หากเป็นอดีตเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน โลกออนไลน์อาจเป็นโลกที่ถูกสร้างมาเพื่อการทำงานเป็นหลัก และมีผู้คนเข้าไปใช้งานไม่มากนัก ภัยที่เกิดจากโลกออนไลน์เมื่อในอดีตจึงเป็นภัยที่เน้นไปยังกลุ่มคนทำงาน เช่น การเจาะระบบ – การขโมยข้อมูล ที่อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และเน้นสร้างความเสียหายต่อองค์กรมากกว่าจะเน้นไปที่ตัวคนทำงาน
อย่างไรก็ดี หลังจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของสมาร์ทโฟนและการถือกำเนิดของโซเชียลมีเดีย ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โลกออนไลน์” ได้กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างมากขึ้น และมีคนแทบทุกกลุ่มให้เข้าไปใช้งานกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และนั่นทำให้ภัยจากโลกออนไลน์เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเราจะเห็นว่า โลกทุกวันนี้มีปัญหาด้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การละเมิดความเป็นส่วนตัว การปลอมอัตลักษณ์ของคนอื่น การหลอกขโมยข้อมูล ฯลฯ อยู่ไม่เว้นวัน ซึ่งถ้าโลก “ออนไลน์” ใบนี้มีแต่ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ปัญหาที่กล่าวมาก็อาจรับมือได้ไม่ยาก แต่ความจริงก็คือ เรามีเด็ก ๆ เข้ามาร่วมใช้งานด้วยมากขึ้นทุกที
หนึ่งในแบรนด์ที่เห็นปัญหานี้เป็นคนแรก ๆ ก็คือ “เอไอเอส” (AIS) เห็นได้จากการประกาศวิสัยทัศน์เมื่อปี 2018 ของคุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส ได้ระบุไว้ว่า นอกจากการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยแล้ว เอไอเอสยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้สังคม ลูกค้า และประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้รู้เท่าทันภัยด้านไซเบอร์หลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดตามมาจากการใช้งานบนอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียลด้วย โดยตลอด 4 ปีนับตั้งแต่การประกาศวิสัยทัศน์ จะเห็นได้ว่ามีการผลักดันในรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น การจัดเวิร์กช็อปอุ่นใจไซเบอร์ ให้กับคุณครูในโรงเรียนต่าง ๆ การนำชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและความฉลาดทางด้านดิจิทัล DQ (Digital Quotient) ครบทั้ง 8 ทักษะเข้ามาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา หรือการแนะนำเครื่องมือป้องกันเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม เช่น AIS Secure Net ,Google Family Link และล่าสุดก็ได้มีบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ให้คนไทยได้ใช้งานกัน
ส่วนในปีนี้ พบว่ามีถึง 2 โครงการที่เอไอเอสร่วมกับพันธมิตรจำนวนมากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้ปรากฏตัวออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว โดยโครงการแรกเป็นการจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรมสุขภาพจิต พัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ และถือเป็นหลักสูตรดิจิทัลครั้งแรกของประเทศไทยที่กำลังจะได้ใช้จริงอย่างเป็นทางการ ออกมาเป็นเนื้อหาทักษะด้านดิจิทัลในการรับมือกับภัยไซเบอร์ 4ป. (4P) ได้แก่
– ปลูกฝังการใช้งาน (Practice)
– ปกป้องความเป็นส่วนตัว (Personality)
– ป้องกันภัยออนไลน์ (Protection)
– ปฏิสัมพันธ์ที่ดี (Participation)
ส่วนอีกหนึ่งโครงการเป็นการจับมือกับจอยลดา (Joylada) แพลตฟอร์มนิยายแชทออนไลน์ที่มีผู้ดาวน์โหลดมากกว่า 10 ล้านครั้งเปิดตัวนิยายแชท 7 เรื่องที่แฝงแง่คิดเกี่ยวกับทักษะที่คนไทยควรรู้ในยุคไซเบอร์ด้วย
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS เล่าถึงที่มาของทั้งสองโครงการว่า ต้องการทำให้องค์ความรู้ด้าน Cybersecurity
“ที่ผ่านมา เอไอเอสมีการนำองค์ความรู้ด้าน Cybersecurity ไปบรรจุไว้ในแพลตฟอร์ม LearnDi ให้คนไทยสามารถเข้าไปศึกษาได้ และมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ สพฐ. เพื่อให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนกว่า 4.7 ล้านราย รวมถึงครู และบุคลากรด้านการศึกษากว่า 436,000 คน”
“นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรมประกวดแผนสื่อสารการตลาด ร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จากผลการศึกษาพบว่ามีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการรับสื่อของคนรุ่นใหม่ ที่ใช้แพลตฟอร์มหลากหลายมากขึ้น และจอยลดา ก็เป็นหนึ่งในเป็นแพลตฟอร์มนิยายแชทยอดนิยม ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของเราในการถ่ายทอดเนื้อหาของหลักสูตรแบบ Edutainment จึงทำให้เราได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับ จอยลดา ในการนำเนื้อหาจากหลักสูตรออกมาแปลงเป็นเนื้อหานิยายแชทครั้งแรกในไทย โดยเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาภัยไซเบอร์ วิธีการรับมือ และทักษะหลักที่คนไทยควรรู้ ออกมาเป็น 7 เรื่องบนแพลตฟอร์มของจอยลดา”
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มจอยลดาก็พบว่า ปัจจุบัน จอยลดา มีกลุ่มผู้ใช้งานหลักคือกลุ่ม Gen Z (18 – 24 ปี) ถึง 49% จากจำนวนผู้ใช้งานแบบ Monthly Active Users 3.1 ล้านคน และใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 90 นาทีต่อวัน โดยในส่วนของนิยายแชทนั้น มีการอ่านมากกว่า 76,600 ล้านจอยต่อเดือน (เป็นหน่วยการอ่านนิยายแชทของทางแพลตฟอร์ม โดยจะนับจากจำนวนคลิก หนึ่งคลิกเท่ากับหนึ่งจอย และในนิยายแชทหนึ่งตอนอาจมีประมาณ 200 จอย)
คุณศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา อธิบายเสริมว่า “ในฐานะแพลตฟอร์มที่เป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีผู้ใช้งานรวมมากกว่า 10 ล้านดาวน์โหลด อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เราต้องการให้คอมมูนิตี้ของจอยลดาเป็นพื้นที่สำหรับการเสพเรื่องราวที่สร้างสรรค์ และปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ใช้งาน จากความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้เราได้ใช้ขีดความสามารถของแพลตฟอร์ม รวมถึงดึงกลุ่มนักเขียนและ Content Creator มาร่วมกันครีเอทเรื่องราวจากเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เป็นนิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงภัยไซเบอร์ด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความสนุกจากเนื้อหาของนิยาย และประโยชน์ที่ได้รับถึงแนวทางการรับมือเมื่อเจอกับภัยไซเบอร์ เพราะในท้ายที่สุดเราต้องการที่จะทำให้คอมมูนิตี้ของจอยลดามีส่วนช่วยทำให้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะภัยไซเบอร์ลดลงได้จากศักยภาพของเรา”
สำหรับนิยายแชททั้ง 7 เรื่องนั้น ประกอบด้วยทักษะต่าง ๆ ดังนี้
Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ
Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล
Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ / Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์
Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว
Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์
สำหรับเนื้อหาทั้งหมดจะถูกสร้างสรรค์ให้สนุก เข้าใจง่าย ตามสไตล์ของจอยลดา ซึ่งจะทำการเผยแพร่บนแอปพลิเคชัน “Joylada” และทาง Microsite (joylada.com/aisxjoylada) ซึ่งนอกจากนิยายแชทแล้ว ทุกการอ่านของทุกคน ทางแพลตฟอร์มจะช่วยสมทบทุนบริจาคให้แก่ “มูลนิธิสายเด็ก 1387” ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวลความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดีด้วย
“การที่เราไม่หยุดตั้งคำถามเพื่อหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัล เข้าใจ รู้เท่าทัน ภัยไซเบอร์ และการมุ่งทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขยายผลองค์ความรู้และเครื่องมือที่มีไปยังคนไทยทุกกลุ่ม ทำให้วันนี้ AIS สามารถส่งเสริมทักษะดิจิทัล หรือ Digital Literacy ไปสู่มาตรฐานใหม่ และมีดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกถึงระดับทักษะการรับมือภัยไซเบอร์ที่จับต้องได้ ซึ่งกระบวนการทำงานในลักษณะนี้จะทำให้ภารกิจการส่งเสริมทักษะดิจิทัลเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด” คุณสายชลกล่าวทิ้งท้าย