Deloitte และ Mambu ผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนแพลตฟอร์มคลาวด์ (Cloud Banking Platform) ได้เผย 5 กลยุทธ์จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่บรรดาร้านค้า รวมถึงผู้ประกอบการและธุรกิจฟินเทคควรให้ความสำคัญและนำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (BNPL) สู่ความสำเร็จ โดยข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานล่าสุด ที่เปิดเผยการคาดการณ์ทิศทางตลาดของภาคส่วนธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับธนาคารและผู้ค้าปลีก
รายงาน The ‘Deloitte and Mambu Guide to BNPL’ ได้ระบุ 5 กลยุทธ์จิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจที่กำลังพัฒนาโซลูชันการให้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (BNPL) ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด โดยประกอบด้วย:
– การสร้างคุณค่าของบริการ เพิ่มมูลค่าด้วยการมอบความแตกต่างให้กับลูกค้า เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของร้านค้าและลูกค้า จากนั้นนำมาพัฒนาเป็นโมเดลการให้บริการ เพื่อช่วยร้านค้าและลูกค้าแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
– เทคโนโลยีและข้อมูล – มองหาพาร์ทเนอร์ชั้นนำในอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุดเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างเว็บหรือแอปพลิเคชัน นำไปสู่การวิเคราะห์และตัดสินใจที่ดีที่สุด รวมถึงการพัฒนาโซลูชันแห่งโลกอนาคต ที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม
– การบริหารจัดการความเสี่ยงและการปฏิบัติตามแนวทางเพื่อพัฒนาองค์กร – ออกแบบกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรที่จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งในด้านการตรวจสอบและบริหารจัดการการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร นำไปสู่การกำหนดความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ (Risk Appetite) พร้อมทั้งสร้างโมเดลและกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงเหล่านั้น
– ทักษะและความสามารถ – ลงทุนเฟ้นหาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน ในการเข้ามาดูแลรับผิดชอบส่วนงานที่มีความสำคัญ เพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่ง พร้อมสร้างแบรนด์และความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการของตน
– กลยุทธ์การปล่อยสินค้า/บริการสู่ตลาด– ลดระยะเวลาในการปล่อยสินค้า/บริการสู่ตลาดโดยการรวมสินค้า/บริการที่มีอยู่ใน Portfolio ในการสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งต้น (Minimum Viable Product หรือ MVP) ด้วยฟีเจอร์น้อยที่สุดเพื่อทดสอบตลาด ก่อนพัฒนาเป็นสินค้าที่ความสมบูรณ์ออกสู่ตลาดต่อไป
รายงานนี้ถูกจัดทำและเปิดเผยท่ามกลางเทรนด์บริการการใช้จ่ายแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 มูลค่าตลาดของบริการนี้จะพุ่งสูงถึง 3.98 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 131 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.7 ของอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR)
รายงานระบุว่า หนึ่งในสามปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการ BNPL เติบโตอย่างต่อเนื่อง คือความต้องการของผู้บริโภคในด้านความสะดวกและราคาที่เข้าถึงได้ โดยข้อมูลล่าสุดจาก Deloitte ระบุว่า ผู้บริโภคกว่าครึ่ง (ร้อยละ 56) กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่เลือกใช้บริการ BNPL นั่นคือสามารถทดลองใช้สินค้าได้ก่อนชำระเงิน
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้บริการ BNPL เติบโตคือการที่ร้านค้านำบริการนี้มาใช้ เนื่องจากคำนึงถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับอีกมากมาย อาทิ ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ปริมาณออเดอร์ที่ได้รับโดยเฉลี่ย และการดึงลูกค้าให้มาใช้บริการได้มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 โดยข้อมูลจาก Worldpay บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินที่มีชื่อเสียงระดับโลกระบุว่า บริการ BNPL ถือครองสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของการให้บริการประเภท e-commerce ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 และคาดว่าจะถือครองสัดส่วนถึงร้อยละ 5.3 ในปี พ.ศ. 2568
นาย Pham Quang Minh ผู้จัดการทั่วไปของ Mambu ประเทศไทยกล่าวถึงตลาดการให้บริการ BNPL ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีว่า “บริการ BNPL ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เราเห็นการแข่งขันค่อนข้างดุเดือดในกลุ่มผู้ให้บริการที่มีอยู่มากมาย ทั้งแบรนด์ระดับโลก รวมไปถึงธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทย ทำให้ส่วนแบ่งตลาดถูกกระจายไปยังผู้ให้บริการที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่ตลาดโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานที่จัดทำโดย Research and Markets[1] มีการคาดการณ์ว่าในระยะกลางถึงระยะยาว ภาคส่วนการเติบโตของบริการ BNPL จะอยู่ในช่วงขาขึ้นและเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง การนำบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” มาปรับใช้โดยผู้ให้บริการจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จนถึงปี 2571 การเติบโตคิดเป็นร้อยละ 44.8 ของอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ทั้งนี้คาดการณ์ว่ามูลค่าขายและซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านบริการ BNPL ทั้งหมดในประเทศไทยจะพุ่งสูงขึ้นจาก 25,000 ล้านบาท หรือ 893.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2564 ไปเป็น 521,994 ล้านบาท หรือ 15,818.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2571”
ด้านนาย João Caldeira Partner ของ Deloitte กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันบริการ BNPL กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างยอดขายสำหรับธุรกิจค้าปลีกและผู้ให้บริการ e-commerce และสำหรับร้านค้าที่ยังไม่ตัดสินใจนำบริการ BNPL มาใช้ พวกเขากำลังมองหาโซลูชันทางการเงิน ที่จะช่วยออกแบบบริการ BNPL ที่มีความรวดเร็ว มีราคาต้นทุนที่ต่ำ สิ่งสำคัญคือบริการ BNPL จะต้องช่วยพวกเขาสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ และช่วยเพิ่มช่องทางการชำระเงินแบบแบ่งจ่ายที่ไร้รอยต่อได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจให้กับลูกค้า และเป็นหมากตัวสำคัญ ที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้”
ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.mambu.com/insights/reports/the-deloitte-and-mambu-guide-to-buy-now-pay-later
[1] https://www.globenewswire.com/news-release/2022/02/15/2385023/28124/en/Thailand-Buy-Now-Pay-Later-Market-Report-2022-BNPL-Payments-are-Expected-to-Grow-by-92-1-to-Reach-1715-2-Million-in-2022-Forecast-to-2028.html