ในขณะที่ธุรกิจและการตลาด มุ่งโฟกัสไปยังผู้บริโภค Generation Y หรือ Gen Millennials คนที่เกิดปี 1980 – 1994 และ Generation Z คนที่เกิดปี 1995 – 2009 เพราะเป็นผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งเป็นฐานผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ตามยังมีผู้บริโภคอีก Generation ที่ต่อไปจะมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเทรนด์ การบริโภค ไลฟ์สไตล์ และการเปลี่ยนแปลง Landscape ธุรกิจต่างๆ นั่นคือ “Generation Alpha” คนที่เกิดปี 2010 – 2024
ทำความรู้จัก “Gen Alpha” ผู้บริโภคที่เกิดมาพร้อมกับ iPad รุ่นแรก และการบูมของเทคโนโลยี AI – Cypto
การเปิดตัว “iPad” แท็บเลตรุ่นแรกของ Apple เกิดขึ้นในปี 2010 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ “Generation Alpha” ถือกำเนิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า “Gen Alpha” เกิดและเติบโตมาในยุคเทคโนโลยี และสภาวะของสังคม – โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น
– 5G และกำลังเข้าสู่ยุค 6G
– การบูมของเทคโนโลยี AI
– เทคโนโลยี Voice Assistants
– เทคโนโลยี VR, AR
– การเกิดขึ้นของ Super App
– การเติบโตของ Video Streaming และ Music Streaming
– การสั่งอาหารผ่าน Food Delivery และช้อปปิ้งผ่านอีคอมเมิร์ซ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน
– การพัฒนา FinTech
– การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี Blockchain และ Cyptocurreny ทำให้ขับเคลื่อนโลกการเงินเข้าสู่ยุค Decentralized Finance (DeFi)
– การเกิดขึ้นของ Metaverse หรือโลกเสมือนจริง คู่ขนานไปกับโลกจริง
– ภาวะวิกฤต Climate Change ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
– Diversity, Equality, Inclusion, Sustainability คือสิ่งที่ Gen Alpha ให้ความสำคัญ
ปัจจุบันโดยเฉลี่ยในทุกๆ สัปดาห์จะมี Gen Alpha เกิดมาบนโลกใบนี้กว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์กันว่าภายในปี 2025 ทั่วโลกจะมี Gen Alpha เกือบ 2,000 ล้านคน
จะเห็นได้ว่าในอนาคต Gen Alpha จะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางเทรนด์ การบริโภค ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี และภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ
อย่างใน “ธุรกิจค้าปลีก” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน ดังนั้นการออกแบบองค์ประกอบภายนอก และภายในร้านค้า, สินค้าและบริการ, บรรยากาศ, สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
3 เทรนด์ค้าปลีกในยุค “Gen Alpha”
ค้าปลีกในยุค Gen Alpha ประกอบด้วย 3 เทรนด์หลัก คือ
1. ทลายกรอบเพศสภาพ สู่ “Genderless Shopping”
ที่ผ่านมาแบรนด์ และร้านค้าปลีก (Retailers) แบ่งหมวดหมู่สินค้า-บริการ และโซนช้อปปิ้งเป็นผู้หญิง – ผู้ชาย แต่โลกทุกวันนี้เปิดกว้าง และเป็นยุคแห่งความหลากหลาย (Diversity) และความเท่าเทียม (Equality) ไม่มีข้อจำกัด หรือเส้นแบ่งทางเพศ ทำให้แบรนด์ และผู้ค้าปลีก ทลายกรอบด้านเพศสภาพ ไปสู่ “Genderless Shopping” หรือ “การช้อปปิ้งไร้เพศ” ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ไม่มีการจำกัดเพศ หรือความเป็นกลางทางเพศ (Gender-Neutral) ไม่ได้มีการแบ่งแยกแล้วว่าอันนี้เป็นของผู้หญิง อันนี้เป็นของผู้ชาย แต่ไม่ว่าใครก็ตาม ทุกคนสามารถซื้อได้ – ใช้ได้เหมือนกัน เช่น
– กรณีของ “PacSun” เชนค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นของสหรัฐอเมริกา เปิดตัวเสื้อผ้าเด็ก Gender-neutral ภายใต้แบรนด์ “PacSun Kids” เมื่อมิถุนายน 2021 และต่อมาเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้เอง ได้เปิดตัวแบรนด์ “Colour Range” เสื้อผ้า Unisex ทำตลาดครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มเด็กโต ถึงวัยรุ่น
ขณะเดียวกันภาครัฐได้ผลักดัน และสนับสนุนเรื่อง “Genderless” ให้ขยายออกไปในวงกว้างด้วยเช่นกัน
– เมื่อเดือนตุลาคม 2021 “รัฐแคลิฟอร์เนีย” นับเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่ออกกฎหมายใหม่ว่าด้วยการกำหนดให้ค้าปลีกขนาดใหญ่ ต้องมีแผนกหรือจัดวางสินค้า “ของเล่นเด็ก” และ “ผลิตภัณฑ์ดูแลเด็ก” เช่น ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยเด็ก, ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก ที่มีความเป็นกลางทางเพศ หลังจากที่ผ่านมาแบรนด์มักใช้กลยุทธ์การตลาดด้านสี มาแบ่งแยกกลุ่มเป้าหมาย เช่น สีชมพู เป็นสีของเด็กผู้หญิง และสีน้ำเงิน หรือฟ้า เป็นสีของเด็กผู้ชาย ซึ่งกลายเป็นการกดดันให้เด็กต้องปฏิบัติ หรือเลือกตาม stereotype ของสังคม
2. Inclusivity ทุกคนเข้าถึงสินค้าและบริการได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย
แบรนด์ และร้านค้าปลีก คิดค้นและพัฒนาสินค้า – บริการให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเพศ อายุ ตลอดจนด้านร่างกาย เช่น
– “Nike” หลังจากเปิดตัวรองเท้าใหม่ “Nike GO FlyEase” นวัตกรรมรองเท้าไม่มีเชือก และใส่-ถอดง่าย โดยไม่ต้องใช้มือ (Free Hand Shoes) เพื่อเป็นรองเท้าสำหรับทุกคน ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2022 ได้ต่อยอดนวัตกรรม FlyEase กลุ่มสินค้าสำหรับเด็ก โดยเปิดตัวรองเท้าคอลเลคชั่น “Nike FlyEase Dynamo Go” และเสื้อผ้าคอลเลคชั่น “Nike FlyEase Play Pack” เพื่อทำให้เด็กสามารถสวมใส่รองเท้าและเสื้อง่ายขึ้น – เร็วขึ้น
Kevin Dodson รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์รองเท้า Nike Kids เล่าว่าได้ฟังเด็กที่ทดสอบรองเท้า Nike และผู้ปกครองหลายร้อยคน ต่างบอกว่า ใครก็ตามที่ใช้เวลาอยู่กับเด็ก จะรู้ว่าเมื่อเด็กๆ สามารถสวมใส่รองเท้าได้ด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว และง่าย จะทำให้เด็กๆ มั่นใจในตัวเอง และรู้สึกมีพลังที่จะทำให้อยากเคลื่อนไหวมากขึ้น และการออกแบบรองเท้า “FlyEase Dynamo Go” ที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่พอดีกับเท้า และพื้นยึดเกาะได้ดี รองรับการเคลื่อนไหวทุกประเภท ทำให้เด็กพร้อมจะเปลี่ยนรองเท้าจากกิจกรรมหนึ่ง ไปสู่กิจกรรมหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับคอลเลคชั่นเสื้อผ้าใหม่สำหรับเด็ก “Nike FlyEase Play Pack” ประกอบด้วยเสื้อ, แจ็กเก็ต, ฮู้ดดี้ และกางเกง
Jermaine Younger ผู้อำนวยการอาวุโสผลิตภัณฑ์ Nike Kids เล่าถึงเบื้องหลังการพัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ดังกล่าวว่า การขจัดอุปสรรคในการสวมใส่ และถอดเสื้อผ้าออกเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กทุพพลภาพ ซึ่งพบว่าปัจจุบันเสื้อผ้าสำหรับเด็ก ยังมีอุปสรรคในการสวมใส่ เช่น ซิป, กระดุม
ด้วยเหตุนี้เองทีม Consumer Insights ของ Nike ทำการเก็บข้อมูลจากการพูดคุยกับเด็ก และผู้ดูแลเด็กทั่วโลก พบว่ามี 4 ความต้องการสำหรับเสื้อผ้าเด็ก คือ สวมใส่ได้ง่าย และรวดเร็ว, สามารถใช้มือเดียวในการสวมใส่เสื้อผ้าได้, จัดเก็บในกระเป๋าได้อย่างปลอดภัย และทำให้เสื้อผ้านั้นเหมาะกับเด็กทุพพลภาพด้วย
จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “Nike FlyEase Play Pack” มีฟังก์ชั่นออกแบบมาสำหรับเด็ก และเด็กทุพพลภาพโดยเฉพาะ เน้นที่ความสบาย และสวมใส่-ถอดออกง่ายขึ้น เช่น ผ้าระบายอากาศง่าย, มีจุดสัมผัสทางประสาทสัมผัส, กางเกงมีเชือกรูดล็อคอัตโนมัติ, เชือกดึงซิปรูปขนาดใหญ่
3. Sustainability ต้องอยู่ในกระบวนการธุรกิจ
นอกจากเกิดและเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีแล้ว “Gen Alpha” ยังเติบโตมาในยุควิกฤตกาณณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม นี่จึงทำให้คนใหม่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เพราะฉะนั้นการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ และค้าปลีกจากนี้ จึงไม่ใช่การมุ่งสร้างผลกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่คือ การให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืนทางธุรกิจ” มาจาก Purpose-driven ประกอบด้วย 3Ps คือ Profit, People, Planet เป็น 3 เสาสำคัญของธุรกิจในปัจจุบัน และยุคต่อๆ ไป
โดยการสร้าง “Sustainability” ต้องอยู่ในกระบวนการธุรกิจ หรือเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เช่น แนวคิด “Sustainable Play “ สำหรับตลาดของเล่นสำหรับเด็ก ปัจจุบันผู้ผลิตของเล่นเด็ก นำนโยบายความยั่งยืนเข้ามาอยู่ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อดึงดูดลูกค้ารุ่นใหม่ เช่น
– “Mattel” หนึ่งในผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนรู้จักกันดี เช่น Barbie, แบรนด์ของเล่นเด็กเล็ก Fisher-price, รถไฟ Thomas & Friends เปิดตัวโครงการให้ครอบครัวที่ซื้อของเล่นในเครือ Mattel ไป หากไม่เล่นแล้ว สามารถนำมาคืนได้ เพื่อทางบริษัทจะนำของเล่นเก่าเหล่านี้ ไปเป็นวัสดุใช้ผลิตของเล่นใหม่ได้ ซึ่งเป็นการลดขยะของเล่นใช้แล้วทิ้ง และลดการใช้ทรัพยากร
– “LEGO” แบรนด์ตัวต่อยอดนิยม ที่มีต้นกำเนิดจากเดนมาร์ก เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ได้เปิดตัวตัวต่อต้นแบบที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลขวดพลาสติก PET โดยมีวัตถุประสงค์ผลิต LEGO จากวัสดุที่ยั่งยืน
เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นต้นแบบ LEGO พลาสติกรีไซเคิล มีทีมงานมากกว่า 150 คน ทำงานเพื่อค้นหา Solutions ตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ LEGO โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2021) นักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุและวิศวกรของ LEGO ทำการทดสอบวัสดุ PET กว่า 250 รูปแบบ และสูตรพลาสติกอีกหลายร้อยสูตร กระทั่งในที่สุดสามารถผลิตออกมาเป็น LEGO ต้นแบบที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณภาพ, ความปลอดภัย แข็งแรง ทนทาน และสามารถนำไปประกอบต่อได้หลากหลาย
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ และพัฒนาวัสดุต่อเนื่อง จากนั้นจะมีการประเมินว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต เพื่อวางจำหน่ายหรือไม่ โดยขั้นตอนการทดสอบนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัสดุความยั่งยืนนี้ ต้องมีคุณภาพ และความปลอดภัยอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ “LEGO Group” ได้ประกาศพัฒนานวัตกรรมวัสดุที่ยั่งยืน และวางงบลงทุนสูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 3 ปีจนถึงปี 2022 เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
“เรารู้ว่าเด็กๆ ในทุกวันนี้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และต้องการให้พวกเราในฐานะผู้ผลิตสินค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น แม้ต้องใช้เวลาอีกสักระยะที่ LEGO วัสดุพลาสติกรีไซเคิลจะผลิตออกมา เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่น แต่เราอยากให้เด็กๆ รับรู้ว่าตลอดเส้นทางของการพัฒนาสิ่งใหม่ ต้องผ่านการทดลอง และความล้มเหลว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่นำตัวต่อ LEGO มาสร้าง ต่อประกอบ ถอดออก แล้วสร้างใหม่อยู่เรื่อยๆ พวกเราก็กำลังทำแบบเดียวกันนี้ในห้องทดลองของเรา
เรามุ่งมั่นที่จะมีส่วนในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับเด็กจากรุ่นสู่รุ่น โดยเราต้องการให้ผลิตภัณฑ์ LEGO สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่การเล่นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ แต่ยังรวมถึงวัสดุที่เราใช้ด้วย เรายังต้องเดินทางอีกยาวไกล แต่พึงพอใจกับความก้าวหน้าที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้” Tim Brooks รองประธานฝ่ายความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม LEGO Group เล่าถึง Purpose-driven ด้านการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และธุรกิจ
Retailer และแบรนด์ในกลุ่มธุรกิจใดก็ตาม ถ้าอยากชนะใจ Gen Alpha ทั้งในวันนี้ที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังเป็นวัยเยาว์ และในอนาคตที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจตัวตน ความคิด ทัศนคติ สภาวะแวดล้อมที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมา เพื่อนำ Insight ของผู้บริโภครุ่นใหม่ไปปรับใช้ เพื่อออกแบบและพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการนำเสนอประสบการณ์ให้ตรงใจผู้บริโภค Gen Alpha
- อ่านเพิ่มเติม: 7 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค Reshape ธุรกิจค้าปลีก “SOLO Consumer – Youth Culture – Age Positive”