“เบทาโกร” ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัย โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ (Supply Chain & Logistics Excellence) ของธุรกิจเบทาโกรแล้ว
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะเน้นนวัตกรรมที่เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ ตอบสนองกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ “Betagro Powering Change” ด้าน Supply Chain Resilience และ Digital Transformation โดยในปีนี้เบทาโกรตั้งเป้าที่จะนำร่องศึกษาวิจัย และพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุกร หลังจากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจเบทาโกร ซึ่งมีคุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ ในฐานะผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเบทาโกร และ มจธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว ณ อาคารเบทาโกร ทาวเวอร์ นอร์ธปาร์ค กรุงเทพฯ
คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เบทาโกรในฐานะผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรชั้นนำ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพิ่มผลิตภาพ และประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมูลค่า และตอบสนองความต้องการของลูกค้า และคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของเบทาโกร
ความร่วมมือด้านการวิจัย ของเบทาโกรกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ภายใต้โครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ (Supply Chain & Logistics) ให้กับธุรกิจของเบทาโกรเองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้และศักยภาพให้กับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอีกด้วย
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง มจธ. และเบทาโกร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ ที่เป็นแหล่งสนับสนุนการสร้างงานและนำความรู้ไปแก้ปัญหาผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนและท้องถิ่น รวมทั้งเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของ มจธ. ที่มุ่งมั่นในการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มี Employability ใน Global market และเป็น Social Change Agent ตลอดจนผลิตงานวิจัย และงานบริการวิชาการให้ตอบโจทย์ ชี้นำภาคอุตสาหกรรมและสังคมต่อไป
มจธ. มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยเฉพาะทางที่มีประสบการณ์งานวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมากว่า 20 ปี มีผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ที่พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้าน Supply Chain & Logistics ของเบทาโกรได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในปัจจุบัน และในอนาคต
ด้าน ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวเสริมว่า ธุรกิจอาหารและปศุสัตว์มีความสำคัญ และมีคุณค่าเป็นอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน ก็เผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาอย่างมากมาย ส่งผลกระทบธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและผ่าฟันข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่น พร้อมก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
มจธ. โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ เล็งเห็นว่าเบทาโกรฐานะบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมของไทย มีห่วงโซ่อุปทานจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำที่ยาว และมีความซับซ้อน จึงพร้อมที่จะเข้ามาส่งเสริม และสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาความเป็นเลิศของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Excellence) ในการยกระดับประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ของเบทาโกร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์ เบทาโกรได้ทำงานกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยกลยุทธ์ Betagro Powering Change ในด้าน Supply Chain Resilience ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ด้าน ที่จะเพิ่มความเข้มงวดรัดกุมของระบบ Biosecurity ให้มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อม ตลอดจนถึงการมองหาโอกาสในการปรับปรุงการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตควบคู่กันไป