ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) เปิดตัวกรรมการผู้จัดการคนใหม่ “ศิริภา จึงสวัสดิ์” แทนที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ ตั้งเป้าขยายการเติบโตจาก Food Delivery สู่การขายสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการ Pick Up
อาจเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าจับตาของฟู้ดแพนด้า หลังจากเปิดธุรกิจในไทยมาเกิน 10 ปี กับการตั้งผู้บริหารหญิงที่เป็นคนไทย และคร่ำหวอดในธุรกิจสตาร์ทอัพมายาวนานอย่างคุณเฮียง – ศิริภา จึงสวัสดิ์ อดีตผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Uber ที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี
สำหรับการรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ foodpanda ประเทศไทย คุณศิริภาเผยว่า จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารบทบาทของฟู้ดแพนด้าว่ามีอีกหลายฟีเจอร์ นอกเหนือจากบริการ Food Delivery โดยเฉพาะในธุรกิจ Quick Commerce อย่างการสั่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลูกค้าไม่ต้องออกจากบ้านก็สามารถสั่งของจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้ และมองว่าจะทำให้ตัวแอป foodpanda สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้มากขึ้น
“คนรู้จักฟู้ดแพนด้าจากบริการเดลิเวอรี่อาหาร แต่เราจะขยายธุรกิจให้มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของลูกค้า เช่น การขายของกินของใช้ แชมพู ผักสด ก็สั่งได้จากฟู้ดแพนด้า (ผ่าน Pandamart และ foodpanda shops) รวมถึงบริการรับเองที่ร้าน (Pick-up), บริการทานที่ร้าน (Dine-in) และบริการแพ็กเกจสมาชิก pandapro”
- อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Pandamart ที่ Quick Commerce คืออะไร และทำไม Retail Business ถึงเป็นโอกาสใหม่สำหรับ Foodpanda – Brand Buffet
Food Delivery ไทย แข่งอย่างไรให้ชนะ
จากการเปิดเผยของคุณศิริภา ปัจจุบัน ฟู้ดแพนด้ามีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 145,000 ร้านค้า และมีไรเดอร์ 100,000 ราย ลดลงจากเมื่อปลายปี 2021 ที่มีไรเดอร์ 120,000 ราย (อ้างอิงจาก เจาะใจ foodpanda กับ 3 เหตุผล ใช้ “เปาเปา” แพนด้าดิจิทัลเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ลบภาพดราม่า – Brand Buffet)
นอกจากนี้ คุณศิริภายังเผยพฤติกรรมการสั่งอาหารของคนไทยที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านนั่นคือ ประเทศเพื่อนบ้านนิยมสั่งอาหารสำหรับการรับประทานหลาย ๆ คน ขณะที่คนไทยอาจสั่งสำหรับรับประทานคนเดียว ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าว คุณศิริภาเผยว่าการแข่งขันยังอยู่ในช่วง Early-Mid Stage นั่นคือยังไม่มีผู้ใดชนะ หรือครองตลาดได้อย่างเป็นทางการ ทำให้การแข่งขันค่อนข้างดุเดือด
“ในสถานการณ์ดังกล่าว ยังไม่ได้อยู่ในช่วงของการทำกำไร ความท้าทายของฟู้ดแพนด้าในการแข่งขันนี้ก็คือจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้รายได้เพิ่มขึ้น โดยเทคโนโลยีสามารถช่วยเราพัฒนาในแง่ของระยะเวลาในการจัดส่ง รวมถึงการใช้ Data เพื่อนำเสนอสินค้าที่น่าจะถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น วันนี้เราไม่ได้อยากเป็นแค่ฟู้ดเดลิเวอรี่อีกต่อไป เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งซื้อของกินของใช้ของคนไทยด้วย” คุณศิริภากล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ฟู้ดแพนด้าเปิดให้บริการในไทยแล้ว 77 จังหวัด ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย ฟู้ดแพนด้าให้บริการในกว่า 400 เมือง ครอบคลุม 11 ตลาดในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์, ฮ่องกง, ไทย, มาเลเซีย, ปากีสถาน, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, บังกลาเทศ, ลาว, กัมพูชา และเมียนมา