ดีล “ทวิตเตอร์” วุ่น เมื่ออีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าพ่อเทสล่า (Tesla) มหาเศรษฐีคนดังที่เคยออกมาบอกว่า จะซื้อบริษัทโซเชียลมีเดียแห่งนี้ได้ออกมาทวีต “ขอพักดีลไว้เป็นการชั่วคราว” พร้อมเงื่อนไขว่า จะกลับมาคุยกันใหม่เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนของแอคเคาน์ปลอม (Fake Accounts) ที่ชัดเจนมากกว่านี้ โดยทวีตดังกล่าวของอีลอน มัสก์ ทำให้หุ้นทวิตเตอร์ร่วงทันทีกว่า 25% ในช่วงก่อนเปิดตลาดที่สหรัฐอเมริกา
Twitter deal temporarily on hold pending details supporting calculation that spam/fake accounts do indeed represent less than 5% of usershttps://t.co/Y2t0QMuuyn
— Elon Musk (@elonmusk) May 13, 2022
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาอีลอน มัสก์ ก็ได้ช่วยชีวิตทวิตเตอร์เอาไว้ได้ทัน เพราะเขาส่งข้อความออกมาอีกครั้งว่า เขายังคงยืนยันว่าจะซื้อทวิตเตอร์อยู่ ซึ่งทวีตนี้ทำให้หุ้นของทวิตเตอร์กลับฟื้นตัวขึ้นมาได้
ข้อมูลจากทวิตเตอร์ในรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ระบุว่า ค่าเฉลี่ย Fake Accounts ของแพลตฟอร์มนั้นมีไม่ถึง 5% ของผู้ใช้งานแบบรายวัน (Monthly Daily Active Users) อย่างไรก็ดี ทางบริษัทได้มีการเผยด้วยว่า จำนวนของ Fake Accounts ที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะนโยบายของทวิตเตอร์ในปัจจุบัน อนุญาตให้มีการใช้บ็อท (Bots) ได้ โดยทางแพลตฟอร์มจะมีการแปะป้าย “Good” ให้กับบ็อทที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับให้ข้อมูลที่มีประโยชน์กับผู้ใช้งาน ส่วนบ็อทสายดาร์ก เช่น Spam bots ถือเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มไม่ให้การยอมรับแต่อย่างใด และบ็อทกลุ่มนี้ก็คือสิ่งที่อีลอน มัสก์บอกว่าอยากเข้ามาจัดการให้สิ้นซากนั่นเอง
ในมุมของนักวิเคราะห์เองก็มีการตั้งข้อสงสัยถึงพฤติกรรมที่กลับไปกลับมาของอีลอน มัสก์เช่นกัน โดยมองว่า มูลค่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อทวิตเตอร์นั้นอาจเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป สำหรับการหาพื้นที่ให้กับ Free Speech
นอกจากนั้น ในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ มีค่าธรรมเนียมในการยุติสัญญาอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วย (ซึ่งอีลอน มัสก์ต้องจ่ายในส่วนนี้หากเขายุติดีล หรือไม่สามารถหาเงินมาซื้อทวิตเตอร์ได้อย่างที่ตั้งใจไว้) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แน่ว่า การยกเรื่อง Fake Accounts มาเพื่อขอพักไว้ก่อนนั้น อาจทำให้อีลอน มัสก์ หลุดพ้นจากการค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ก็เป็นได้
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีตอนนี้กำลังร่วงลงอย่างแรง และทวิตเตอร์เองก็หนีสถานการณ์นั้นไม่พ้น ส่งผลให้มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท กับมูลค่าที่อีลอน มัสก์เคยเสนอว่าจะจ่ายนั้นเริ่มมีช่องว่างที่ห่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่นักวิเคราะห์จะมองว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ที่อีลอน มัสก์เสนอออกมา เป็นการทำไปเพื่อ “ลดราคา” ของเงินที่ตัวเองจะต้องจ่ายนั่นเอง
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่อีลอน มัสก์จะมีการทวีตเงื่อนไขใหม่นี้ออกมา ก็มีรายงานว่าทวิตเตอร์เพิ่งปลดผู้บริหารระดับสูงออกสองคน นั่นคือ Kayvon Beykpour หัวหน้าฝ่าย consumer product และ Bruce Falck ผู้ดูแล revenue product ด้วย
ส่วนดีลทวิตเตอร์จะจบลงอย่างไร และ Fake Accounts จะส่งผลอย่างไรต่อดีลนี้ เราอาจต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด