“เวลเคิร์ฟ” (Velcurve) โปรดักซ์ชั่นเฮาส์มากฝีมือ ผนึกกำลัง วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยารังสิต Top 3 ของมหาวิทยาลัยด้านดนตรี ครีเอทโครงการร่วมทางดนตรีสุดเจ๋ง เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริงกับทีมงานมืออาชีพ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการ
บริษัท เวลเคิร์ฟ จำกัด โปรดักซ์ชั่นเฮาส์มากฝีมือ ที่เชี่ยวชาญทั้งงาน Pre-production, Production, Post-production และงานครีเอทีฟทุกแขนง มีผลงานการันตีในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ภาพยนต์โฆษณา ซีรี่ส์ และมิวสิควีดีโอชื่อดังทั้งของไทยและต่างประเทศ จับมือกับ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในสามมหาวิทยาลัยด้านดนตรีที่ดีที่สุดในประเทศไทย ที่มีการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวเอื้อให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่ เปิดตัวโครงการร่วมสุดเจ๋งอย่าง “โครงการการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ทางด้านดนตรี” ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริงกับทีมงานมืออาชีพจาก Velcurve เพื่อปั้นเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานและสร้างมาตรฐานใหม่ในวงการ
บอส-คีตะวัฒน์ ชินโคตร ผู้ก่อตั้ง ซีอีโอ และโปรดิวเซอร์ บริษัท เวลเคิร์ฟ จำกัด และศิษย์เก่าจากสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงที่มาของโครงการว่า “วิทยาลัยดนตรีเป็นที่ที่เปิดโลกในการทำงานและการเรียนรู้ให้ผมได้เยอะมาก การเรียนสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์และมัลติมีเดียทำให้ผมได้เปิดโลกของการเรียนรู้และการทำงานกับหลากหลายสายงานได้มากขึ้น ได้ลองทำงานจริงๆ กับทางสาขาภาพยนตร์ ข้อดีที่สุดคือการให้อิสระในการเรียน โดยอาจารย์คอยให้คำปรึกษาและคอยช่วยเหลือผลักดันเราให้ได้พบกับโอกาสในการทำงานจริงอยู่เสมอ อีกทั้งวิทยาลัยดนตรีเป็นสังคมที่เป็นกันเอง มีอะไรช่วยเหลือกันและเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตผมเลยก็ว่าได้ พอเราออกมาตั้งบริษัทเอง เราจึงอยากคืนโอกาสที่เราเคยได้รับกลับไปสู่น้องๆ รุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน”
สำหรับโครงการ “การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ทางด้านดนตรี” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาในวิทยาลัยดนตรีไม่จำกัดชั้นปีได้สมัครเข้าฝึกงานกับทางเวลเคิร์ฟ เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานและลงมือปฏิบัติจริงพร้อมกับทีมงานของเวลเคิร์ฟเป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยเริ่มโครงการปีนี้เป็นปีแรกโดยการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการนั้นจะคัดเลือกผ่านการออดิชั่น และรับเพียงปีละ 6 คนเท่านั้น สำหรับปีนี้มีนักศึกษาที่ผ่านการออดิชั่นจำนวน 6 คน ได้แก่ นายณัฐพนธ์ นาวารักษ์ สาขา Music Composition, นายณัฐพล กุลวัฒนาพร สาขา Music Composition, นายเป็นไทย ชูชื่น สาขา Music Production, นายณัฐชัย ชุณหชัชวาลกุล สาขา Music Production ,นายพงศกร บุญมี สาขา Sound Design and Media Composition และ นายชัยนาท อินทนนท์ สาขา Music Composition
ซึ่งน้องๆ ทั้ง 6 คน จะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและได้ปฏิบัติงานจริงในสายงานด้านดนตรี ทั้งการดีไซน์เสียง การทำดนตรีประกอบ และงานด้านอื่นๆ ในโปรเจ็กซ์ต่างๆ ของทางเวลเคิร์ฟ ทั้งภาพยนตร์, ภาพยนต์โฆษณา, ซีรี่ส์ และมิวสิควีดีโอ พร้อมๆ กับการเรียนในมหาวิทยาลัยควบคู่ไปด้วยกัน
โดยทางเวลเคิร์ฟได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นมาเพื่อใช้ในการสอนน้องๆ โดยเฉพาะ และเมื่อครบหนึ่งปีทางมหาวิทยาลัยจะให้เวลเคิร์ฟเป็นผู้ประเมินเกรดในรายวิชาให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนั้นโดยตรง ถือเป็นหนึ่งในรายวิชาหลักที่นักศึกษาจะได้ทั้งเกรด ได้ทั้งการทำงาน ได้เครดิตในผลงานที่ทำ และถ้าผลงานดีก็สามารถทำงานในฐานะฟรีแลนซ์หรือพนักงานประจำให้กับทางเวลเคิร์ฟได้ด้วยเช่นกัน”
สำหรับความพิเศษของโครงการนั้น ผู้ก่อตั้ง ซีอีโอ และโปรดิวเซอร์ ของเวลเคิร์ฟมองว่านี่คือการให้โอกาสและการย่นเวลา “หายากที่นักศึกษาทุกวันนี้จะได้เข้าถึงการทำงานที่เป็นคอมเมอร์เชียลงานใหญ่ๆ ตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ได้ทำจริง ได้เครดิตจริงๆ ได้เจอผู้กำกับ เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่าย ถ้าไม่มีโครงการนี้น้องๆ นักศึกษาก็ต้องรอจบก่อน หรือไปฝึกงานกว่าจะได้ทำจริงๆ ต้องใช้เวลา อันนี้เราเอาเวลาที่น้องนักศึกษาต้องเสียไป มาย่นให้อยู่ในตอนที่เขาเรียนเลย คือความพิเศษจริงๆ ของโครงการนี้” บอส-คีตะวัฒน์ ชินโคตร กล่าว
“ผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่แค่การฝึกงาน แต่คือการลงสนามจริง เราทำโครงการเพื่อปั้นเด็กไปด้วยกันในขณะที่เขากำลังเรียนอยู่ได้ เพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนมีโอกาสเติบโตไปแบบไหนได้บ้าง พอน้องๆ กลุ่มแรกเขาจบออกไปก็สามารถกลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้น้องรุ่นต่อๆ ไปได้ ทีมก็จะขยายออกไปมากขึ้น เราอยากทำโมเดลนี้ให้เป็นต้นแบบสำหรับบริษัทใหญ่อื่นๆ เพื่อเป็นการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ และเพิ่มศักยภาพในการรับคนเข้ามาอยู่ในบริษัท”
ในอนาคต บอส-คีตะวัฒน์ แห่งเวลเคิร์ฟยังตั้งเป้าที่จะขยายโครงการดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมถึงขยายสาขาที่จะสอนน้องๆ ให้หลากหลายมากขึ้นด้วย เช่น ออดิชั่นเฟ้นหาผู้กำกับ การตัดต่อ การทำสีในฟิล์ม และการทำเสียง เป็นต้น พร้อมมั่นใจว่าด้วยสายงานของเวลเคิร์ฟที่ครอบคลุมทุกด้าน จะสามารถปั้นคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
“ด้านภาพรวมของเวลเคิร์ฟที่ผ่านมานั้น แม้จะเป็นในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ตัวเลขการเติบโตยังพุ่งสูงถึง 100% – 200% ต่อปี และยังมีผลงานที่เป็นที่รู้จักมากมายทั้งภาพยนตร์, ภาพยนต์โฆษณา, ซีรี่ส์ และมิวสิควีดีโอ เช่น สปอตโฆษณาตำรับไทย, All café (ที่จำหน่ายในเซเว่น อีเวฟเว่น), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ท่องเที่ยวของจังหวัดร้อยเอ็ด, Bangkok Vampire ของ Mono29 (Post-producer), School Tale ตอน Walk in Scholl และ 7 AM. ในช่อง Netflix,FiveStarProduction เป็นต้น และล่าสุดกับซีรีส์ “Finding The Rainbow สุดท้าย…ที่ปลายรุ้ง” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโปรเจ็กซ์ร่วมระหว่างเวลเคิร์ฟกับวิว ออริจินัล ไทยแลนด์ (VIU Original (Thailand) โดยมีแผนจะฉายผ่านทางไทยทีวีสีช่อง 3 , วิว ออริจินัล ไทยแลนด์ ภายในปีนี้ และต่อด้วยการออนแอร์ในเอเชีย
“Finding The Rainbow สุดท้าย…ที่ปลายรุ้ง” ถือเป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซของเวลเคิร์ฟที่ร่วมกับ วิว (ไทยแลนด์) มีการทุนในการสร้างสูงที่สุดในเมืองไทย ณ ขณะนี้ มีนักแสดงเบอร์ใหญ่ทั้งจากเอเชียและไทยมาร่วมงาน โดยมี “บอย โกสิยพงษ์” ทำเพลงประกอบ ซึ่งเวลเคิร์ฟตั้งใจทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐานสำหรับซีรีส์ไทยที่มีคุณภาพไม่แพ้ซีรีส์ของเกาหลีหรือญี่ปุ่น และที่สำคัญน้องๆ นักศึกษาทั้ง 6 คนที่อยู่ในโครงการจะได้ร่วมทำงานในโปรเจ็กซ์นี้ร่วมกัน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีซีรีส์และภาพยนต์ที่ทำร่วมกับสตรีมมิ่งระดับโลกและค่ายหนังให้ติดตามพร้อมกันถึง 3 เรื่องในปีนี้
สำหรับเป้าหมายของปี 2565-2567 คีตะวัฒน์ตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตของเวลเคิร์ฟอยู่ที่ 1,000% และภายใน 5 ปี จะผลักดันให้เวลเคิร์ฟเป็นสตูดิโอระดับโลก เหมือนอย่างโซนี พิกเจอร์ส สตูดิโอ และยังตั้งเป้าให้บริษัทฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายใน 5-6 ปี เพื่อดึงแหล่งเงินทุนสู่การสร้างงานคุณภาพสูงออกสู่ตลาดอีกด้วย