หุ้นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีของจีน ไม่ว่าจะเป็น เลอโนโว (Lenovo) หัวเว่ย (Huawei) หรือ Inspur ผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์ พุ่งขึ้นทันที หลังรัฐบาลจีนประกาศหนุนให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์พีซี – ซอฟต์แวร์ที่ผลิตภายในประเทศภายใน 2 ปีนับจากนี้
ด้านสื่อตะวันตกอย่าง Bloomberg ชี้ว่า นี่คือความพยายามของรัฐบาลจีนในการลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ด้านความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดของจีนกับสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ หุ้นของบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีสัญชาติตะวันตกอย่าง HP และ Dell พบว่า ปรับตัวลดลงทันทีเช่นกัน ประมาณ 2.5%
กังวลข้อมูลรั่วไหล
รายงานข่าวจาก Bloomberg อ้างด้วยว่า สาเหตุที่รัฐบาลจีนมีนโยบายลดการใช้พีซีแบรนด์ต่างประเทศเนื่องจากกังวลในเรื่องการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งในกรณีนี้ หากมองอย่างเป็นธรรม บริษัทสัญชาติจีนอย่างหัวเว่ย และ ZTE ก็เคยถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ และสกัดไม่ให้ทำตลาดอุปกรณ์เครือข่าย 5G ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงไม่ให้สมาร์ทโฟนเข้าถึงซอฟต์แวร์จาก Google และเทคโนโลยีชิปเซ็ตต่าง ๆ ที่ทันสมัยของควอลคอมม์ (Qualcomm) เนื่องจากความกังวลเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลมาแล้วเช่นกัน ซึ่งผลจากการกีดกันทางการค้าครั้งนั้น ได้ทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนหัวเว่ยหล่นจาก Top 3 ของโลกไปอย่างน่าเสียดาย
ไม่เฉพาะ หัวเว่ย และ ZTE แม้แต่ TikTok แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ ByteDance ก็เคยถูกกดดันให้ขายธุรกิจให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกามาแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า Lenovo อาจมียอดขายเพิ่มขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลจีนครั้งนี้ประมาณ 50 ล้านเครื่องภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน Lenovo มีการพึ่งพิงชิปจากสหรัฐอเมริกาอยู่ก็จริง แต่บริษัทก็ตั้งแผนกพัฒนาชิปเซ็ตของตัวเอง รวมถึงมีการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์แล้วอย่างน้อย 15 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรองรับคำสั่งซื้อดังกล่าวได้
หนุนใช้โอเพ่นซอร์สแทน Windows
นอกจากนี้ ในด้านซอฟต์แวร์ พบว่ามีการสนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้โอเพ่นซอร์ส เช่น ระบบปฏิบัติการ Linux แทนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) ของค่ายไมโครซอฟท์ (Microsoft) บริษัทสัญชาติอเมริกันด้วย