ผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS คงได้เห็นร้านค้าปลีก “เทอร์เทิล” (Turtle) ที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟฟ้า BTS กินพื้นที่ยาวเหยียดตรงกลางทางขึ้นชานชาลา ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 สถานี แห่งแรกสถานีเซ็นหลุยส์ เปิดเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน เดือนเมษายนที่ผ่านมา เปิดอีก 2 สถานี คือที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเพลิตจิต
ชวนมาทำความรู้จักธุรกิจค้าปลีก Turtle Shop แหล่งไลฟ์สไตล์บนสถานีรถไฟฟ้า (แม้ชื่อแบรนด์ “เต่า” เหมือนกัน แต่ Turtle Shop ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ “ตู้เต่าบิน” ที่กำลังมาแรงในขณะนี้)
ร้านเทอร์เทิลธุรกิจค้าปลีกของ NINE
“ร้านเทอร์เทิล” เป็นธุรกิจค้าปลีก ภายใต้การลงทุนและบริหารโดย บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NINE ซึ่งประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์ สำนักพิมพ์ (เนชั่นบุ๊คส์) ผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ประเภทพ็อกเก็ตบุ๊กและสิ่งพิมพ์สำหรับเยาวชน ประเภทการ์ตูนและนิยาย ทั้งแบบรูปเล่มและอีบุ๊ก ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์ เนจาวู (Nejavu)
เดิม NINE เป็นบริษัทในเครือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG แต่ในปี 2562 NMG ได้ทยอยขายหุ้น NINE ออกทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ Phillip Securities (Hong Kong) Limited จำนวน 175 ล้านหุ้น สัดส่วน 48.13% ซึ่งเป็นคัสโตเดียนของ Silom Road Limited เครือธุรกิจในกลุ่ม “คุณคีรี กาญจนพาสน์” เจ้าของอาณาจักร BTS
การขยายธุรกิจค้าปลีกเทอร์เทิล ของ NINE เพราะเห็นว่าโอกาสเติบโตในธุรกิจสิ่งพิมพ์ลดลง จึงมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ จากความเชี่ยวชาญการขายสินค้าผ่านร้านค้าปลีก
โดยตั้งแต่กลางปี 2564 ได้เริ่มพัฒนาธุรกิจค้าปลีกบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ภายใต้แบรนด์ “เทอร์เทิล” (Turtle) เพื่อขายสินค้าอุปโภคบริโภค เน้นอาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน (Grab&Go) และให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟฟ้า BTS
แบรนด์ “เทอร์เทิล” มีธุรกิจอะไรบ้าง
– ร้านค้าปลีกภายใต้แบรนด์ “เทอร์เทิล” เปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้า BTS เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทุกวัย กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้โดยสารอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยหรือทำงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
– รูปแบบร้านเทอร์เทิล เน้นนำเสนอความสะดวกและรวดเร็วในการเลือกซื้อ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเพอร์ซันนอลแคร์ เวชสำอาง ของใช้ภายในบ้าน เป็นต้น
– ในร้านยังมีกลุ่มสินค้าฝากขายแบรนด์ดัง เช่น เบเกอรี่ After You, แกดเจ็ต Xiaomi , เครื่องสำอาง Karmarts
– ให้บริการร้านเครื่องดื่มชงสด 2 ร้าน ภายใน Turtle Shop คือ Turtle Coffee และ Turtle Tea ซึ่งมีมุมให้นั่งดื่มและรับประทานขนมในร้านด้วย
– ตู้จัดจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) Turtle Drink & Snack มีสินค้าเครื่องดื่มและสแน็ก ให้บริการอยู่บนชานชาลาสถานี เมื่อผู้โดยสารออกจากขบวนรถไฟฟ้าก็จะเห็นตู้กดทันที (กดซื้อสินค้าได้ แต่รับประทานในระบบไม่ได้)
– ผู้ใช้บัตรแรบบิทและแอปพลิเคชั่นแรบบิท ไลน์ เพย์ สามารถนำคะแนนแรบบิท รีวอร์ดมาเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าในร้าน
– ธุรกิจค้าปลีกของเทอร์เทิลครอบคลุมถึงการบริหารพื้นที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟฟ้า BTS โดย NINE จะคัดเลือกผู้เช่าพื้นที่ที่มีศักยภาพและมาตรฐานด้านสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้โดยสารและชุมชนใกล้เคียง เช่น สินค้าแฟชั่น บริการจัดส่งพัสดุ บริการความงามต่างๆ โดยมีเป้าหมายสร้างแหล่งไลฟ์สไตล์บนสถานีรถไฟฟ้า
– ร้าน Turtle บนรถไฟฟ้า BTS เริ่มเปิดให้บริการสาขาแรก สถานีเซ็นหลุยส์ พื้นที่ 200 ตารางเมตร (สาขาใหญ่สุด) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 จากนั้นเดือนเมษายน 2565 ให้บริการอีก 2 สาขา ที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเพลินจิต
โอกาสธุรกิจค้าปลีก “เทอร์เทิล”
– การเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก NINE ด้วยการให้บริการร้านเทอร์เทิล เป็นการเข้ามาหาโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 2.91 ล้านล้านบาท (แน่นอนว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่กว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์เดิมที่ทำอยู่)
– ส่วนธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2564 ตลาดรวมมีพื้นที่อยู่ที่ 5.99 ล้านตารางเมตร ลดลง 2.2% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบโควิด แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตหลังโควิดคลี่คลาย เฉลี่ย 2.3-4% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2566 ดังนั้นพื้นที่เช่าในสถานีรถไฟฟ้า BTS จึงเป็นอีกทำเลที่น่าสนใจ
– รวมทั้งโอกาสในตลาดเครื่องดื่มชาและกาแฟ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท (ข้อมูลตลาดรวม ปี 2564) จากบริการร้านชาและกาแฟในเทอร์เทิล
– และตลาดตู้กดสินค้าอัตโนมัติ มูลค่ากว่า 5,200 ล้านบาท (ข้อมูลตลาดรวมปี 2563)
– แม้ NINE ถือเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจค้าปลีก แต่ด้วยศักยภาพของ “ที่ตั้ง” ร้านค้าปลีกและพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์บนสถานีรถไฟฟ้า BTS จึงเป็นกุญแจสำคัญของความสามารถในการแข่งขัน จากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในแต่ละวัน โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิดมีผู้โดยสารเฉลี่ย 8 แสนคนต่อวัน BTS คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อวันในปี 2568 จากการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้น
– ปีนี้หลังจากเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ ก็จะมีชาวต่างชาติใช้บริการ BTS เพิ่มขึ้น และมีโอกาสเป็นลูกค้าของร้านเทอร์เทิลด้วย
– เครือข่ายธุรกิจของ BTS มีพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น VGI, Kerry, RS, PlanB, After You ที่สามารถจับมือเป็นพันธมิตรสนับสนุนค้าปลีกของเทอร์เทิลได้
ดังนั้นแม้ “เทอร์เทิล” จะเป็นร้านค้าปลีกหน้าใหม่ แต่การอยู่ในเครือข่ายธุรกิจของ BTS ทำให้สามารถสร้างอีโคซิสเต็มค้าปลีกรูปแบบใหม่ เข้าถึงฐานลูกค้าผู้โดยสารรถไฟฟ้าได้จำนวนมาก จากจุดแข็งทำเลที่ตั้ง ทำให้ “เทอร์เทิล” เป็นอีกแบรนด์ค้าปลีกที่ต้องจับตา!