ด้วยความที่ประเทศญี่ปุ่น มักจะประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว, สึนามิ, ไต้ฝุ่น จึงทำให้คนญี่ปุ่น ทั้งรัฐบาล เอกชน และภาคประชาชนมีความตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะระบบแจ้งเตือนภัย, การซ้อมรับมือภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ไปจนถึงภาคประชาชน, แผนอพยพประชาชน, บริษัทเอกชนมีการคิดค้นและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มากมาย เช่น อุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ยังชีพ นวัตกรรมอาหารและน้ำดื่มที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพื่อใช้เวลาเกิดภัยพิบัติ
อย่างบริษัทของญี่ปุ่น “Shin Nihon Entrance” เป็นผู้ผลิตประตู หน้าต่าง และทางเข้าต่างๆ ที่ป้องกันแผ่นดินไหวสำหรับอาคารอพาร์ตเม้นท์ และคอนโดมิเนียม ล่าสุดได้พัฒนา “Tasukaru Door” หมายถึง “ประตูช่วยชีวิต” หรือ “Lifesaver Door” เพราะเป็นเหมือนประตูหนีภัยฉุกเฉิน โดยออกแบบเป็นประตู 2 ชั้นในลักษณะประตูซ้อนประตู
ที่มาของการออกแบบและพัฒนา “ประตูช่วยชีวิต” มาจากการเล็งเห็นว่าในยามที่เกิดภัยพิบัติ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง โดยแรงสั่นสะเทือน ทำให้ตัวอาคาร และองค์ประกอบภายในอาคารเกิดการขยับ อาจส่งผลให้ประตู เช่น วงกบ, ขอบประตู บิดงอ หรือผิดรูปทรง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยู่ในห้องนั้นๆ ไม่สามารถออกจากห้องได้
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้บริษัท “Shin Nihon Entrance” ได้พัฒนาประตูช่วยชีวิต โดยใน 1 ประตู ประกอบด้วย 2 บานประตู คือ
– ประตูบานใหญ่ ใช้เปิดเข้า-ออกในชีวิตประจำวันทั่วไป
– ประตูบานเล็ก ซ้อนบนบานใหญ่ ประกอบด้วยบานประตู, มุ้งลวด และระบบล็อคทั้งด้านใน-ด้านนอก ซึ่งด้วยความที่ประตูบานเล็กลอยอยู่เหนือพื้น และอยู่บนบานใหญ่อีกที จึงลดโอกาสการเสียหาย ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ เช่น แผ่นดินไหว หรือเหตุฉุกเฉินอื่นที่ทำให้ประตูบานใหญ่ใช้งานไม่ได้ ผู้ที่ติดอยู่ในห้องนั้น ก็สามารถใช้ประตูบานเล็กนี้ เปิดออกจากห้องได้
ไม่เพียงแต่ใช้เป็นประตูหนีภัยเท่านั้น “Tasukaru Door” หรือ “ประตูช่วยชีวิต” ยังถูกออกแบบให้เป็นประตูรับลมจากนอกห้องได้เช่นกัน โดยในสถานการณ์ปกติ ผู้ที่พักอาศัยสามารถเปิดประตูบานเล็กนี้ เพื่อรับลมจากข้างนอก เพื่อทำให้อากาศภายในห้องหมุนเวียน
หลังจากเปิดตัวประตูช่วยชีวิตนี้ บริษัท “Shin Nihon Entrance” มีออเดอร์จากลูกค้าให้เข้าไปติดตั้งประตูนี้ โดยติดตั้งให้กับคอนโดมิเนียมจำนวน 290 ยูนิตในจังหวัดไซตามะ ซึ่งน่าจับตามองว่าในอนาคตการติดตั้งประตู 2 ชั้นรูปแบบนี้ อาจกลายเป็นประตูมาตรฐานที่ใช้กันตามอาคารบ้านเรือนในประเทศญี่ปุ่น เพราะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้พักอาศัยเป็นหลัก