ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนี้ (30 พ.ค.2565) ว่า บริษัท กสิกรวิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด (KVF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข เพื่อเข้าเป็นถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยวงเงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,556 ล้านบาท
หลังจากธุรกรรมดังกล่าว KBANK และ KVF จะเข้าถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 67.5% ในธนาคารแมสเปี้ยน การซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จหลังได้รับอนุมัติจากหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง คาดว่าภายในสิ้นปี 2565
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 KFV ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน เพื่อเข้าไปถือหุ้น 40% ซึ่งสูงสุดตามที่สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan หรือ OJK) อนุญาต ภายใต้กฎการถือครองหุ้นธนาคารในอินโดนีเซียโดยผู้ถือหุ้นที่เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากเดิมที่ KBANK ถือหุ้น 9.99% ตั้งแต่ปี 2560
KBANK มองว่าการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่า ต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ และเห็นโอกาสทางธุรกิจในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตในอาเซียน
นอกจากนี้จะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นการร่วมกันผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อนำจุดแข็งของสองธนาคารไปต่อยอดพัฒนาบริการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซีย โดยจะใช้กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตามกลุ่มลูกค้าดังนี้
– กลุ่มธุรกิจบรรษัทขนาดใหญ่: สนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยและต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซียรวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งสินเชื่อและบริการการจัดการทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาช่องทางอินเทอร์เน็ต แบงกิ้งและผลิตภัณฑ์ Payroll เพื่อเพิ่มความสะดวกและหลากหลายในการใช้บริการของลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล
– กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี: มุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมโดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร (Acquiring Business) เพื่อรองรับการชำระเงินแบบ Non-Cash Payment
– กลุ่มลูกค้าบุคคล: นำนวัตกรรมมาปรับปรุงระบบโมบายแบงกิ้งและผลักดันสินเชื่อมีหลักประกันเช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล รวมถึงพัฒนา Data Analytic Lending Platform โดยใช้ Data จากธุรกิจร้านค้ารับบัตร