ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษายังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดกินระยะเวลามายาวนานกว่า 2 ปี ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับตัวขึ้นสู่ระบบออนไลน์ผนวกภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลต่อรายได้ เข้ามาเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและขาดทุนทรัพย์มากขึ้น และมีเยาวชนจำนวนมากกำลังออกจากระบบการศึกษา
ข้อมูลจากระบบ iSEE ของ กสศ. พบว่า สถานการณ์ในจังหวัดราชบุรี มีเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษากว่า 11,200 คน แบ่งเป็น เด็กปฐมวัย 3-5 ปี 66% เด็กประถมศึกษา 6-11 ปี 26% และเด็กมัธยมศึกษา 12-15 ปี 8% โดยข้อมูลเฉพาะอำเภอสวนผึ้ง พบว่ามีเด็กช่วงอายุ 3-14 ปี และนับรวมถึง 17 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา 3,592 คน ขณะที่เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามีจำนวน 7,650 คน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีความเสี่ยงกำลังจะหลุดจากการศึกษาเช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องรีบดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้เด็กใน อ.สวนผึ้ง ทุกคนต้องได้เรียนและไม่หลุดจากการระบบการศึกษาให้ได้ภายในกันยายนปีนี้ตามเป้า
นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิตอลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้ออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ครั้งแรกของเอเชีย ชู ‘ราชบุรีโมเดล’ เป็นจังหวัดต้นแบบ ที่เด็กหลุดจากการศึกษาจะเป็น ‘ศูนย์’ ภายใน 3 ปี และเดินหน้าทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กสศ. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อติดตามผลงานและประสานกลไกท้องถิ่น-พื้นที่ ระดมความร่วมมือค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กชายขอบ ทั้งตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วให้ได้กลับมาเรียน พร้อมส่งเสริม สนับสนุน และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้กลุ่มเด็กเสี่ยงหลุดได้เรียนต่อไป โดยปักหมุดดำเนินงานบนพื้นที่ ‘สวนผึ้ง’ เป็นอำเภอนำร่องของจังหวัดราชบุรี กับเป้าหมายของพันธกิจแรก เพื่อลดจำนวนนักเรียนหลุดนอกระบบการศึกษาในช่วงวัยระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1 – ม.3) ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ให้เป็น ‘ศูนย์’ ภายในเดือนกันยายน 2565”
ตลอดช่วงระยะเวลาโครงการนี้ แสนสิริได้รับบริจาคหนังสือจากพนักงานและลูกบ้านแสนสิริรวมกว่า 2,500 เล่ม และนำพนักงานแสนสิริและพนักงานสีทีโอเอรวมกว่า 40 ชีวิต ลงพื้นที่ซ่อมแซมห้องสมุดให้กับโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้งด้วยเช่นกัน
นายนิรันดร สีหาราช ปลัดอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า อำเภอสวนผึ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กสศ. บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 และหน่วยงานในพื้นที่ ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่ โดยมองว่า ‘สวนผึ้ง’ ที่เป็นอำเภอนำร่องแห่งแรกของโครงการ ‘Zero Dropout’ จะเป็นต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งมีความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และตระหนักว่าต้องสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกับการสร้างระบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตามบริบทของพื้นที่และความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข พร้อมกับการพัฒนาทักษะความรู้อย่างเต็มศักยภาพ และสามารถพึ่งพาตัวเองในการดำรงชีวิตได้
ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การทำงานในช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงของการทำงานเพื่อเรียนรู้บริบทและสถานการณ์ในพื้นที่จริง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายภาคีการทำงานระยะยาว เป็นการเคลื่อนงานจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ iSEE ที่ช่วยชี้เป้าและสะท้อนสภาพปัญหาระดับจังหวัด สู่ภาคปฏิบัติในการลงพื้นที่เพื่อสร้างความชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาของนักเรียน คุณครู และโรงเรียน ที่เป็นข้อมูลรายคนและรายโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการเรียนการสอนและการช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาส วันนี้พอเข้าใจภาพของสภาพปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น และอาจแบ่งกลุ่มเด็กที่มีแนวโน้มการหลุดออกจากระบบโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี ออกเป็น 2 กลุ่มสาเหตุสำคัญ ได้แก่
1) ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนมาก (High Education Cost to Earning) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนครอบคลุมจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล และมักจะสูงเป็นพิเศษสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษที่มีความด้อยโอกาสหลายมิติซ้ำซ้อนทั้งด้านสุขภาพ สภาพครอบครัว และความทุรกันดารห่างไกลของที่อยู่อาศัย
2) การประเมินผลตอบแทนจากการศึกษาในอนาคต (Perceived Benefits of Education) ของครัวเรือน เนื่องจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษจำเป็นต้องให้บุตรหลานเริ่มทำงานหารายได้ตั้งแต่เข้าสู่วัยแรงงานเมื่ออายุ 15 ปี การศึกษาต่อแบบเต็มเวลาหลังภาคบังคับ หรือมหาวิทยาลัยจึงไม่ตอบโจทย์ที่เร่งด่วนของครัวเรือนเหล่านี้ การแก้ไขปัญหาในที่ยั่งยืนจึงต้องอาศัยมาตรการลดต้นทุนการศึกษา และ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และตอบโจทย์ของประชากรกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ในพื้นที่
ทั้งนี้ความช่วยเหลือได้เริ่มการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่เร่งด่วนที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา เป็นนักเรียนชั้น ป. 6 ที่เป็นกลุ่มรอยต่อของการเปลี่ยนโรงเรียน ซึ่งน้อง ๆ เป็นกลุ่มที่ต้องการการศึกษาพิเศษ มีทั้งเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ พิการ หรือบางคนก็หลุดการศึกษาไปแล้ว 1 ปีเต็ม รวมทั้งที่ในช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนออนไลน์ ทำให้ต้องการช่วยเหลือในการหาโรงเรียนที่จะต้องศึกษาในระดับชั้นต่อไป เช่น โรงเรียนรุจิรพัฒน์ เป็นโรงเรียนประจำที่มีรูปแบบเฉพาะทางในการดูแลเด็ก โดยไม่เน้นวิชาการ แต่จะมุ่งไปยังกิจกรรมฝึกอาชีพ ค้นหาความถนัดของตัวเอง ส่งเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ขณะเดียวกันยังได้มีการเชื่อมต่อไปยังสถาบันการศึกษาสายอาชีพ 5 สถาบัน ซึ่งพร้อมรองรับเด็กเมื่อจบชั้น ม.3 และมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อ รวมถึงยังร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ในการผลักดันเข้าสู่สถานประกอบการในอนาคต
“กสศ. ทำงานร่วมกับ มจธ. ซึ่งเป็นภาคีภาควิชาการในพื้นที่ ที่ช่วยวางแผนงานหรือ Roadmap สร้างฐานข้อมูลเชิงลึกเพื่ออำนวยให้เกิดระบบติดตามดูแลช่วยเหลือ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือป้องกันการออกกลางคันในอนาคตให้ได้ การพัฒนาออกแบบกลไกการช่วยเหลือและนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ อีกทั้งต้องเข้าไปเสริมหนุนให้เกิดการสร้างความร่วมมือของคนในพื้นที่ที่ลงถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล/เทศบาล และจังหวัด ภาคีประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการพื้นที่ ให้ร่วมมือกันในฐานะเจ้าภาพจัดการพื้นที่การศึกษา (Area-based Education) เพื่อให้วาระความเสมอภาคทางการศึกษามีแนวทางและกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว”
ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ จากแสนสิริได้ทาง Facebook : Sansiri PLC,
https://blog.sansiri.com/zero-dropout-main/ และ #SANSIRI #ZeroDropout #YOUAreMadeForLife