กว่า 17 ปีที่ผ่านมา กับ “CJ Supermarket” ธุรกิจร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ที่เดินหน้าขยายสาขาทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเส้นทางการแข่งขันอันดุเดือดกับบิ๊กเนมจากต่างชาติ ทั้ง 7-11,Family Mart,LAWSON 108 ด้วยการการเติมเต็มความครบวงจรและหลากหลายเข้าไปในร้านให้เปรียบเสมือน “คอมมูนิตี้มอลล์ของชุมชน” ที่ครบครันด้วยบริการ ทั้ง กาแฟ เบเกอรี่ อาหารพร้อมทาน ยา และมุมของสดต่างๆ รวมถึงการขยายโมเดลรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ชุมชน ก่อนเตรียมระดมทุน 2.5 หมื่นล้าน ช่วง ไตรมาส 4 ปี 2566
Brand Buffet ชวนมาทำความรู้จักแบรนด์ค้าปลีกสัญชาติไทยรายนี้ อีกหนึ่งธุรกิจเรือธงของ “คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์” หรือที่คุ้นเคยกันดีในนาม “เจ้าพ่อคาราบาว” ถึงเรื่องน่ารู้ทำไมถึงกล้าท้าชนบิ๊กเนมสะดวกซื้อแบรนด์ดังจากต่างชาติ
เส้นทาง 17 ปี จากค้าปลีกภูธร สู่บิ๊กคอนวีเนียนสโตร์
CJ Supermarket (ซีเจซูเปอร์มาร์เก็ต) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2548 โดย “คุณวิทย์ ศศลักษณานนท์” ในนาม “บริษัท พีเอสดี รักษ์ไทย จำกัด” เพื่อประกอบกิจการค้าปลีกในรูปแบบใหม่ โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ครบครันในราคาประหยัด เปิดบริการแห่งแรกที่จังหวัดราชบุรี และเน้นขยายสาขาในพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก เช่น นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี และรอบนอกกรุงเทพฯ
ก่อนที่ธุรกิจของ CJ Supermarket จะมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในปีพ.ศ. 2556 เมื่อ “คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556
พร้อมเดินหน้าขยายสาขาของ “CJ Supermarket” ในรูปแบบ “ป่าล้อมเมือง” โดยเริ่มจากต่างจังหวัด-ชานเมืองและค่อยๆขยับเข้ามาในเขตเมือง จนปัจจุบันมีสาขาเปิดแล้ว 800 กว่าสาขาในพื้นที่ 34 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565)
และในปี 2565 จะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 250 สาขา และจนถึงสิ้นปีจะมีสาขาเพิ่มเป็น 1,000 สาขา ก่อนที่ในปี 2566 ทาง CJ Express ได้เตรียมงบกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาเพิ่มอีก 250 สาขา โดยเมื่อถึงปี 2569 คาดว่าจะมีสาขาทั้งหมด 2,000 แห่ง แบ่งเป็น CJ Express และ CJ Supermarket 1,500 สาขา CJ MORE 500 สาขาเน้นในต่างจังหวัด 90% และกรุงเทพฯ 10% ได้แก่
- โมเดล CJ Express และ CJ Supermarket เน้นขายสินค้าอุปโภคบริโภค ในราคาประหยัดเป็นหลัก ปัจจุบัน CJ Supermarket ยังมีการศึกษาการเพิ่มระบบ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy now Pay later ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบันและตามเทรนด์การจับจ่าย
- โมเดล CJ MORE ร้าน Flagship Store รูปแบบใหม่ที่ใช้เนื้อที่ราว 10 ไร่ มีลักษณะคล้ายกับคอมมูนิตี้มอลล์ ที่เปิดพื้นที่โดยรอบให้ร้านค้าอื่นๆได้มาเช่าทั้งร้านอาหาร ร้านขายของต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายทั้ง กาแฟ เบเกอรี่ อาหารพร้อมทาน ยา และมุมของสดต่าง จนเกิดจำนวนผู้มาใช้บริการมากขึ้น พบว่ามียอดขายดีกว่าสาขาทั่วไปราว 30-50%
ในอนาคตจะกลายเป็นต้นแบบสำหรับการขยายสาขา CJ MORE สู่ความเป็น “The New Revolution Of Retail”
ภายในร้านยังมีแบรนด์ค้าปลีกเฉพาะ ได้แก่ นายน์บิวตี้ (Nine Beauty) โซนเครื่องสำอางและความงามมัลติแบรนด์, บาวคาเฟ่ (Bao Cafe) ร้านกาแฟสด, อูโนะ (UNO) โซนสินค้าไลฟ์สไตล์สินค้าแฟชั่นเครื่องเขียนและเอ-โฮม (A-Home) โซนสำหรับคนรักบ้านด้วยสินค้า D.I.Y. ครบครันอุปกรณ์เครื่องมือช่างอุปกรณ์ทำสวน เป็นต้น ร้านเพ็ทฮับ (PET HUB) ร้านขายอาหารและอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงครบวงจร และบาววอช (Bao Wash) มุมบริการซัก-อบผ้าด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยร้านกาแฟบาวคาเฟ่และบาววอชจะมีการนำโมเดลของแฟรนไชส์มาใช้เพื่อช่วยในการขยายสาขา
นอกจากการขยายสาขาแล้วอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ CJ Express ให้ความสำคัญคือเรื่องของซัพพลายเชนที่มีอยู่ในเครือตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ผ่านสินค้าในเครือภายใต้กลุ่มสินค้าแบรนด์ต่างๆ เช่น คาราบาวแดง น้ำดื่มคาราบาว กาแฟกระป๋องกาแฟ 3 in 1 เครื่องดื่มเกลือแร่ และเครื่องดื่ม Functional Drink วู้ดดี้ซี+ ล็อคเข้ามาวางจำหน่ายในร้านทำให้ตอบโจทย์ทั้งกลยุทธ์การตลาดทั้งด้านราคาและส่วนลด ทำตลอดช่วงที่ผ่านมาผลประกอบการของ CJ Express ผลประกอบการมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- รายได้รวมปี 2562 มีรายได้รวม 13,769,856,197 บาทกำไร 357,549,092 บาท
- รายได้รวมปี 2563 มีรายได้รวม 18,417,694,674 บาท กำไร 933,741,632 บาท
- รายได้รวมปี 2564 มีรายได้รวม 29,723,237,492 บาท กำไร 1,364,870,726 บาท
- คาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2565 นี้ จะมียอดขายเพิ่มเป็นกว่า 28,000 ล้านบาทและมีกำไรเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท
เตรียมระดมทุน 2.5 หมื่นล้านคาดเปิด IPO ไตรมาส 4/ 66
ในปีหน้าทาง CJ Express ยังเตรียมด้วยการยื่นไฟล์ลิ่งในช่วงไตรมาส 2/66 และจะสามารถเสนอขายหุ้นให้นักลงทุน (IPO)ได้ในช่วงไตรมาส 4/66 คาดว่าจะระดมทุนมูลค่าประมาณ 20,000 -25,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากมูลค่า 20% ของมาร์เก็ตแคปของบริษัทในขณะนั้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท
โดยการระดมทุนดังกล่าวเป็นการเลื่อนมาจากแผนงานเดิมในปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนทำให้สถานการณ์ในตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องยากที่จะประเมิน
นี่คืออีกหนึ่งก้าวสำคัญของสะดวกซื้อสัญชาติไทยที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงพร้อมเพิ่มโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น
“คาราบาวกรุ๊ป” เตรียมดัน “CJ Express Group” เข้าตลาดหลักทรัพย์ และเหตุผลทำไมต้องทำรีเทลเอง