ธุรกิจโชว์บิซ คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี เจอพิษโควิด-19 มา 2 ปีเต็ม ทิศทางในปี 2565 สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ประเทศไทยเตรียมประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น การจัดกิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับสู่ปกติอีกครั้ง
“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ผู้ผลิตเพลง และ Content Creator Hub รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกาศไลน์อัพ คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี ปี 2565 รวม 17 อีเวนท์ รวมทั้งเทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย Big Mountain Music Festival เขาใหญ่ (BMMF12) เตรียมจัดงานในวันที่ 10-11 ธันวาคม 2565 (หลังจากหยุดไปในปี 2564)
ไลน์อัพคอนเสิร์ต ปี 2565
– ไตรมาส 2/65 Lifestyle Music Festival 1 งาน
– ไตรมาส 3/65 Theme Concert 2 งาน, Solo Concert 1 งาน และ Retro Concert 1 งาน รวม 4 งาน
– ไตรมาส 4/65 Music Festival 3 งาน, Lifestyle Music Festival 2 งาน, Theme Concert 4 งาน, Solo Concert 2 งาน และ Retro Concert 1 งาน รวม 12 งาน
ไลน์อัพคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ที่ประกาศออกมาแล้ว
– พฤศจิกายน 2565
เชียงใหม่ – เชียงใหญ่เฟส
กรุงเทพฯ – Monster Music Festival
– ธันวาคม 2565
นครราชสีมา – Big Mountain Music Festival
นครราชสีมา – นั่งเล่น Music Festival
นอกจากนี้ยังมีไลน์อัพ ปี 2566 ออกมาแล้วบางส่วน
– กุมภาพันธ์ 2566
ขอนแก่น – เฉียงเหนือเฟส
เพชรบูรณ์ – Rock Mountain
– มีนาคม 2566
สงขลา – พุ่งใต้เฟส
– เมษายน 2566
เพชรบุรี – นั่งเล Music Festival
ส่องรายได้ธุรกิจโชว์บิซแกรมมี่
“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” มี 5 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเพลง (GMM Music), โฮมช้อปปิ้ง (O Shopping), ภาพยนตร์ (GDH), GMM Z แพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม และธุรกิจร่วมทุน (กลุ่มเดอะวัน, YGMM)
“ธุรกิจเพลง” ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจดิจิทัลมิวสิค,จัดเก็บลิขสิทธิ์, บริหารศิลปิน, โชว์บิซ (คอนเสิร์ตและเฟสติวัล), ธุรกิจเมอร์เชนไดส์ (สินค้าของศิลปิน) เป็นธุรกิจหลักทำรายได้สูงสุดให้จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ก่อนโควิดปี 2562 มีรายได้รวม 6,640 ล้านบาท ธุรกิจเพลงทำรายได้สูงถึง 4,014 ล้านบาท หรือสัดส่วน 60%
ช่วงสถานการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเพลง ในฝั่งดิจิทัล มิวสิค ยังเติบโตได้ 20% แต่ธุรกิจโชว์บิซ ได้รับผลกระทบหลักจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสถานบันเทิง และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดที่ไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตซึ่งเป็นกิจการรวมกลุ่มได้
เห็นได้จากตัวเลขรายได้ “โชว์บิซ” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง
– ปี 2562 รายได้ 2,043 ล้านบาท สัดส่วน 30.8% ของรายได้รวม GMM มูลค่า 6,640 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 1,260 ล้านบาท สัดส่วน 25% ของรายได้รวม GMM มูลค่า 5,032 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 421 ล้านบาท สัดส่วน 10% ของรายได้รวม GMM มูลค่า 4,215 ล้านบาท
ในปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่โควิดระบาดรุนแรง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่สามารถจัดโชว์บิซ ออนกราวด์ได้ ทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลงอย่างมาก แต่ปี 2565 เห็นปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาปกติ
โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้จัดคอนเสิร์ตไปแล้ว 1 งาน “นั่งเล Beach Party And Music Festival” ริมหาดชะอำ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน ถือว่ามีกระแสตอบรับดี ตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้จึงเตรียมกลับมาจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าชมหลัก 10,000 คนขึ้นไปอีกครั้ง
หลังจากธุรกิจโชว์บิซกลับมาจัดงานได้อีกครั้งปีนี้ รวมทั้งการเปิดให้บริการสถานบันเทิง ผับบาร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ทำให้รายได้ในฝั่งบริหารศิลปินและธุรกิจจัดเก็บลิขสิทธิ์จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่คาดว่าปี 2565 ธุรกิจเพลงจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม