ไม่เพียงมีลูกค้าผู้ใช้งานมากกว่า 4 ล้านราย ล่าสุด ทรูได้ออกมาคาดการณ์ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยว่ามีแนวโน้มเติบโตมากถึงปีละ 1 ล้านแอคเคาน์ พร้อมเผยความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่นอกจากจะเน้นเรื่องความเร็วของอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังต้องการโซลูชันสำหรับการใช้ชีวิตที่อัจฉริยะมากขึ้น เช่น กล้อง IoT – โซลูชันคลาวด์ เพิ่มเข้ามาด้วย
สำหรับความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กำลังจะเปลี่ยนไปนี้ ดร.ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยว่า มาจากหลายปัจจัย “เราพบว่า Pain Point ของลูกค้าที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีหลายข้อ เช่น การมีพื้นที่ในบ้านเป็นจุดอับสัญญาณ หรือการซื้ออุปกรณ์ IoT มาแล้วเชื่อมต่อกับเครือข่ายไวไฟในบ้านไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Smart LivingTech ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ IoT”
“นอกจากนั้น ที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า Smart Solution หรือ Cloud Solution กันมาเยอะมาก แต่ในทางปฏิบัติ มันใช้งานอย่างไร นั่นคือที่มาของการชวนลูกค้ามาทำให้บ้านสมาร์ทขึ้น ซึ่งการจะชวนลูกค้าไปต่อได้นั้น เราต้องทราบก่อนว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ซึ่งเราก็เลยพบว่า จุดแรกอาจเป็นเรื่องของ Home Security ทรูจึงได้นำกล้อง CCTV มาให้ลูกค้าได้ทดลองเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Smart LivingTech แล้วหลังจากนี้มันจะค่อย ๆ เชื่อมโยงกันไปทั้งหมด“
ผู้บริหารทรูยังเผยด้วยว่า ในอนาคตอันใกล้ การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะถูกผนวกลงในบริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ในรถผู้บริหาร หรือยานพาหนะรูปแบบต่าง ๆ พร้อมชี้ว่า สิ่งที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคตนั้นไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องความเร็วอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การตอบสนองในด้านความบันเทิง หรือพัฒนาไปสู่ระบบรักษาความปลอดภัย ตลอดจนเทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพ (HealthTech)
ปัจจุบัน ผู้ใช้งานเน็ตบ้านของทรูมีอยู่ 4.6 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งานแพกเกจความเร็ว 1Gbps ขึ้นไปกว่า 50% ของฐานลูกค้าทั้งหมด
ดึง “หนุ่ม-กรรชัย” ตอบโจทย์ด้านแบรนดิ้ง
คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังได้กล่าวถึงการดึงพิธีกรคนดัง “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” เป็นพรีเซนเตอร์ของแคมเปญ True Gigatex PRO Life ว่า มาจากโจทย์ของทรู ที่ต้องการ Go Beyond Speed
“ข้อมูลจากการทำ Customer Voice ของเราพบว่า นอกจากเรื่องสปีดที่คนไทยพูดถึงกันมากแล้ว ก็คือเรื่องความเสถียร ลูกค้าบอกเยอะมากว่า สปีดเยอะแต่ไม่เสถียรไม่มีประโยชน์”
“นอกจากนั้น คุณหนุ่มยังเป็นลูกค้าของทรูออนไลน์ตั้งแต่ Day 1 พอเราได้คุยกับแก ก็พบว่า นอกจากจะเป็นพิธีกรมืออาชีพแล้ว แกยังเป็นคุณพ่อมืออาชีพด้วย แม้จะจัดรายการตลอดเวลา แต่วันอาทิตย์แกจะอยู่บ้าน ไม่รับงานใด ๆ จึงเป็นที่มาที่เรามองว่า คุณหนุ่มน่าจะเหมาะ เพราะโซลูชันของทรูสามารถเข้าไปช่วยยกระดับชีวิตของลูกค้าในบ้านจากโปรอยู่แล้วให้โปรยิ่งขึ้นได้อีก”
“ภาพของคุณหนุ่ม – กรรชัย สะท้อนความเป็น Smart LivingTech โดยมี True Gigatex เป็นตัวเชื่อมโยง แต่ทรูจะมีการทำงานกับคุณหนุ่มเพิ่มเติมหลังจากนี้ในภาคสังคมอีกหลายโปรเจ็ค ว่าเราจะเอาสัญญาณในการเชื่อมต่อไปเป็นสัญญาณในการดูแลคนไทยอย่างไร ทำให้เกิดโซลูชันต่อสังคมอย่างไร”
ตลาดเน็ตความเร็วสูงเติบโตเชิงบวก
สำหรับตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 2Gbps นั้น คุณธนภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ทรูออนไลน์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยว่า เห็นการเติบโตเชิงบวก จากการเปิดให้บริการแล้วในหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ประมาณกว่า 20 จังหวัด
คุณธนภูมิยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ภาพรวมของครัวเรือนในไทยปัจจุบันมีอยู่ราว 20 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้ มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมกันทุกค่ายประมาณ 11 ล้านครัวเรือน และทรูมีส่วนแบ่งตลาดในจุดนี้อยู่ราว 40%
ส่วนอนาคตของตลาดของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอาจมีโซลูชันสองแบบให้เลือก นั่นคือ การให้บริการผ่านเครือข่าย 5G กับแบบไฟเบอร์ แต่สำหรับไฟเบอร์ ทรูคาดการณ์ว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตราว 1 ล้านครัวเรือนต่อปี และมีส่วนแบ่งตลาดในจุดนี้ราว 30 – 40% ซึ่งทางบริษัทเผยว่าจะรักษาอัตราการเติบโตนี้ต่อไป
ด้านคุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งอนาคตของตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงคือเรื่องของสุขภาวะ (Health)
“ในอนาคตเราจะมีอุปกรณ์ IoT สำหรับช่วยวัดค่าต่าง ๆ ออกมามากมาย ในมุมของทรู เราสนใจอยู่ 3 ประเด็นคือ Heart, Health และ Home ถ้าเราสามารถทัชในสามประเด็นนี้ได้ เราจะอยู่ในใจของคนไทยได้นั่นเอง”
ดร.ธีรเดชกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมไม่ดูแค่เรื่องสปีด สปีดยังสำคัญมาก แต่เราเริ่มต่อยอด เริ่มแก้ปัญหาจากพื้นฐาน แล้วขยายให้ลูกค้าได้เข้าสู่ดิจิทัลไลฟ์สไตล์จริง ๆ และสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแพลตฟอร์มที่ลูกค้าไม่ต้องกังวลอีกต่อไป” ซึ่งไม่แน่ว่า นี่อาจเป็นประเด็นหลักของกลยุทธ์ทรูในปีนี้ก็เป็นได้