โนเกีย (Nokia) เผยสัญญาณการเติบโตของ 5G ในประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านบริษัทต่างชาติที่ต้องการลงทุนด้าน Private Network ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยพบความต้องการจากแบรนด์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตั้งเป้าสร้าง Pilot Project ด้าน Private Network ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ พร้อมชี้ว่า การมุ่งสู่โรงงานอัจฉริยะของประเทศไทยจะมีต้นทุนที่ถูกลงหากหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. จะมีการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่เหมาะสม เช่น การกำหนดคลื่นความถี่ 5G สำหรับการใช้งานในระดับ Enterprise ขึ้นเป็นการเฉพาะ รวมถึงมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการประมูลคลื่นความถี่ที่แตกต่างกันตามการใช้งาน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โนเกีย มีการให้บริการ Private Network (เครือข่ายไร้สายแบบส่วนตัว) สำหรับภาคอุตสาหกรรมอยู่กว่า 450 แห่งทั่วโลก แต่ในจำนวนนี้ยังไม่มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเลย ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะสามารถสร้าง Pilot Project ได้ 1 – 2 โครงการภายในปีนี้
ส่วนในแง่ของการทำงานกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีไลเซนต์ในมือนั้น คุณฐิติพันธุ์ วรกุลลัฎฐานีย์ ผู้บริหารฝ่ายขายองค์กร (Enterprise Sales Leader) บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทย เผยว่า พร้อมทำงานกับทุกค่ายทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค และ NT โดยจะโฟกัสไปที่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
สำหรับการสร้าง Private Network บนเครือข่าย 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น ทางผู้บริหารโนเกียเผยว่า เห็นความต้องการจากลูกค้าในระดับ Global Player ที่มาจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พร้อมยกตัวอย่างว่ามีธุรกิจเคมีคอล ซึ่งมีการใช้โซลูชันของโนเกียอยู่แล้วในต่างประเทศ และต้องการใช้โซลูชันของโนเกียในประเทศไทยด้วย
ส่วนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศที่สนใจ ทางโนเกีย ประเทศไทยก็เผยว่าพร้อมให้ข้อมูล – คำแนะนำด้านโซลูชันต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ปัจจุบัน ทางบริษัทมีเคสการประยุกต์ใช้ 5G แล้วใน 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-Curve ของโลก ซึ่งประกอบด้วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- BioFuel & BioChemical
- Digital Economy
- Medical Hub
- Automation and Robotics
- Aviation and Logistics
- Agricultural and BioTechnology
- Smart Electronics
- Affluent Medical and Wellness Tourism
- Next Generation Automotive
- Food for the future
“สำหรับประเทศไทยที่ยังคงเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีความจำเป็นอย่างมากที่องค์กรในประเทศจะเร่งผลักดันการยอมรับเทคโนโลยี 5G รวมถึงการเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการเชื่อมต่อไร้สายแบบ Private Network สามารถช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเชื่อมต่อเครื่องจักร พนักงาน และเซนเซอร์เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีความปลอดภัย และยืดหยุ่นต่อภาคการผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรระดับ Enterprise นั่นเอง” คุณฐิติพันธุ์กล่าว พร้อมอธิบายถึงการบริหารจัดการคลื่น 5G ในหลายประเทศที่จะมีการกำหนดช่วงคลื่นสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ (Enterprise License) ไม่ให้มาปะปนกับการใช้งานในธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศก็มีการสนับสนุนให้มีค่าใช้จ่ายในการประมูลที่น้อยกว่า เพื่อให้ภาคการผลิตมีต้นทุนที่ถูกลง และสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นนั่นเอง