีแบรนด์ “โฮมเวิร์ค” เป็นเชน “บ้านแอนด์บียอนด์” และล่าสุดได้เปลี่ยนเป็น “บีแอนด์บี โฮม” (BnB Home) ปัจจุบันมี 6 สาขา
– ปี 2557 ได้สร้าง Distribution Center และทำระบบสมาชิกของตัวเอง โดยแยกจากระบบสมาชิกของเซ็นทรัล เนื่องจากชื่อบริษัทแม่คือ “เซ็นทรัล” มีภาพลักษณ์ของความหรูหรา-พรีเมียม และกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในการทำตลาด และการขาย ไทวัสดุจึงแยกระบบสมาชิกออกมาทำเอง โดยสามารถสร้างฐานสมาชิกได้ 1 ล้านราย และในปีเดียวกันนี้เอง ไทวัสดุขยายสาขาเป็น 40 สาขาทั่วประเทศ
– ปี 2559 หลังจากไทวัสดุมีความแข็งแกร่งด้านสาขาแล้ว จึงได้ควบรวมระบบสมาชิกไทวัสดุ กับ The 1 เข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ระบบสะสมพอยท์ และใช้คะแนนสามารถใช้ด้วยกันได้
– ปี 2561 เป็นปีที่ “ซีอาร์ซี ไทวัสดุ” สร้าง New High ยอดขายแตะ 20,000 ล้านบาท และไทวัสดุมี 45 สาขา ขณะที่บีแอนด์บี โฮม (หรือบ้านแอนด์บียอนด์ในขณะนั้น) มี 6 สาขา
ในปีเดียวกันนี้ นอกจากธุรกิจที่เป็น Cash Cow แล้ว “ซีอาร์ซี ไทวัสดุ” ได้เริ่มขยาย 2 ธุรกิจใหม่ คือ
- “วีฟิกซ์” (V Fix) บริการช่างมืออาชีพให้กับลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวก และส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง – ของตกแต่งบ้านให้เป็นครบจบในทีเดียว
- “ออโต้วัน” (Auto 1) ศูนย์บริการรถยนต์แบบฟาสต์ฟิต (Fast Fit) รองรับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไทย และต่อยอดจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ไทวัสดุ เนื่องจากโดยพฤติกรรมลูกค้าไทวัสดุ จะขับรถยนต์มาจอดเพื่อซื้อสินค้า ประกอบกับสาขาต่างๆ ของไทวัสดุ ยังมีพื้นที่ว่างอยู่ จึงได้ใช้พื้นที่ว่างที่มีอยู่แล้ว มาเปิดศูนย์บริการรถยนต์ ทำให้ลูกค้าสามารถนำรถมาให้ Auto 1 ตรวจเช็ค-ซ่อมบำรุงรถยนต์ในระหว่างที่ลูกค้าซื้อสินค้า
– ปี 2562 พัฒนาฟอร์แมต “ไทวัสดุ” ขยายย่อม เพื่อเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น โดยวางขายสินค้าที่เป็นความต้องการของชุมชนนั้นๆ
– ปี 2563 พัฒนาฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซมากขึ้น รับมือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ร้านสาขาในเครือต้องปิดให้บริการชั่วคราว จึงต้องหันมาให้บริการผ่านออนไลน์เต็มรูปแบบ
– ปี 2564 เปิดตัวโมเดลใหม่ คือ Hybrid Store ระหว่างไทวัสดุ กับบีแอนด์บี โฮม, ขยายสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้กับกลุ่มซีอาร์ซี ไทวัสดุ ด้วยการรุกตลาดร้านวาไรตี้ สโตร์ “go! WOW” ตอบโจทย์ซื้อง่าย ขายคล่อง ในราคาเริ่มต้น 5 บาท ทำให้โดยเฉลี่ย Ticket Size ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอยู่ที่กว่า 100 บาทต่อบิล
“ปี 2544 เซ็นทรับเปิดโฮมเวิร์ค เป็นการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกซ่อมแซม–ปรับปรุง–ตกแต่งบ้าน ขณะที่เมื่อผมเข้ามาดูแลกลุ่มธุรกิจนี้ ได้ศึกษาตลาด พบว่าเซ็นทรัลกรุ๊ป ทำธุรกิจค้าปลีกมากมาย แต่ยังมีตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่ยังไม่ได้ทำ จึงเป็นที่มาของการเปิดไทวัสดุในปี 2553
เรารู้ว่าการแข่งขันในตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้าน ค่อนข้างยาก เพราะคู่แข่งแข็งแกร่ง แต่สิ่งที่เซ็นทรัลเก่งคือ 1. เซ็นทรัลกรุ๊ป มีมืออาชีพในธุรกิจค้าปลีกเยอะ, 2. เรามี Financial Resource ทำให้สามารถลงทุนได้ และ 3. เราศึกษาแล้วเห็นว่าตลาดนี้ยังมีช่องว่าง ถ้าเราทำเป็น เราทำได้ เราจะคว้าโอกาสนี้” คุณสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เล่าถึงจุดแข็งของการบุกตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งบ้านของกลุ่มเซ็นทรัล
COVID-19 ดันธุรกิจเกี่ยวกับบ้านโต
ในขณะที่สถานการณ์ COVID-19 สร้างผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการบิน, ร้านอาหาร, ท่องเที่ยว แต่อีกมุมหนึ่ง กลับมีผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจเกี่ยวกับบ้าน ทั้งโครงการบ้านแนวราบ ยังโต เพราะคนอยากได้บ้านที่มีพื้นที่ มีบริเวณ, การซ่อมแซมปรับปรุง – ตกแต่งที่อยู่อาศัย, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี, ธุรกิจโรงแรมใกล้เมืองใหญ่ เช่น หัวหิน, เขาใหญ่ เพราะเมื่อ Work From Home คนในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง สามารถเดินทางไปพักระยะยาว เพื่อทำงานและพักผ่อนในต่างจังหวัด
“เมื่อ COVID-19 ทำให้คนต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทั้งคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็กลับบ้านเกิดของตัวเอง เมื่ออยู่บ้าน ทำให้อยากปรับปรุง ซ่อมแซม และตกแต่งบ้าน และห้องต่างๆ ในบ้านให้ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น ทำให้ธุรกิจไทวัสดุ และบีแอนด์บี โฮมได้ประโยชน์ดังกล่าว”
ทุ่ม 7,000 ล้านบาท ขยายสาขาไทวัสดุ – โมเดล Hybrid Store – go! WOW พร้อมลุย Omnichannel เต็มรูปแบบ
สำหรับปี 2565 “ซีอาร์ซี ไทวัสดุ” มุ่งเป้าการเติบโตของธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำค้าปลีก Omnichannel (ออมนิชาแนล) ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้าง และสินค้าตกแต่งบ้านอย่างครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย พร้อมสานต่อยุทธศาสตร์ CRC Retailligence สร้างอัตราการเติบโตของธุรกิจ (CAGR) ในระยะ 10 ปี (2560-2569)
โดยใน 5 ปี แรก อัตราการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 12% ขณะที่ 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) คาดการณ์อัตราการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 18% และตั้งเป้าผลกำไรเพิ่มขึ้น 30% ผ่านการขับเคลื่อนธุรกิจใน 5 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย
1. Thriving เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ รองรับการเติบโตในอนาคต พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำค้าปลีก Omnichannel ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้าง และสินค้าตกแต่งบ้านอย่างครบวงจร ด้วยงบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ผ่านกุญแจสำคัญ (Multi-Key Drivers) เพื่อการขยายสาขาใหม่ ปรับปรุงสาขาเดิม การรีแบรนด์ และพัฒนารูปแบบบริการ ในทุกแบรนด์ (Multi-Brands) ครอบคลุมทั้ง
– ไทวัสดุ : ปี 2565 ตั้งเป้ามี 70 สาขา เพิ่มขึ้นจาก 59 สาขาในปี 2564
– บีเอ็นบีโฮม : ปี 2565 ตั้งเป้ามี 13 สาขา เพิ่มขึ้นจาก 6 สาขาในปี 2564
– ออโต้วัน : ปี 2565 ตั้งเป้ามี 30 สาขา เพิ่มขึ้นจาก 12 สาขาในปี 2564
– โก! ว้าว : ปี 2565 ตั้งเป้ามี 70 สาขา เพิ่มขึ้นจาก 15 สาขาในปี 2564
รวมทั้งหลากหลายในทุกฟอร์แมต (Multi-Formats) ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ (Multi-Channels : Chat & Shop, Call & Shop, e-ordering, Direct Sales) ขยายประเภทและชนิดของสินค้าให้หลากหลาย (Multi-Ranges) ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค (Multi-Segments)
2. Seamless Omnichannel Shopping Experience
ความสำเร็จช่องทางออนไลน์ในปี 2564
– เติบโตขึ้นกว่า 400%
– รายการสินค้ากว่า 70,000 รายการ
– มียอดการเยี่ยมชมกว่า 17 ล้านครั้งต่อเดือน
– มีลูกค้าจำนวน 2 ล้านรายต่อเดือน
– สร้างยอดขายกว่า 60,000 ออเดอร์ต่อเดือน
สำหรับแผน Omnichannel ของซีอาร์ซี ไทวัสดุในปี 2565 พร้อมส่งต่อประสบการณ์การช้อปปิ้งผ่านช่องทาง Omnichannel อย่างไร้รอยต่อ
– ตั้งเป้าการเติบโตช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 150%
– ยกระดับแพลตฟอร์ม ด้วยการเปิดตัว Mobile Application “ไทวัสดุ” ในเดือนพฤษภาคม และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปฯ บีเอ็นบี โฮม และออโต้วัน ที่จะพร้อมเปิดตัวในอนาคตอันใกล้
– พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ของเว็บไซต์ อัปเกรดระบบโครงสร้าง IT ระบบ Order & Transportation Management System
3. Supply Chain & Logistics Expansion
– ปรับปรุงและขยายคลังสินค้าแห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 160,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นกว่า 120% เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า
– พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลงทุนขยาย fleet รถบรรทุกกว่า 25% และเริ่มทดลองวิ่งรถบรรทุก EV Charge พลังสะอาด ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 30 คัน ในปี 2566 เพื่อลดต้นทุนขนส่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 200 ต้นต่อปี
4. Driving Sustainability การขับเคลื่อนธุรกิจที่ยั่งยืนที่เคียงข้างในทุกมิติ ทั้งพนักงาน คู่ค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values) ตามนโยบายของเซ็นทรัลทำ โดยมุ่งเน้นใน 3 มิติหลัก ได้แก่
- People Centric ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคน สร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพิ่มโอกาสสร้างงานและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
- Sharing Society ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคมผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการ “รวมหัวใจให้บ้านเกิด” ที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ต่อชุมชนของตนเอง โดยการเข้าไปช่วยเหลือปรับปรุงสถานที่ และ มอบอุปกรณ์ให้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน สร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ รวมไปถึงการสนับสนุนและช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤติ
- Environmental Oriented สร้างการเติบโตของธุรกิจที่เคียงข้างกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับองค์การป่ารักษ์น้ำแห่งประเทศไทยเป็นเวลากว่า 4 ปี มอบฝายจำนวน 1,130 แห่ง ในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ ช่วยบรรเทาวิกฤติของป่าต้นน้ำคืนความสมดุลให้แก่ธรรมชาติ พร้อมกันนี้ ขานรับนโยบาย BCG อันเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของประเทศ เริ่มติดตั้ง Solar Roof ตั้งเป้าทุกสาขาในปี 2566 ช่วยลดภาวะโลกร้อน และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 2.5 ล้านต้น
5. New Market Penetration การลงทุนขยายธุรกิจใหม่
– กลุ่มฟาสต์ฟิตของแบรนด์ออโต้วัน เป็นผู้นำบริการตรวจสภาพรถฟรี 38 รายการ เช่น ฟรีเติมลมไนโตรเจน ฟรีปะยาง เร่งเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นปี 2565 จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 30 สาขา พร้อมเปิดตัว Super App AUTO1 และ Line Connect (Live Chat) ให้บริการสั่งซื้อ จองคิวรับบริการ การแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดระยะ รวมถึงแจ้งเหตุฉุกเฉิน
– โก! ว้าว ซึ่งเป็นธุรกิจน้องใหม่ ภายใต้แนวคิด ของใช้ราคาเริ่มต้น 5 บาท ตอบรับกระแสสินค้า Home Convenience ครอบคลุมสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใช้ในชีวิตประจำวันกว่า 20,000 รายการ เร่งขยายสาขาโดยสิ้นปี 2565 จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 70 สาขา โดยเน้นเปิดสาขาในโลเคชั่นที่เป็นแหล่งชุมชน
- อ่านเพิ่มเติม: “เซ็นทรัล” ลุยร้านสินค้าจิปาถะ “go! WOW” ราคาเริ่มต้น 5 บาท ท้าชน “MR.D.I.Y.” – ใช้จิตวิทยาผู้บริโภค กระตุ้นให้ซื้อ