ตลาด Food Delivery ไทยที่ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยเคยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 79,000 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เพราะล่าสุดมีการเพิ่มผู้เล่นรายใหม่สัญชาติไทยเข้ามาในตลาดแล้วอย่างเป็นทางการ นั่นคือ eatsHUB แอปพลิเคชันภายใต้การพัฒนาของบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ บริษัทในเครือทีวีไดเร็ค (TV Direct) ที่สำคัญ eatsHUB ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการสนับสนุนจาก depa หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้โครงการ National Delivery Platform เป็นมูลค่า 40 ล้านบาทด้วย
สำหรับที่มาของการเปิดตัวแอปพลิเคชันดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจ Food Delivery มีการแข่งขันที่สูงมาก เห็นได้จากการมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ต้นทุนการใช้แพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารอยู่ในระดับที่สูง จึงเป็นความได้เปรียบสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนมากกว่า ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) มีส่วนต่างกำไรไม่มาก ทำให้บางรายส่งต่อต้นทุนไปสู่ผู้บริโภค
เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม depa จึงได้ร่วมกับ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินโครงการ National Delivery Platform โดยการพัฒนา eatsHUB แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารสัญชาติไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร พนักงานรับส่งอาหาร (ไรเดอร์) รวมถึงผู้สนใจเป็นพนักงานรับส่งอาหาร และตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบัน
เปิด 4 กลยุทธ์น้องใหม่ eatsHUB
สำหรับจุดเด่นของ eatsHUB ก็คือเรื่องของส่วนแบ่งรายได้ (GP) ที่ทาง depa ระบุว่าต่ำกว่าแพลตฟอร์ม Food Delivery ทั่วไป โดยจะคิดแค่ 8 – 10% ซึ่งทาง ผศ.ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa และ ฟู้ด ออเดอรี่ ผู้พัฒนา ตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มกว่า 500,000 ราย และมีจำนวนการเข้าใช้งานมากกว่า 5,000,000 ครั้งภายในปีแรก พร้อมระบุว่าตัวเลขดังกล่าวจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท โดยในช่วงแรกจะเปิดให้บริการใน 4 เขตของกรุงเทพฯ ก่อน ได้แก่ บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว และสวนหลวง จากนั้นจะขยายพื้นที่ให้บริการให้ได้ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ด้านคุณธรรมนิตย์ ขำวังยาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟูด ออเดอรี่ จำกัด กล่าวเสริมว่า กลยุทธ์ในการบุกตลาดของ eatsHUB ประกอบด้วย
- การให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อให้ร้านค้าทราบว่า อาหารชนิดใดขายดี รวมถึงรู้จักลูกค้าของทางร้านได้มากขึ้น
- เปิดให้สั่งอาหารผ่านแอปได้ทั้งทางโทรศัพท์ แชท และแอปพลิเคชัน ซึ่งรองรับได้ทุกกลุ่มอายุ
- คิดค่า GP ที่ต่ำทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีต้นทุนในการดำเนินการที่เหมาะสม รวมถึงจะมีการจำหน่ายสินค้าเช่น แก๊ส วัตถุดิบต่าง ๆ บรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ สำหรับผู้ประกอบการในราคาพิเศษด้วย
- การให้บริการในรูปแบบครัวกลางที่จะไม่คิดค่าใช้จ่ายด้านสถานที่กับร้านค้าที่เข้าร่วม (แต่เสียค่า GP 20%)
ภายในปีแรก eatsHUB ตั้งเป้าว่า จะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมเมืองใหญ่ 18 จังหวัด นั่นคือ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และนครพนม โดยในช่วงเปิดตัวจะมีร้านค้าเข้าร่วมให้บริการในแพลตฟอร์มมากกว่า 20,000 ร้าน รวมถึงร้านหมูทอดเจ๊จง ไก่ทอดเจ๊กี ฯลฯ ด้วย
ผู้บริหารมองว่า การเก็บ GP ที่ต่ำเพียง 8 – 10% นั้นจะทำให้ร้านอาหารไม่ลดปริมาณอาหารที่ต้องขายให้กับลูกค้า พร้อมยืนยันว่า ร้านอาหารที่อยู่บนแพลตฟอร์มได้ยืนยันว่า จะขายอาหารในราคา-ปริมาณเท่ากับหน้าร้านให้กับผู้บริโภคอย่างแน่นอน
เล่าเรื่องชุดฟอร์ม ทำไมเลือกใช้สีเหลือง
สำหรับจุดเด่นของ eatsHUB ที่เห็นได้ชัดเจนจากงานแถลงข่าวอาจเป็นเรื่องของชุดฟอร์มที่ใช้สีเหลือง – เทา ซึ่งต้องยอมรับว่ายังเป็นสีที่ยังไม่มีแพลตฟอร์ม Food Delivery รายใดในตลาดไทยเลือกใช้ ในจุดนี้ คุณธรรมนิตย์กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับโลโก้และแบรนด์ดิ้งของ eatsHUB ที่เลือกใช้สีเหลืองนั้น ต้องการสะท้อนถึงเรื่องอาหาร โดยเลือกใช้สีเหลืองมัสตาร์ด ที่เป็นเครื่องปรุงรสชาติเผ็ดร้อน มาเป็นตัวชูโรงให้กับแพลตฟอร์มนั่นเอง
รับออเดอร์ทางโทรศัพท์ได้ เจาะกลุ่มคนไม่ถนัดใช้แอป
หนึ่งในความพิเศษของ eatsHUB อีกข้อที่มีการกล่าวถึงในการแถลงข่าวก็คือการรับออเดอร์ทางโทรศัพท์ได้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ถนัดใช้แอปพลิเคชัน (ในการแถลงข่าวยังไม่มีการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ) และการโอนเงินค่าสินค้าให้กับร้านค้าในวันถัดไป โดยไม่มีขั้นต่ำ
ทั้งนี้ คุณธรรมนิตย์ เผยว่า ในช่วงเริ่มต้น แพลตฟอร์มมีไรเดอร์แล้วประมาณ 2,000 คน แต่ที่พิเศษมากกว่าก็คือ จะมีบริการไรเดอร์ประจำร้าน สำหรับร้านที่ต้องการจ้างไรเดอร์ประจำเพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติมให้กับทางไรเดอร์ด้วย โดยในจุดนี้ทางร้านจะมีค่าบริการพิเศษให้กับไรเดอร์เพิ่มเติม และลดปัญหาด้านการกดแย่งงานกันเองระหว่างไรเดอร์ที่มักเกิดขึ้นในแอปพลิเคชันอื่น ๆ
เปิดตัว 4 คลาวด์คิทเช่นในย่านดัง กทม.
ในช่วงแรกของการเปิดตัว คุณธรรมนิตย์กล่าวด้วยว่า จะมีการเปิดตัวคลาวด์คิทเช่น (Cloud Kitchen) หรือครัวกลางของแพลตฟอร์ม ใน 4 พื้นที่ได้แก่ ย่านคอนแวนต์, รังสิต, ธนบุรี และลาดพร้าว โดยร้านอาหารที่เข้ามาอยู่ในคลาวด์คิทเช่นของแพลตฟอร์ม eatsHUB จะไม่มีการคิดค่าสถานที่ แต่จะถูกคิดค่า GP 20% แทน นอกจากนั้น ในการบุกตลาดต่างจังหวัดที่ตั้งเป้าไว้ 17 จังหวัดภายในเดือนกรกฎาคม ก็จะมีคลาวด์คิทเช่นทุกจังหวัดด้วยเช่นกัน
ในช่วงเริ่มต้นของการให้บริการ คุณธรรมนิตย์เผยว่าได้มีการตั้งงบการตลาดเอาไว้ที่ 50 ล้านบาท สำหรับจัดโปรโมชันต่าง ๆ เช่น การส่งฟรีเพื่อดึงดูดคนเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม รวมถึงการเชื่อมต่อกับบริการด้าน Payment ต่าง ๆ เช่น พร้อมเพย์, แอปเป๋าตังค์ หรือโครงการคนละครึ่งด้วย
บุกตลาด “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า”
นอกจากให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่แล้ว ทาง eatsHUB ยังมีการเปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในงานแถลงข่าว พร้อมระบุว่าไรเดอร์ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ด้วย โดยคุณธรรมนิตย์กล่าวว่า เป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจากจีน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท วิ่งได้ประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (ทั้งนี้ รุ่นที่ถูกที่สุดจะเป็นรุ่นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ ต้องชาร์จไฟอย่างเดียว ส่วนรุ่นที่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้นั้น ก็จะมีราคาที่สูงขึ้นกว่านี้) ซึ่ง eatsHUB มองว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกสำหรับไรเดอร์ที่ต้องการลดรายจ่ายด้านค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมากในขณะนี้นั่นเอง
สำหรับการระดมทุนจนเกิดเป็น eatsHUB นั้น ผศ.ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ เผยว่า depa มีการร่วมลงทุนใน eatsHUB เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 20%) และจะมีการขายคืน (Exit) ในระยะเวลา 5 ปี โดยระหว่างนี้ ทางแพลตฟอร์มสามารถระดมทุนได้แล้ว 160 ล้านบาท และตั้งเป้าจะระดมทุนให้ได้ 300 ล้านบาทภายใน 2 ปี
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์ม eatsHUB ครั้งนี้ เผยว่า นอกจากวงการฟู้ดเดลิเวอรี่แล้ว ภาครัฐยังมีแผนพัฒนาแแอปพลิเคชันเพื่อช่วยธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรม และการท่องเที่ยว, ภาคการเกษตรด้วย โดยอาจเป็นแอปสำหรับไกด์ – จองห้องพัก หรือการนำบล็อกเชนมาใช้ยืนยันความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตร เป็นต้น