การลาออกจากภาวะเบิร์นเอาท์ในช่วงที่เราต้องทำงานแบบ Work From Home กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายองค์กร แต่องค์กรไหนที่ไม่อยากให้พนักงานเบิร์นเอาท์จนต้องลาออกกันยกแผง มีผลวิจัยว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นมิตรกับสัตว์มากขึ้น (Pet-Friendly) ก็มีส่วนช่วยให้พนักงานรู้สึกดีกับองค์กร และมีพลังในการทำงานมากขึ้นเช่นกัน
ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้ที่ฮิตกันอย่างมากในช่วง Work From Home แล้วนั้น การเลี้ยงสัตว์ก็เป็นสิ่งที่คน โดยเฉพาะ Gen Z จำนวนไม่น้อยเลือกทำเพื่อให้คลายเหงาจากการล็อกดาวน์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผลการศึกษาของ Fi บริษัทผู้ผลิตปลอกคออัจฉริยะในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า หากอยากดึงดูดพนักงานคนรุ่นใหม่ให้ทำงานกับองค์กรได้นาน ๆ อาจต้องลองปรับเปลี่ยนนโยบายให้องค์กร “เป็นมิตรกับสัตว์มากขึ้น” (Pet-Friendly) โดย Fi ได้สำรวจพนักงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,005 คนที่เลี้ยงสุนัข พบว่า 71% ของพนักงานกลุ่มนี้อยากทำงานแบบ Work From Home ต่อ เพราะอยากอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตนเองนั่นเอง
ส่วน 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ถึงแม้จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แต่ถ้าไม่สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปทำงานด้วยได้ เขาก็ไม่ขอรับตำแหน่งนั้นเช่นกัน
มากไปกว่านั้น 1 ใน 3 บอกว่า ถ้าออฟฟิศบังคับให้กลับไปทำงานโดยที่ไม่อนุญาตให้พาสัตว์เลี้ยงไปทำงานด้วยได้ ก็จะลาออก
ทำไมสัตว์เลี้ยงสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่
Jonathan Bensamoun ซีอีโอของ Fi เผยด้วยว่า ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่กลายเป็นคนกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์มากเป็นอันดับต้น ๆ และแซงหน้ากลุ่ม Baby Boomer ไปแล้ว โดยคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงไม่ต่างจากลูก หรือที่ทางบริษัทนิยามว่า มองการเลี้ยงสัตว์เป็น Starter Children ของชีวิตนั่นเอง
“สวัสดิการสำหรับน้องหมา” เทรนด์ใหม่ของออฟฟิศ
ผลการสำรวจชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า ออฟฟิศที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงคือสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่ให้ความสนใจทำงานด้วยเป็นอันดับแรก ๆ โดย 50% ของชาว Gen Z บอกว่าจะเลือกทำงานกับบริษัทที่อนุญาตให้นำสุนัขมาออฟฟิศได้ ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล มีคนตอบข้อนี้เพียง 35% และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ตอบข้อนี้เพียง 18%
อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้พนักงานพาสัตว์เลี้ยงไปทำงานด้วยอาจไม่ได้มีแต่ผลดีเสมอไป เพราะเพื่อนพนักงานอีกส่วนหนึ่งก็อาจไม่ได้รักสัตว์เหมือนกันไปเสียหมด และสัตว์เลี้ยงบางตัวก็อาจทำความเสียหายให้กับออฟฟิศ หรือเห่าเสียงดังรบกวนการทำงานของคนอื่นได้ ซึ่งบางทีทางออกของเรื่องนี้อาจเป็นการจัดให้มีศูนย์รับฝากสัตว์เลี้ยง (Day Care) เพื่อให้พนักงานนำสัตว์ของตนเองไปฝากไว้ และสามารถแวะเวียนมาเยี่ยมได้ในระหว่างการทำงานนั่นเอง
หรืออีกทางหนึ่งที่ Fi บอกว่า บริษัทสามารถทำได้เพื่อดึงใจพนักงานที่มีสัตว์เลี้ยงก็คือ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางของน้องหมา (ในกรณีพนักงานลาพักร้อน) ค่าประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ เพิ่มเติม ซึ่งไม่แน่ว่า ผลการสำรวจของ Fi อาจเป็นเทรนด์ใหม่ด้านการออกแบบสวัสดิการของบริษัทต่าง ๆ มากขึ้นก็เป็นได้