การลาออกของพนักงาน Gen Z ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาจทำให้หลายบริษัทเกิดความสงสัยว่า เหตุผลกลใดพวกเขาจึงต้องออกจากงานกัน ซึ่งล่าสุดมีอีกหนึ่งคำตอบจากทาง TalendLMS และ BambooHR ที่ได้ทำการสำรวจพนักงาน Gen Z ที่ทำงานมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จำนวน 1,205 คน (อายุระหว่าง 19 – 25 ปี) ในสหรัฐอเมริกาและพบว่า พนักงาน Gen Z โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มทำงานในยุค Covid-19 ระบาดนั้น มีความเครียดสูง และสิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจริง ๆ ไม่ใช่การพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์
10 เหตุผลทำคน Gen Z ลาออก
TalendLMS และ BambooHR ยังได้ทำแบบสำรวจถึงเหตุผลของการลาออกของพนักงาน Gen Z และพบว่ามีถึง 10 เหตุผลที่ทำให้พนักงานลาออกได้มากที่สุด ประกอบด้วย
- ไม่พอใจเงินเดือน 54%
- เกิดภาวะเบิร์นเอาท์จากการทำงาน รวมถึงไม่สามารถจัดการชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัวให้สมดุลได้ 42%
- ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองมี Passion 37%
- ขาดโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน 33%
- ไม่สามารถทำงานแบบ Remote Work ได้ 30%
- มีความเห็นขัดแย้งกับหัวหน้างาน 25%
- งานที่ทำนั้นขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 23%
- ไม่มีประกันสุขภาพที่เหมาะสม 20%
- ไม่มีโอกาสได้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน 19%
- ต้องแต่งตัวเป็นทางการ 16%
จากเหตุผลทั้ง 10 ข้อ หากพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจแล้วจะพบว่ามีอยู่หลายข้อเลยทีเดียว เช่น ข้อ 2 และข้อ 9 และถึงแม้ว่าชาว Gen Z จะมองหาตัวเลือกการทำงานแบบ Remote Work แต่ในผลการสำรวจชิ้นเดียวกันนี้ก็พบความจริงอีกข้อหนึ่งว่า 44% ของ Gen Z โดยเฉพาะพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงาน (ระดับ Entry-Level) นั้น บอกว่าการทำงานแบบ Remote Work ทำให้พวกเขารู้สึกเหงา และรู้สึกว่าขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
“Mental Health Day” ความจำเป็นของชาว Gen Z
ผลสำรวจของ TalendLMS และ BambooHR ชี้ว่า อาจจะดีกว่า หากบริษัทมีการจัด “Mental Health Day” หรือวันดูแลสุขภาพจิตใจให้กับพนักงานเป็นสวัสดิการเพิ่มเติม โดยหน้าที่ของวัน Mental Health Day ก็คือการเป็นวันที่พนักงานได้ทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียด เรียกความกระตือรือร้นกลับมา ซึ่งเชื่อว่าจะลดภาวะเบิร์นเอาท์ในหมู่พนักงาน Gen Z ลงได้
ทั้งนี้ ผู้จัดทำผลสำรวจบอกว่า การให้พนักงานหยุดพัก 1 – 2 วันเพื่อไปเที่ยว หรือพักอยู่บ้าน ไม่อาจเทียบกับได้การจัด Mental Health Day เพราะการลาหยุดพักผ่อนนั้นอาจไม่สามารถแก้ปมในใจ – ความเครียดที่สะสมมานานของพนักงานได้ และบางคนก็ยังต้องเจอความเครียดเหล่านั้นอยู่
ตรงกันข้ามกับกิจกรรมของวัน Mental Health Day ที่จะออกแบบมาเป็นการเฉพาะเพื่อให้พนักงานได้พักผ่อน และอยู่ห่าง ๆ จากสิ่งที่เป็นตัวการหลักของความเครียด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับงาน และบางองค์กรอาจออกแบบ Mental Health Day ให้กับพนักงานได้แบบรายบุคคล ซึ่งจะทำให้พนักงานที่ผ่านโปรแกรมดังกล่าวมีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้ในระยะยาวนั่นเอง