หากก่อนหน้านี้ “เกาะฮ่องกง” เคยเป็นแหล่งที่มหาเศรษฐีชาวจีนใช้เป็นที่เก็บขุมทรัพย์ มาวันนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเจอแหล่งใหม่ขยับไกลออกมาอีกหน่อยแล้ว นั่นก็คือ “สิงคโปร์” โดยมีรายงานว่า การย้ายเงินของมหาเศรษฐีชาวจีนเพื่อมาเปิด “Family Office” ที่สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดกับภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีที่เป็นแหล่งรวมของมหาเศรษฐีใหม่ของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับการเปิดเผยจากบริษัทที่รับบริหารสินทรัพย์ในสิงคโปร์ เช่น Jenga โดยทางบริษัทเผยว่า พวกเขาต้องรับพนักงานเพิ่ม 25% เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวของมหาเศรษฐีจีน และ Iris Xu ผู้ก่อตั้ง Jenga ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เธอมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอมาจากจีน และมาพร้อมทรัพย์สินอย่างน้อย 10 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับตั้ง Family Office
Family Office คืออะไร
สำหรับหลายคนที่อาจไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า Family Office มีคำจำกัดความที่สามารถอ้างอิงได้ดีจาก PwC ประเทศไทย ระบุว่า Family Office (FO) หรือชื่อไทยว่า สำนักงานธุรกิจครอบครัว คือหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลความมั่งคั่งของครอบครัวให้มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ และมีการวางแผนส่งมอบธุรกิจให้แก่ผู้สืบทอด
แต่สิ่งที่มากกว่าเรื่องทรัพย์สินก็คืออินไซต์เรื่องภายในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ลูกค้าของเธอนั้นบอกว่า ในจีนเหมาะจะเป็นที่หาเงินก็จริง แต่สิ่งที่บรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้ชักไม่มั่นใจก็คือ มันเหมาะจะเป็นที่เก็บเงินด้วยหรือไม่ต่างหาก
เศรษฐกิจโต เศรษฐีจีนเพิ่ม แต่ความมั่นใจลดลง?
ไม่น่าแปลกใจที่จีนมีมหาเศรษฐีเกิดใหม่มากมาย เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้คนจีนจำนวนมากมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมบางส่วนก็เข้าไปติดในชาร์ตระดับโลกอย่าง Forbes หรือ Bloomberg ไปแล้วเรียบร้อย
แต่ความไม่มั่นใจที่เกิดขึ้นต่างหากที่ทำให้สถานการณ์นี้ถูกจับตา โดย Ryan Lin ผู้บริหารของบริษัท Bayfront Law ในสิงคโปร์เผยว่า เศรษฐีชาวจีนบางคน ย้ายสินทรัพย์มาไว้ที่เกาะฮ่องกงสักพักแล้ว จนเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในฮ่องกงเมื่อปี 2019 คนเหล่านี้จึงเริ่มมองหาพื้นที่แห่งใหม่ และได้พบกับสิงคโปร์ในที่สุด
Lin กล่าวด้วยว่า เขาเห็นเทรนด์นี้ชัดขึ้นในปี 2021 ที่รัฐบาลจีนลงมาตรวจสอบแพลตฟอร์มด้านการศึกษาอย่างเข้มงวด รวมถึงมีนโยบายที่จะกระจายความมั่งคั่งไปยังคนส่วนใหญ่ มากกว่าจะปล่อยให้บรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวยอู้ฟู่แต่เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งนโยบายที่กล่าวมา เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้กลุ่มมหาเศรษฐจีนเริ่มมองหาพื้นที่แห่งใหม่ที่ปลอดภัยมากขึ้น
สิงคโปร์ไม่จำกัดการเดินทาง
นอกจากนั้น นโยบายจำกัดการเดินทางในช่วง Covid-19 ก็มีส่วนทำให้มหาเศรษฐีชาวจีนให้ความสนใจกับการเปิด Family Office ในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทางสิงคโปร์มีโปรแกรมให้นักลงทุนจากทั่วโลก เพียงนำเงินมาลงทุนในประเทศ อย่างน้อย 2.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ก็จะได้สิทธิ Permanent Residency (การขอมีถิ่นที่อยู่ถาวรโดยชอบด้วยกฎหมาย) แล้ว และนั่นทำให้บรรดาเศรษฐีจีนสามารถใช้พาสปอร์ตสิงคโปร์เดินทางได้อย่างสะดวก ตรงข้ามกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่อาจมีข้อจำกัดด้านการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้สิงคโปร์เป็นที่ต้องตาเศรษฐีจีนก็คือสภาพแวดล้อมของประเทศที่เอื้อให้นักลงทุนไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ของเอเชียได้ง่ายขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ก็มีคนดังของโลกอย่าง Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google มาเปิด Family Office ในสิงคโปร์เช่นกัน
ทั้งนี้ตัวเลขของปี 2020 จากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ระบุว่า มีการตั้ง Family Office อยู่ประมาณ 400 แห่ง แต่หลังจากนั้น ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเพิ่มเติม โดยมีเพียงการคาดการณ์ของบริษัทในประเทศว่า อาจมีการตั้ง Family Office ขึ้นในสิงคโปร์อีกหลายร้อยบริษัท เห็นได้จากบริษัทที่อยู่ในธุรกิจดังกล่าวมีการรับคนเพิ่มจำนวนมาก เช่น บริษัทของ Xu ที่มีพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 25% เพื่อให้บริการกับกลุ่มครอบครัวผู้มีฐานะมั่งคั่งที่ต้องการใช้บริการนั่นเอง