ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ธุรกิจส่งอาหารถึงที่พัก หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างร้อนแรง จากก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถออกจากบ้านหรือนั่งกินในร้านได้ตามปกติ จึงหันมาสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ส่วนร้านค้าที่ปิดพื้นที่นั่งทานในร้าน ก็ปรับตัวมาขายผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น ทำให้สมรภูมินี้คักคัก เกิดคู่แข่งในตลาดเป็นจำนวนมาก
แน่นอนว่า การที่ตลาดมีผู้เล่นจำนวนมาก ผู้ให้บริการแต่ละรายต้องงัดโปรโมชั่นเพื่อมาเป็นจุดขายดึงดูดลูกค้าและร้านอาหารกันอย่างดุเดือด ประกอบกับแรงกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแรงจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนต่างๆ ขยับตัวสูงขึ้น จึงทำให้โจทย์การทำตลาดในสังเวียนนี้จึง “ท้าทาย” ยิ่งกว่าเดิม ทิศทางของตลาด Food Delivery ในครึ่งปีแรกของปี 2565 จะเติบโตอย่างไร? ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ตลาด พร้อมพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งพบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้
ครึ่งปีแรก Food Delivery ยังโต 19% แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปลายปี 2564
แม้ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลายและภาครัฐผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคออกมานั่งรับประทานอาหารในร้านมากขึ้น แต่เปิดศักราชใหม่ 2565 มาไม่กี่สัปดาห์ ผู้ประกอบการ Food Delivery ก็ต้องเจอโจทย์ท้าทายจากสถานการณ์ราคาสินค้าแพงขึ้นหลายรายการ ทำให้ต้นทุนขยับสูงขึ้น และอาจส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มปรับตัวทั้งด้านความถี่ ราคา และประเภทอาหารที่สั่ง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จำนวนการสั่งซื้ออาหารไปยังที่พักจะขยายตัวราว 19% (YoY) เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่จำนวนการสั่งซื้อในครึ่งแรกปี 2565 อาจจะ “ชะลอตัว” ลงเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564
แม้ธุรกิจ Food Delivery จะชะลอตัวลงจากปลายปี 2564 แต่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% จะยังคงใช้งานแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารเท่าเดิมถึงเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังสูงและสถานประกอบการยังให้ทำงานแบบ Hybrid Work กอปรกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและร้านอาหารยังคงทำการตลาดและอัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการสั่งอาหาร ควบคู่ไปกับการขยายการใช้งานไปยังผู้ใช้ใหม่ๆ
ขณะที่ข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai พบว่า ดัชนีร้านอาหารที่เข้าสู่แพลตฟอร์มในเดือน ม.ค. 65 ยังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ดัชนีชี้วัดปริมาณการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก “ชะลอ” ลงจากช่วงปลายปีก่อน แต่ยังสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
“ราคาอาหาร-ค่าครองชีพ-การแข่งขัน” 3 โจทย์ยากที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ
แม้ Food Delivery ยังมีการขยายตัว แต่จากสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผู้ประกอบการต้องเผชิญโจทย์ท้าทายมากขึ้น ใน 3 ด้าน ดังนี้
1.การปรับขึ้นราคาอาหารและค่าจัดส่งทำได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนกลับเร่งตัวขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า หากร้านอาหารขึ้นราคาอาหารหรือค่าจัดส่ง กลุ่มตัวอย่างราว 53% มีแนวโน้มจะลดค่าใช้จ่ายในด้านอาหารลง และบางส่วนจะทำอาหารทานเองมากขึ้น
2.ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและการใช้บริการแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี เพื่อรับมือกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น อันอาจทำให้จำนวนคำสั่งซื้อชะลอตัวลง โดยเฉพาะร้านอาหารประเภทเครื่องดื่ม ขนมหวานและเบเกอรี่ ร้านอาหารบนแพลตฟอร์มที่เน้นการให้บริการนั่งทานในร้าน และกลุ่มอาหารที่มีราคาระดับกลาง-สูง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้บริโภคกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น
3.การแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องทำการตลาดเพื่อจูงใจผู้บริโภค และดึงดูดร้านอาหารที่มีชื่อเสียงให้เข้ามาอยู่บนระบบตนอย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวและกลยุทธ์การทำตลาดให้เข้มข้นขึ้น เพราะเกมต่อจากนี้คือ บททดสอบและชี้วัด หากทุนไม่หนา แบรนด์ไม่แกร่ง การตลาดและบริการไม่เจ๋ง อาจจะอยู่รอดในสมรภูมินี้ยาก!