วิสัยทัศน์ใหม่ BEC World หรือ ช่อง 3 นับตั้งแต่ปี 2563 “ไม่ใช่แค่ทีวี” อีกต่อไป แต่ต้องการเป็น “ผู้นำคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย” วางกลยุทธ์ธุรกิจ Single Content – Multiple Platform นำละครไทย ทำตลาด 3 ช่องทาง คือ ออกอากาศทางช่อง 3, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
นับจากนั้น ช่อง 3 ที่เผชิญกับภาวะขาดทุนในยุคทีวีดิจิทัล เริ่มกลับมาเห็น “กำไร” รายไตรมาสอีกครั้ง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยปิดปี 2564 ด้วยกำไร 761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 455% ถือเป็นผลประกอบการรายปีที่กลับมากำไรอีกครั้งในรอบ 3 ปี
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของช่อง 3 ในปี 2565 “ธุรกิจทีวี” ต้องการสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มในกลุ่มหัวเมืองใหญ่ ขยายฐานผู้ชมใหม่ พร้อมสร้างรายได้ใหม่ในธุรกิจอื่น ทั้งการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในต่างประเทศ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพลง ภาพยนตร์ โดยปีนี้ธุรกิจอื่นๆ (ที่ไม่ใช่โฆษณาทีวี) วางตัวเลขไว้ที่ 1,000 ล้านบาท
เปิดตัว BEC Studios สร้างการเติบโตใหม่
การสร้าง New S-curve เครื่องยนต์การเติบโตใหม่ให้ ช่อง 3 เพื่อต่อยอดกลยุทธ์ธุรกิจ Single Content – Multiple Platform ในฝั่ง “คอนเทนต์” ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวหน่วยธุรกิจใหม่ “บีอีซี สตูดิโอ” (BEC Studios) ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ละครให้ช่อง 3 หรือ Internal Production เปรียบเป็นผู้จัดละครอีกราย และเป็นครั้งแรกที่ช่อง 3 ตั้ง หน่วยงานภายในขึ้นมาผลิตละครเอง
โดยแต่งตั้ง คุณบอย อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง นั่งเป็น กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจบีอีซี สตูดิโอ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ซึ่งก่อนหน้านั้น คุณอภิชาติ์ เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) และประสบการณ์ที่โดดเด่นในฝั่งคอนเทนต์ระหว่างปี 2560 – 2564 เคยเป็น กรรมการผู้จัดการ ทรูซีเจครีเอชั่น (บริษัทร่วมทุนระหว่าง ทรู กับ CJ E&M จากเกาหลีใต้ ผู้นำธุรกิจบันเทิงครบวงจรในเอเชีย)
ช่อง 3 วางภารกิจให้ BEC Studios เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์แบบครบวงจร ผลิตละครเพื่อออกอากาศทางช่อง 3, สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์ม CH3Plus และแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสร้าง Original Contents และ On-demand Contents ให้กับผู้บริการแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ
BEC Studios ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจคอนเทนต์ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต เช่น การพัฒนาทีมบทละคร, ทีม Post production studio, ทีม CG-Computer Graphics รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับสตูดิโอระดับสากลในการทำ Co-production
การเปิดตัว BEC Studios ผู้ผลิตคอนเทนต์ครบวงจร ช่อง 3 ต้องการสร้าง New S-curve โอกาสการเติบโต Soft Power คอนเทนต์ละครไทยในตลาดโลก และเป็นเครื่องยนต์ผลักดันการเติบโตให้บีอีซี
ต่อยอด Soft Power ไทยเจาะตลาดโลก
หลังจากเข้ามานำทัพบริหาร BEC Studios ตั้งแต่กรกฎาคม 2564 คุณอภิชาติ์ ได้สรุปแผนธุรกิจและเป้าหมาย บีอีซี สตูดิโอ ได้ดังนี้
– พัฒนาคอนเทนต์ไทยและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในรูปแบบ Original Contents และ Co-Production ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ รองรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
– ยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงและการผลิตคอนเทนต์ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตคอนเทนต์เพื่อออกอากาศทางช่อง 3 และดิจิทัลแพลตฟอร์ม 3Plus รวมถึงออกอากาศบนแพลตฟอร์มพันธมิตรอื่นๆ
– ต่อยอด Soft Power คอนเทนต์ไทยไปต่างประเทศ โดยต้องมี 3 เรื่อง
1. บทต้องเป็นสากล (Universal) ที่ต่างชาติเข้าใจ เพราะในยุค Globalization คนทั่วโลกเข้าถึงคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ ได้เหมือนกันทั่วโลก จะเห็นได้ว่าในยุคนี้ “คนดูพัฒนาการดูคอนเทนต์ไปกับโลกเทคโนโลยีมากขึ้น” ดังนั้นผู้ผลิตคอนเทนต์ก็ต้องปรับตัวไปตามผู้ชม ทุก Gen มากขึ้น ต้องรู้ว่าผู้ชมต้องการเสพคอนเทนต์แบบไหน เรียนรู้ว่าแต่ละประเทศมีความสนใจเนื้อหาแบบไหนเพื่อผลิตและส่งออกคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์
2. วิธีการถ่ายทำ ที่เป็นมาตรฐานสากล
3. นักแสดง ตลาดต่างประเทศสนใจและชื่นชอบ ปัจจุบันนักแสดงไทยมีฐานแฟนคลับในหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย ตลาดใหญ่คือจีน
หากดูความสำเร็จของ Soft Power อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ที่ไปเติบโตและทรงอิทธิพลในตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว ก็เริ่มจากการขายตลาดในประเทศก่อน จนมาถึงวันที่ไม่สามารถเติบโตได้อีก ก็เริ่มไปบุกตลาดโลก โดยส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลสนับสนุน แต่อีกปัจจัยสำคัญมาจากพัฒนาการของผู้ผลิตในประเทศ
ตัวอย่าง บริษัทที่ประสบความสำเร็จ Studio Dragon ผู้ผลิตซีรีส์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ ในเครือ CJ Group เจ้าของผลงานยอดฮิต เช่น Vincenzo, Crash Landing on You, The King: Eternal Monarch, It’s Okay to Not Be Okay ,START-UP, Hometown Cha-Cha-Cha เมื่อประสบความสำเร็จในประเทศ ก็เริ่มออกไปทำตลาดต่างประเทศ ขายคอนเทนต์ได้เงินมากขึ้น ก็มีงบประมาณมาผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพดีขึ้น คนทำงานมีประสบการณ์และเก่งขึ้น การทำตลาดกว้างขึ้น จึงเติบโตได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดย Studio Dragon เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ และให้ลิขสิทธิ์สตรีมมิ่งบน Netflix ไปทั่วโลก 6-8 เรื่องต่อปี
“ประสบการณ์เรียนรู้การทำงานจาก CJ ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่เกาหลี เมื่อมานำทัพบีอีซี สตูดิโอ ก็ต้องการสร้างผลงานในแบบไทย เพราะเชื่อว่าการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของแต่ละประเทศมีรสชาติที่แตกต่างกัน และเราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนใคร แต่สิ่งที่เป็นสากล อย่าง การเล่าเรื่อง การผลิต ต้องทำให้ได้ สร้าง Soft Power แบบไทยที่แข่งขันในตลาดโลกได้”
วาง 4 กลยุทธ์ต่อจิ๊กซอว์คอนเทนต์ ช่อง 3 บุกตลาดโลก
สำหรับแผนธุรกิจผลิตคอนเทนต์ของ BEC Studios เพื่อยกระดับคอนเทนต์ไทยให้ไปต่างประเทศ วางกลยุทธ์ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ แบ่งการทำงานเป็น 4 ส่วนหลัก
1.สตูดิโอ (Studio Management)
ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงสตูดิโอหนองแขมพื้นที่ 72 ไร่ เพื่อใช้ในการผลิตและถ่ายทำคอนเทนต์ “สตูดิโอ” เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ที่สำคัญเพื่อทำให้คุณภาพการผลิตคอนเทนต์แข็งแรงขึ้น โดยเริ่มลงทุนมเฟสแรก Soundstage Studio มูลค่า 400 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 สตูดิโอ ขนาด 2,000 ตารางเมตร 2 สตูดิโอ, ขนาด 1,500 ตารางเมตร 2 สตูดิโอ และ ขนาด 800 ตารางเมตร 2 สตูดิโอ
Soundstage Studio เป็นการลดข้อจำกัดในการผลิตหลายเรื่อง เพราะสามารถสร้างแบ็คกราวด์เป็นสถานที่อะไรก็ได้ ควบคุมแสงสีตามเรื่องราวได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลเรื่องถ่ายทำไม่ทันแสงธรรมชาติ เช่น กลางวัน กลางคืน เซ็ตถ่ายทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอเวลาจริง สามารถเซ็ตสถานที่ที่ไม่สามารถเข้าไปขอถ่ายทำได้ หรือมีหลายสถานที่ต้องถ่ายทำในเวลาจำกัด โดยสามารถเซ็ตทุกสถานที่หรือฉากมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน ตัดเสียงรบกวนจากโลเคชั่นจริง
ที่ผ่านมาการผลิตคอนเทนต์ไทยมักถ่ายทำจากโลเคชั่นจริง ซึ่งมีต้นทุนสูง มีข้อจำกัดในการถ่ายทำ จึงติดล็อกวิธีการเล่าเรื่อง แต่หากดูซีรีส์เกาหลี จะรู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าไปในโลกของซีรีส์ จากวิถีการเล่าเรื่องตัวละคร โลเคชั่นหลายฉาก เดินเรื่องเร็ว นั่นคือวิธีการพาผู้ชมเข้าไปอยู่ในโลกของซีรีส์ มาจากวิธีการถ่ายทำผ่าน Soundstage Studio ที่สามารถเซ็ตฉากทั้งหมดให้อยู่ในสตูดิโอเดียว
ซีรีส์เกาหลีใช้เวลาถ่ายทำ 1 เรื่อง 3-4 เดือน (ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์) แต่ละครไทยใช้เวลาถ่ายทำ 7 เดือนครึ่ง (ทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์) จากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งวิธีการทำงาน คิวนักแสดง โลเคชั่นถ่ายทำ หากสามารถปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ได้ก็จะเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิต Soft Power ไทย ทำงานร่วมกับผู้ผลิตต่างประเทศและสู่ระดับโลกได้
ขณะนี้ Soundstage Studio กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ หลังจากนั้นจะขยายเฟสสอง สร้าง Lot Locations Studio และเฟสสาม สร้าง Back Lot Studio ตามมา
2.พัฒนานักเขียนบท (Creative Script Writer Team)
หัวใจสำคัญของคอนเทนต์ คือ การเล่าเรื่อง (Storytelling) นั่นคือการสร้างบทที่เป็น “สากล” เพื่อทำให้ละครไทยเข้าไปทำตลาดต่างประเทศแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้ BEC Studio จึงวางกลยุทธ์ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” โดยเริ่มโครงการ “นักคิดมากเรื่องกับนักเขียนเรื่องมาก” หรือ BEC Creator Program รุ่น 1 เป็นโปรแกรมพัฒนานักเขียนรุ่นใหม่ เริ่มโปรเจกต์แรกเมื่อเดือนเมษายน 2565 มีสนใจสมัคร 600 คน คัดเลือกคนเขียนบทมาได้ 35 คน หลากหลายอาชีพที่มีความสนใจการเขียนบท มีทั้งคุณหมอด้านศัลยกรรมระบบประสาท, สถาปนิก, ครีเอทีฟจากเอเยนซี่ชื่อดัง เพื่อมาเข้าฝึกอบรมเวิร์กช็อปการเขียนบทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต 10 สัปดาห์ เป็นการเฟ้นหาคนเขียนบทและวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ในการผลิตละคร
นอกจากนี้ได้ร่วมมือทางวิชาการกับ 12 มหาวิทยาลัย เพื่อนำหลักสูตรด้านการผลิตคอนเทนต์ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องและเขียนบท เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมบันเทิง และเปิดพื้นที่ให้ BEC Studio เป็นเวทีแสดงความสามารถให้กับคนรุ่นใหม่
“ไอเดียเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่สิ่งสำคัญคือพื้นฐานของความคิด ต้องมาจากการคิดเป็นระบบ จึงมีความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษา วางพื้นฐานให้คนรุ่นใหม่ เรียนรู้สร้างงานที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้”
3. การผลิต (Production)
BEC Studios เป็นทีมผลิต Internal Production ของช่อง 3 ทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานละครโทรทัศน์ และซีรี่ส์ แบบ Original Contents เพื่อออกอากาศทางช่อง 3 และแพลตฟอร์มออนไลน์ มีผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ทีมผลิต ปัจจุบันมีบุคลากรราว 40 คน
ปีนี้เปิดตัวผลิตละครใหม่ 3 เรื่อง โดย 2 เรื่องแรก คือ “มือปราบกระทะรั่ว” และ “เกมโกงเกมส์” ใช้ทีมงานของ BEC Studio และเรื่องที่ 3 คือ “ร้อยเล่ม เกมส์ออฟฟิศ” เป็นการร่วมมือกับผู้จัด คุณตู่ ปิยวดี มาลีนนท์ จากบริษัท เวลาดี 2020 จำกัด โดยละครทั้ง 3 เรื่อง จะออกอากาศทางช่อง 3, แอป 3Plus และขายลิขสิทธิ์
แต่ละปี ช่อง 3 ร่วมกับผู้จัดต่างๆ ผลิตละครปีละ 25-35 เรื่อง การเปิดตัว BEC Studios เริ่มผลิต 3 เรื่องในปีนี้ หวังทำตลาดไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ผลิตกำลังอยู่ในช่วงปรับทิศทางการทำคอนเทนต์ที่ต้องโฟกัน 2 ตลาดไปพร้อมกัน เพราะหากทำให้คนไทยชอบคอนเทนต์ได้ ก็มีโอกาสขายตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน
ตามแผนขยายการลงทุนของ BEC Studios ทีมงานสามารถรองรับการผลิตคอนเทนต์ได้ปีละ 10 เรื่อง ทั้งละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ การร่วมผลิตกับพันธมิตร รวมทั้งการรับจ้างผลิต Original Contents ให้กับแพลตฟอร์ม OTT ในอนาคต และ BEC Studio มีเป้าหมายชัดเจน คือผลิตคอนเทนต์ไปบุกตลาดต่างประเทศ
4. Post Production และ CG team
เป็นการทำงานร่วมกันของทีม Post Production Studio และ ทีม Virtual Art ที่รวมทีมตัดต่อ Editing, Color Grading, Computer Graphic, Virtual Production ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีแบบครบวงจร นอกจากนี้ BEC Studio ยังเป็นพันธมิตรกับสตูดิโอระดับสากลอื่น ๆ อีกด้วย ปัจจุบันมีการพูดเคยเรื่อง Co-Production กับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ ทั้งเกาหลีและจีน เพื่อโอกาสสร้างรายได้ในประเทศต่างๆ ที่เข้าไปร่วมผลิตและเปิดตลาดคอนเทนต์ให้กว้างขึ้น
“อนาคตของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ต้องมองหาตลาดใหญ่ขึ้น ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องทำให้ตัวเองเป็นผู้เล่นในระดับโกลบอล ไปหาโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศ จึงอยากเห็นละครหรือซีรีส์ไทยส่งออกไปต่างประเทศ สร้าง Soft Power ไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
หลังจาก เกาหลีใต้ ผลักดัน Soft Power อุตสาหกรรมบันเทิงแจ้งเกิดในตลาดโลกได้แล้ว ในเอเชียต่างมองว่าโอกาสเกิด rising star ต่อจากเกาหลี จับตามาที่ประเทศไทย จากดารา นักแสดงที่โดดเด่น ภูมิประเทศอยู่ตรงกลางของเอเชีย เป็นพันธมิตรกับทุกประเทศ จึงสามารถสร้างคอนเทนต์เข้าไปทำตลาดได้ในทุกประเทศเอเชีย
อ่านเพิ่มเติม
- กรรมกรข่าว ‘สรยุทธ’ พาช่อง 3 กลับมาแล้ว ปี 64 โชว์กำไร 761 ล้าน หลังขาดทุน 3 ปี
- วิชั่นใหม่ “ช่อง 3” ไม่ใช่แค่ทีวี แต่ขอเป็นยักษ์ใหญ่ผลิตคอนเทนต์ทุกแพลตฟอร์ม