อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ถือหุ้นใหญ่ 9.2% ของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter) เสนอให้มีการใช้เหรียญ DOGE ในการจ่ายเงินค่าสมาชิก Twitter Blue เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งแน่นอนว่า โลกคริปโตพอได้สัญญาณเช่นนี้ เหรียญ DOGE ก็ราคาพุ่งขึ้นทันที 8.45% ตามคาด
Twitter Blue คืออะไร
Twitter Blue คือบริการ Subscription บนทวิตเตอร์ที่เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา ให้บริการเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยคิดค่าบริการแตกต่างกันไปตามนโยบายของประเทศต่าง ๆ
สิทธิพิเศษของผู้ใช้ Twitter Blue คือ จะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์พิเศษบางอย่างได้ เช่น ปรับแต่งธีมของแอปได้, การ Undo ทวีต, การอัปโหลดวิดีโอนาน 10 นาที และสามารถแก้ไขข้อความที่จะทวีตได้ รวมถึงสามารถเข้าใช้ฟีเจอร์ที่พัฒนาขึ้นมาก่อนใครของ Twitter Labs ก่อนที่จะเปิดให้ใช้เป็นการทั่วไป
นอกจากนั้นยังอาจมีบริการช่วยเหลือให้กับคนที่สมัครสมาชิก เช่น วิธีการเข้าถึงบัญชี หรือการตั้งค่า รวมถึงช่วยแก้ปัญหาในการลงทะเบียน และปัญหาอื่น ๆ ให้กับสมาชิกด้วย แต่ Twitter บอกด้วยว่า คนที่สมัครจะไม่ได้ถูกมองว่าเหนือกว่าผู้ใช้งานรายอื่น ๆ ทุกคนจะยังได้รับบริการเท่าเทียมกัน
Crypto Spam bot ต้นเหตุให้อีลอน มัสก์ต้องจัดการ?
ส่วนสาเหตุที่อีลอน มัสก์ ต้องลงมาสนใจประเด็นนี้อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้เขาเคยบอกว่า จะลงมาปรับปรุงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์เสียใหม่ โดยบอกว่าสิ่งที่กวนใจที่สุดของทวิตเตอร์ก็คือเรื่อง “Crypto Spam Bot” หรือบ็อทที่คอยมอนิเตอร์ทวีตต่าง ๆ บนทวิตเตอร์ และหากพบคำว่า “Crypto” (หรือคำศัพท์อื่น ๆ ที่คนในวงการคริปโตให้ความสนใจสูงเช่น MetaMask, TrustWallet) ขึ้นมา ก็จะแปะลิงค์อโคจร พร้อมล่อลวงเราไปสู่เส้นทางสายมืดนั่นเอง
ทั้งนี้ กรณีของ Crypto Spam Bot เคยสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้งานมาแล้วนับไม่ถ้วน และคนที่ตกเป็นเหยื่อมักจะเป็นคนรุ่นใหม่ และบางส่วนก็เป็นแฟนคลับศิลปินดัง เช่น กรณีของแฟนคลับวง BTS ในอินเดียที่ถูกล่อลวงไปเป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเรากดลิงค์ที่บ็อทส่งมาโดยไม่ตั้งใจก็คือ อาจถูกหลอกขโมยข้อมูลส่วนตัว หรือไม่ก็ถูกล้วงข้อมูลเกี่ยวกับกระเป๋าเงินดิจิทัล และบางคนอาจถูกขโมยแอคเคาน์ และเรียกค่าไถ่ได้
ทั้งนี้ ความเสียหายในอินเดียที่เกิดขึ้นในวงกว้างนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแอคเคาน์ของอินฟลูเอนเซอร์ถูกแฮคไปด้วย และมิจฉาชีพมีการใช้แอคเคาน์ของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นล่อลวงคนให้ไปติดตามแอคเคาน์ปลอมเพื่อหลอกขโมยข้อมูลต่ออีกทอดนั่นเอง
Twitter แก้ปัญหานี้อย่างไรในอดีต
ที่ผ่านมา การ Spam บน Twitter เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ตามนโยบายของแพลตฟอร์มที่บอกว่า อยากให้ตนเองเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างสนิทใจ และน่าเชื่อถือ ขณะที่ในส่วนของบ็อทนั้น Twitter ยอมรับให้มีได้ แต่เป็นบ็อทสายขาวเท่านั้น เช่น บ็อทรายงานสภาพอากาศ โดยมีการพัฒนาฟีเจอร์อีกอันหนึ่ง เพื่อแปะหน้าแอคเคาน์ให้ว่า แอคเคาน์นี้ดูแลโดยบ็อท (Twitter ใช้คำว่า Automated แปะอยู่ใต้แอคเคาน์ เพื่อให้ผู้ใช้งานแยกแยะได้ดีขึ้น)
ความยากของปัญหานี้ก็คือ งานวิจัยจาก Carnegie Mellon University ระบุว่า ในปี 2020 ข้อมูลที่เผยแพร่เกี่ยวกับไวรัส Covid-19 บน Twitter นั้น เกือบครึ่งเป็นการเผยแพร่โดยใช้บ็อท ขณะที่ The Economic Times ซึ่งมีการรายงานความเสียหายของการล่อลวงแฟนคลับวง BTS ในอินเดียระบุว่า Twitter แก้ปัญหาการล่อลวงของบ็อท ด้วยการบล็อกแอคเคาน์นั้น ๆ ให้ เมื่อมีผู้รีพอร์ต
Twitter Blue อาจเพิ่มความน่าเชื่อถือ?
ไอเดียของอีลอน มัสก์ในการนำ Twitter Blue เข้ามาช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแอคเคาน์บน Twitter จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ (เขาทวีตว่า คนที่สมัคร Twitter Blue ควรได้รับเครื่องหมายว่ามีความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งเครื่องหมายนี้ควรแตกต่างจากเครื่องหมายที่ Twitter ให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียง ฯลฯ ) แต่แน่นอนว่า ก็ต้องมาพร้อมกฎอื่น ๆ ด้วย เช่น ถ้าหากใช้ไป spam คนอื่นก็ต้องถูกยกเลิกโดยไม่ได้รับเงินคืน ฯลฯ
Everyone who signs up for Twitter Blue (ie pays $3/month) should get an authentication checkmark
— Elon Musk (@elonmusk) April 10, 2022
งานนี้จึงต้องมาดูกันว่า เจ้าพ่อสายเทคโนโลยี ที่มีชื่อพ่วงว่าเป็นซีอีโอ Tesla, SpaceX ทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทวิตเตอร์ในเวลานี้อย่างอีลอน มัสก์ จะสามารถแก้ไขปัญหาบ็อทที่เขาบอกว่า สุดแสนจะรำคาญใจนี้ได้หรือไม่
ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ เคยประกาศตัวว่า เป็นผู้ถือเหรียญ Bitcoin, Ether, และ Dogecoin ด้วย
ไม่เป็นบอร์ด Twitter
นอกจากประเด็นเรื่องการเข้ามาจัดการ Twitter ในด้านต่าง ๆ แล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอีลอน มัสก์เกี่ยวกับ Twitter ก็คือการไม่เข้าเป็นบอร์ดบริหารของบริษัทดังกล่าว โดยผู้ที่ออกมาเผยถึงเรื่องนี้ก็คือ Parag Agrawal ซีอีโอคนปัจจุบันนั่นเอง
Elon has decided not to join our board. I sent a brief note to the company, sharing with you all here. pic.twitter.com/lfrXACavvk
— Parag Agrawal (@paraga) April 11, 2022