เส้นทางธุรกิจประกันชีวิตอายุ 80 ปี “ไทยประกันชีวิต” ถือเป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เป็นแบรนด์ของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย มีตระกูล “ไชยวรรณ” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ที่ราคา 16 บาท ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตในตลาดทุนไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมาร์เก็ตแคป 183,200 ล้านบาท (ณ ราคา IPO)
ทำความรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ “ไทยประกันชีวิต” (TLI) ธุรกิจประกันชีวิตของคนไทย น้องใหม่ IPO ที่มีมูลค่ามากสุดในปีนี้
1. ธุรกิจประกันชีวิตอายุ 80 ปีก่อตั้งโดยคนไทย
– ธุรกิจประกันชีวิตเริ่มกิจการในประเทศไทยราวปี 2472 โดยเป็นบริษัทประกันชีวิตของต่างชาติ ต่อมาปี 2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มคนไทยและข้าราชการในสมัยนั้นได้ก่อตั้งบริษัทประกันชีวิตของคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด
– “ไทยประกันชีวิต” เริ่มดำเนินกิจการประกันชีวิตครั้งแรกด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท และมีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่บนถนนเยาวราช กรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2500 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ตึกสหธนาคาร และในปี 2502 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ถนนราชดำเนิน
– กระทั่งในปี 2513 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารชุดใหม่มี “คุณวานิช ไชยวรรณ” เข้ามาปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารงานครั้งใหญ่ ตลอดจนวางแผนพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตสมัยใหม่ จนก้าวขึ้นสู่บริษัทประกันชีวิตแนวหน้าของคนไทยในปัจจุบัน
– ปัจจุบัน “ไทยประกันชีวิต” ถือหุ้นโดยตระกูลไชยวรรณ 85% และ Meiji Yasuda Life Insurance ธุรกิจประกันชีวิตรายใหญ่จากญี่ปุ่น 15% (เข้ามาร่วมถือหุ้นในปี 2556)
2. สร้างแบรนด์ด้วยหนังโฆษณา Sadvertising
“ไทยประกันชีวิต” ถือเป็นแบรนด์แรกและแบรนด์เดียว ที่สร้างเอกลักษณ์และการจดจำแบรนด์ผ่านหนังโฆษณา สะเทือนอารมณ์ซาบซึ้ง น้ำตาซึม มาหลายยุคหลายสมัย ในรูปแบบ Sadvertising บนแก่นคุณค่าของชีวิต คุณค่าความรัก และคุณค่าความเป็นมนุษย์ ใครเห็นก็จำได้ว่าเป็นหนังโฆษณาไทยประกันชีวิต ไม่ใช่แค่ได้รับการพูดถึงในประเทศไทยเท่านั้น แต่กลายเป็นกระแส Talk of The Town ของผู้คนทั่วโลก มียอดรับชมบนยูทูบกว่า 248 ล้านครั้ง
เริ่มจากปี 2546 กับภาพยนตร์โฆษณา “Peace of Mind” ภายใต้แนวคิด “คุณค่าของชีวิต” (Value of Life) ให้ผู้ชมได้ขบคิดว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร และคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่ไหน ที่โด่งดังใน ปี 2547 กับภาพยนตร์โฆษณา “Everlasting Love” หรือ “ปู่ชิว” ถ่ายทอดคุณค่าของชีวิตและความรักผ่านชายผู้รักษาคำสัญญาดูแลคนรักตลอดไป
ภาพยนตร์โฆษณา Unsung Hero ในปี 2557 เรื่องราวของชายธรรมดาคนหนึ่งที่เชื่อในความดีและเห็นคุณค่าของชีวิตตัวเองที่สามารถทำเพื่อคนอื่น เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่ขึ้น ได้รับการกล่าวถึงและชื่มชมจากสำนักข่าวต่างประเทศ มียอดรับชมในยูทูบกว่า 110 ล้านครั้ง
หนังโฆษณา Sadvertising ของไทยประกันชีวิต ยังเป็นเอกลักษณ์ Original ไม่มีใครเลียนแบบได้มาถึงปัจจุบัน
3. วิสัยทัศน์ใหม่ Life Solutions Provider
เส้นทางการเติบโตใหม่ของ “ไทยประกันชีวิต” คุณไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วางวิสัยทัศน์ใหม่ก้าวสู่ “บริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน” กำหนด Business Purpose ในการดำเนินธุรกิจสู่การเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล หรือ Life Solutions Provider
ยกระดับสู่การเป็น Data-Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบครบวงจร และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคล (Personalization) ในทุกช่วงชีวิต
“ในยุคดิจิทัล ลูกค้ามีความอดทนน้อยลง ต้องการสินค้าที่ Personalized มากขึ้น เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองไปเป็น Data-Driven Company เพราะในยุคนี้คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด รับมือยากที่สุด และคาดเดายากที่สุด คือคู่แข่งที่ไม่ได้ทำธุรกิจเดียวกับเรา แต่สามารถมาแย่งชิงตลาดและลูกค้าไปได้ จากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าหากเรารับมือเป็น ธุรกิจก็จะไม่เป็นอดีตแต่อยู่กับปัจจุบันและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
นั่นคือที่มาของการทบทวนธุรกิจและ Brand Purpose เพื่อให้ “ไทยประกันชีวิต” อยู่กับปัจจุบันและเติบโตต่อไปในอนาคต
4. เตรียม IPO เคาะราคาหุ้นละ 16 บาท
ภายใต้บิสซิเนสโมเดล Life Solutions Provider “ไทยประกันชีวิต” ได้เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยกำหนดราคา IPO หุ้นละ 16 บาท จำนวนรวมไม่เกิน 2,316 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน หรือ Greenshoe) คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.2% หลัง IPO โดยแบ่งออกเป็น
– การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 850,000,000 หุ้น
– การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,166,575,300 หุ้น
– การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น
– อาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) อีกจำนวนไม่เกิน 161,630,000 หุ้น
มูลค่าการเสนอขาย ไม่เกิน 34,481 ล้านบาท (ไม่รวม Greenshoe) หรือไม่เกิน 37,067 ล้านบาท (รวม Greenshoe)
5. เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ “ไทยประกันชีวิต”
– ก่อน IPO
1. กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ จำนวน 6,982 ล้านหุ้น สัดส่วน 65.87%
2. Meiji Yasuda Life Insurance จำนวน 1,590 ล้านหุ้น สัดส่วน 15%
3. Her Sing (H.K.) จำนวน 1,008 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.52%
4. คุณไชย ไชยวรรณ จำนวน 143 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.35%
5. คุณชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา จำนวน 142 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.35%
– หลัง IPO (กรณีไม่มี Greenshoe)
1. กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ จำนวน 5,815 ล้านหุ้น สัดส่วน 50.79%
2. Meiji Yasuda Life Insurance จำนวน 1,717 ล้านหุ้น สัดส่วน 15%
3. Her Sing (H.K.) จำนวน 870 ล้านหุ้น สัดส่วน 7.60%
4. คุณไชย ไชยวรรณ จำนวน 143 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.25%
5. คุณชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา จำนวน 142 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.25%
– บริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น โดยมีผู้ถือหุ้น 7 ราย ได้แก่ 1.คุณไชย ไชยวรรณ 23% 2.คุณวานิช ไชยวรรณ 20% 3.คุณวิญญู ไชยวรรณ 20% 4.คุณชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา 10% 5.คุณวรางค์ ไชยวรรณ 10% 6.คุณวีณา ไชยวรรณ 10% และ 7.คุณวีรเวท ไชยวรรณ 7%
– Meiji Yasuda Life Insurance ประกอบธุรกิจประกันชีวิตและเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น
– Her Sing (H.K.) Limited เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฮ่องกง ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น โดยมีผู้ถือหุ้น 2 ราย ได้แก่ 1. คุณวิญญู ไชยวรรณ 50% และ 2. คุณชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา 50%
6. IPO มูลค่าใหญ่สุดหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตตลาดทุนไทย
– ราคา IPO 16 บาทต่อหุ้น ทำให้ไทยประกันชีวิต เป็นหุ้น IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2565
– เป็น IPO ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย
– เป็น IPO ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากปี 2543 หรือในรอบ 22 ปี
– มาร์เก็ตแคป ณ ราคา IPO อยู่ที่ 183,200 ล้านบาท ถือเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 25 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
7. เข้าตลาดฯระดมทุน ลงทุนเทคโนโลยี
ไทยประกันชีวิต ธุรกิจอายุ 80 ปี ตัดสินใจเข้าตลาดฯ ในปีนี้ หลังจากเตรียมตัวมา 6-7 ปี เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม จากดอกเบี้ยขาขึ้น มีโอกาสสร้างกำไรจากการบริหารเงินทุนจากกรมธรรม์
วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนขายหุ้น IPO รวม 13,600 ล้านบาท ดังนี้
1. การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการทำตลาด 2,000 ล้านบาท ปี 2565-2567
2. เสริมสร้างความแข็งแกร่งช่องทางจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตร 5,400 ล้านบาท ปี 2567-2569
3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุนและสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ 6,200 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
8. ธุรกิจทำกำไรต่อเนื่อง 15 ปี
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ไทยประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์ มีช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งเครือข่ายตัวแทน ประกันชีวิตมืออาชีพ ที่มีจำนวนกว่า 64,000 คนทั่วประเทศ
รวมถึงการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตร และช่องทางอื่นๆ ปี 2564 ได้พัฒนาช่องทางขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นไทยประกันชีวิต หลังจากนี้จะพัฒนาช่องทางการขายร่วมกับ “อี-มาร์เก็ตเพลส”
ธุรกิจไทยประกันชีวิต ทำกำไรต่อเนื่องตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี
– ปี 2562 รายได้ 108,388 ล้านบาท กำไร 6,777 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 107,642 ล้านบาท กำไร 7,692 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 109,246 ล้านบาท กำไร 8,394 ล้านบาท
ปี 2564 ไทยประกันชีวิต สร้างกำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 11.3% ระหว่างปี 2562 – 2564 ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 15% เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรรมประกันชีวิตใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2553-2563 ประกันชีวิตเติบโตเฉลี่ยสะสม 7.3% ต่อปี ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ทั้งปัจจัยจีดีพีคาดเติบโต 4% ต่อปี ระหว่างปี 2565-2569 สังคมผู้สูงอายุทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ แนวโน้มเงินออมเพิ่มขึ้นหนึ่งในการออมคือประกันชีวิต และอัตราการเข้าถึงประกันชีวิตของคนไทยยังอยู่ระดับต่ำ 3.8% เมื่อเทียบกับภูมิภาค จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีก
9. เปิดจองซื้อหุ้น วันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม ผ่าน 14 บริษัท
ในการเสนอขายหุ้น IPO ของ TLI เปิดให้นักลงทุนที่เป็นลูกค้าของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จองซื้อระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2565 ผ่าน 14 บริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
– บล.เกียรตินาคินภัทร และ บล.โนมูระ พัฒนสิน ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
– บล. กรุงศรี, บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี และ บล.ฟินันซ่า เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายร่วม
– มีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8 รายประกอบด้วย บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) , บล.ทิสโก้, บล.ธนชาต, บล. บัวหลวง, บล.หยวนต้า, บล. เอเชีย พลัส, บล.ไทยพาณิชย์ และ บล.ไอร่า
– ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น หรือ Selling Agents สำหรับบุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เท่านั้น
วิธีจองซื้อหุ้น IPO ไทยประกันชีวิต หรือ TLI
การเสนอขายหุ้น IPO ไทยประกันชีวิต หรือ TLI สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (ลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์) บุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัท และพนักงานบริษัทไทยประกันชีวิต เปิดให้จองซื้อได้ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน- 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 9.00-16.00 น.
1. ผู้จองซื้อประเภทบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือ บุคคลทั่วไป เตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
2. ผู้จองซื้อประเภทบุคคลธรรมดาสัญชาติต่างด้าว เตรียมสำเนาใบต่างด้าวหรือสำเนาหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง โดยลายมือชื่อนั้นจะต้องตรงกับลายมือชื่อที่ลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจองซื้อทุกฉบับ
โดยต้องจองซื้อหุ้น IPO ขั้นต่ำจำนวน 1,000 หุ้น และจะต้องเพิ่มเป็นจำนวนทวีคูณของ 100 หุ้น
สำหรับการจำหน่ายหุ้นในส่วนนักลงทุนสถาบันได้รับความสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนรวม 18 ราย ลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้น TLI เพื่อเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นจำนวนหุ้นรวม 1,158.4 ล้านหุ้น หรือมูลค่า 18,500 ล้านบาท ประมาณ 50% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (รวม Greenshoe)
10. คาดหุ้น TLI เข้าซื้อขายปลายเดือนกรกฎาคม
สำหรับหุ้น TLI คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรก ปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ด้วยมาร์เก็ตแคป “ไทยประกันชีวิต” ณ ราคา IPO มูลค่า 183,200 ล้านบาท มีโอกาสลุ้น Fast Track เข้าคำนวณในดัชนี SET50 ซึ่งมี 2 เงื่อนไข
1. ราคาปิดซื้อขายวันแรก มาร์เก็ตแคป มีมูลค่าใหญ่เป็น 20 อันดับแรกของหุ้นในดัชนี SET50 เดิม
2. ราคาปิดซื้อขายวันแรก มาร์เก็ตแคป มีมูลค่าเป็น 1% ของมาร์เก็ตแคปหุ้นในตลาดฯ ปัจจุบันมูลค่ามาร์เก็ตแคปของตลาดฯ อยู่ที่ 18.6 ล้านล้านบาท (1% เท่ากับ 186,000 ล้านบาท) ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่ TLI จะเริ่มเทรด จึงมีโอกาสสูงมากที่จะเข้าเกณฑ์ Fast Track ดัชนี SET50
อ่านเพิ่มเติม