HomeBrand Move !!55 ปี ‘เบทาโกร’ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม รายได้ 9 หมื่นล้าน ยื่นไฟลิ่ง IPO เสนอขาย 500 ล้านหุ้น 

55 ปี ‘เบทาโกร’ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม รายได้ 9 หมื่นล้าน ยื่นไฟลิ่ง IPO เสนอขาย 500 ล้านหุ้น 

แชร์ :

betagro pic cover 1

กลุ่มเบทาโกร (Betagro) ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ก่อตั้งโดยตระกูล “แต้ไพสิฐพงษ์” ในปี 2510 จากจุดเริ่มต้นธุรกิจอาหารสัตว์ และขยายไปสู่ธุรกิจปศุสัตว์และธุรกิจอาหารในปี 2515

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปัจจุบันธุรกิจครอบคลุมอุตสาหกรรมเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ณ สิ้นปี 2564 ในประเทศไทย เบทาโกร มีโรงงานอาหารสัตว์ 9 แห่ง ฟาร์ม 4,829 แห่ง โรงชำแหละสัตว์ 13 แห่ง  และโรงงานแปรรูป 12 แห่ง โรงานผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 1 แห่ง  และโรงงาน และโรงงานผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ 1 แห่ง

ธุรกิจต่างประเทศ เบทาโกร เป็นผู้ดำเนินงานโรงงานอาหารสัตว์ 1 แห่ง และฟาร์ม  331 แห่ง ในกัมพูชา เป็นผู้ดำเนินงานฟาร์ม 131 แห่ง และโรงชำแหละสัตว์ 1 แห่ง ในประเทศลาว

ปี 2565 วางเป้าหมายสร้างรายได้ 90,000 ล้านบาท  ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 31,200 คน  และบริษัทในเครือ 35 บริษัท

Betagro_since 1967

ยื่นไฟลิ่ง IPO เสนอขาย 500 ล้านหุ้น 

การก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 เบทาโกร ขอสร้างการเติบโตใหม่ในฐานะ “บริษัทมหาชน”  โดยเมื่อวันที่ 9  พฤษภาคม 2565  บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG  ได้ยื่นไฟลิ่งต่อ สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5.0 บาทต่อหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมี บล.เกียรตินาคินภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

หลังจากเข้าตลาดฯ แล้ว เบทาโกร มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 30%  ของกำไรสุทธิ

ธุรกิจเบทาโกร

เบทาโกร มี 9 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

1. ธุรกิจเกษตร การผลิตอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์มที่หลากหลาย และการให้บริการห้องปฏิบัติการ

2. ธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ได้แก่ เนื้อสด ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งปรุงสุก และผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุก และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน

3. ธุรกิจส่งออก การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกไปยังต่างประเทศ

4. ธุรกิจผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ชนิดไม่แบ่งบรรจุ ประกอบด้วย การผลิตและการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ในปริมาณมากให้แก่ช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมในประเทศไทย

5. ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผลิตภัณฑ์พลอยได้และอาหารอื่น ๆ ประกอบด้วย การจำหน่ายชิ้นส่วนของสัตว์ที่เหลือจากกระบวนการชำแหละ และการผลิตและจำหน่ายโปรตีนทางเลือกจากพืช

6. ธุรกิจปศุสัตว์ การจำหน่ายปศุสัตว์ให้แก่ฟาร์มและผู้แปรรูปอาหารรายอื่น ๆ ในประเทศไทย

7. ธุรกิจต่างประเทศ ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึง อาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์ฟาร์ม และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงสุกร สัตว์ปีก ไข่ไก่ เนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารแปรรูป

8. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ประกอบด้วย การผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง

9. ธุรกิจอื่น ๆ เกี่ยวกับการฝึกอบรมและสัมมนา และธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งขายอุปกรณ์ฟาร์มไก่ไข่ รวมถึงให้บริการให้คำปรึกษา

betagro pic cover 2

 

เบทาโกรมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองดังนี้ 

– แบรนด์ BETAGRO และ S-Pure ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อนามัย เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารแปรรูป

– แบรนด์ ITOHAM ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเกรดพรีเมียม

– แบรนด์ betagro, Balance และ MASTER ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์

– แบรนด์ Better Pharma และ Nexgen ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์

– แบรนด์ Perfecta, DOG n joy และ CAT n joy ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง

ช่องทางการขาย

เบทาโกร วางขายและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย

– ขายผลิตภัณฑ์เกษตรให้แก่ฟาร์มอิสระ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรผสมผสาน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่โดยตรงหรือผ่านทางตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารให้แก่ธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่และธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม

– ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและผู้ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ร้านอาหารที่เป็นเครือข่าย (Chain Restaurants) หรือผู้จัดจำหน่ายของร้านอาหารเครือข่าย บริษัทส่งออกระหว่างประเทศ และผู้จัดจำหน่ายในประเทศที่จัดหาสินค้าให้แก่ร้านอาหาร ผู้ให้บริการด้านอาหาร (Food Service) เช่น โรงอาหารของโรงงานและโรงเรียน ร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาลและผู้ค้าอื่นๆ

– ขายผลิตภัณฑ์อาหารผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทเอง ได้แก่ สาขาเบทาโกร ร้านเบทาโกรช็อป (Betagro Shop) สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2B และร้านเบทาโกรเดลี (Betagro Deli) สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C รวมถึงร้านเนื้อสัตว์อนามัยซึ่งดำเนินการโดยบุคคลภายนอกสำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C

– ณ สิ้นปี 2564 มีสาขาเบทาโกร 97 แห่ง ร้านเบทาโกรช็อป 207 แห่ง ร้านเบทาโกรเดลี 29 แห่ง และร้านเนื้อสัตว์อนามัย 710 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย และมีร้านเบทาโกรช็อป 5 แห่งในประเทศลาว

– ส่งออกไปยังกว่า 27 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง

รายได้เบทาโกร 

– ปี 2562 รายได้ 74,231 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,267 ล้านบาท

– ปี 2563 รายได้ 80,102 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,341 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้ 85,424 ล้านบาท กำไรสุทธิ 839 ล้านบาท

ณ สิ้นปี 2564 เบทาโกร มีสินทรัพย์รวม 57,475 ล้านบาท หนี้สินรวม 41,952 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 15,522 ล้านบาท

วัตถุประสงค์เข้าตลาดฯ

1. ใช้เงินทุนเข้าซื้อหรือก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงโรงงาน ฟาร์ม

– ลงทุนโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม โรงชำแหละสัตว์  โรงงานแปรรูปอาหารและเนื้อสัตว์ รวมถึงการผลิตไข่ไก่และโปรตีนทางเลือก

– ลงทุนโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม และโรงชำแหละสัตว์ในกัมพูชา  ลาว และเมียนมา

– ลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง

– ลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Facilities)

2. จ่ายหนี้ระยะสั้นและระยะยาวให้กับสถาบันการเงินต่างๆ

3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

Betagro_K Vasit_ceo

คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์

ปี 65 เปิดเกมรุก Powering Change

– ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ “เบทาโกร” ในปี 2565  คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศกลยุทธ์ POWERING CHANGE ปรับองค์กรสู่การทรานสฟอร์มครั้งใหญ่ ขับเคลื่อน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. Supply Chain Resilience: การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอุปทานตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อลดผลกระทบ ต่อธุรกิจ และสร้างโอกาสจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ

2. Digital Transformation: การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งยกระดับสู่เป้าหมาย Smart Transformation เต็มรูปแบบ

3. People Transformation: การปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็น High Performing Organization พัฒนาทักษะในด้านดิจิทัลให้พนักงาน

4. New Business: การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด

5. Sustainability: การร่วมสร้างคุณค่ากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล


แชร์ :

You may also like