นักวิจัยสหรัฐฯ ล้ำไปอีกขั้น กับการพัฒนาสารจากพืช (Plant-Based) สำหรับเคลือบอาหาร โดยคาดว่าจะนำมาใช้แทนพลาสติกแรป (plastic wrap) ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ในเร็ววัน พร้อมตั้งเป้าพัฒนาเพิ่ม ให้ตัวฟิล์มชีวภาพทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ ตรวจจับได้ว่าอาหารที่อยู่ภายในยังปลอดภัยสำหรับการรับประทานหรือไม่ด้วย
งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของมหาวิทยาลัย Rutgers ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ร่วมกับนักวิจัยจาก Harvard University ที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก Harvard-Nanyang Technological University และ Singapore Sustainable Nanotechnology Initiative โดยสิ่งที่นักวิจัยพัฒนาอยู่นั้นคือเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่สร้างจากเส้นใยโพลีแซกคาไรด์/ไบโอโพลีเมอร์ ที่ทีมวิจัยระบุว่าสามารถนำมาเคลือบ หรือห่ออาหารได้ ไม่ว่าอาหารนั้น ๆ จะมีรูปร่างอย่างไรก็ตาม
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เปิดเผยว่า ผลการทดสอบการใช้สารดังกล่าวเคลือบอาหารพบว่า สามารถยืดอายุอะโวคาโดบนชั้นวางสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้น 50% และเมื่อลูกค้าซื้อไป ก็สามารถล้างสารที่เคลือบนี้ได้ด้วยน้ำเปล่า โดยมันจะสลายตัวในดินได้เองภายใน 3 วัน
สำหรับการใช้งานในอนาคต ทีมวิจัยเผยว่า จะพัฒนาให้ฟิล์มจากพืชตัวนี้มีส่วนผสมของสารต้านจุลชีพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น น้ำมันไทม์, กรดซิตริก และนิซิน และให้มันทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์คอยแจ้งเตือนได้ หากเกิดความผิดปกติกับอาหารที่มันห่อหุ้มอยู่ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจขนส่งอาหาร ไม่เพียงเท่านั้น หากมีฟิล์มเคลือบอาหารที่ทำจากพืชและย่อยสลายตัวเองได้ จะสามารถลดการใช้พลาสติกลงได้อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว