หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาครัฐประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ เริ่มเห็นแนวโน้มสัญญาณบวกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด “ขาดทุน” ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จึงมองโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง พร้อมระดมทุนครั้งใหม่จัดตั้ง กองทรัสต์ BAREIT นำ “สนามบินสมุย” ธุรกิจและเส้นทางบินหลักสร้างรายได้ให้บางกอกแอร์เวย์สถึง 50% มาเปิดให้ผู้สนใจร่วมลงทุน จูงใจด้วยผลตอบแทนปีแรก 8.46%
มาทำความรู้จัก กองทรัสต์ BAREIT ครั้งแรกที่เปิดให้ลงทุนในสนามบินสมุย เส้นทางเรือธงของ “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่หวังฟื้นรายได้ธุรกิจการบินหลังโควิด
1. สนามบินสมุยอายุ 33 ปี สนามบินเอกชนแห่งแรกของ “บางกอกแอร์เวย์ส”
จุดเริ่มต้นของ “บางกอกแอร์เวย์ส” มาจาก นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ก่อตั้งธุรกิจสายการบินขึ้นในปี 2511 เริ่มจากตั้งเป็นแผนกการบินของ บริษัท กรุงเทพสหกล จำกัด หลังจากนั้นในปี 2527 จึงได้ก่อตั้งบริษัท สหกลแอร์ จำกัด เพื่อรับโอนกิจการต่าง ๆ รวมทั้งแผนกการบินจากบริษัท กรุงเทพสหกล จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2556)
ต่อมาในปี 2532 ได้ก่อสร้างสนามบินเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่เกาะสมุย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดตลาดท่องเที่ยวเกาะสมุยสู่โลกภายนอกและได้รับอนุญาตให้ทำการบินในเส้นทางแรก “กรุงเทพฯ-เกาะสมุย พร้อมรับรหัสการบิน PG
สนามบินสมุยอายุ 33 ปี สร้างขึ้นจากพื้นที่สวนมะพร้าวและที่ดินรกร้างบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสมุย ในยุคเริ่มต้น “หมอเสริฐ” ซื้อที่ดินมาราคาไร่ละ 10,000 บาท ปัจจุบันไร่ละ 10 ล้านบาท มีพื้นที่รวม 500 ไร่
สนามบินยุคแรกเริ่มต้นด้วยพื้นที่ขนาดเล็ก จากความยาว 1,500 เมตร ปัจจุบันขยายเป็น 2,100 เมตร กว้าง 45 เมตร ตามมาตรฐานสนามบินทั่วไป โดยมี 11 หลุมจอด รองรับเครื่องบินแบบ ATR 72-500, ATR 72/600 เครื่องบินแอร์บัส A319 เครื่องบินโบอิ้ง 737-400
ปัจจุบันสนามบินสมุยรองรับเที่ยวบินสูงสุด 50 เที่ยวบินต่อวัน ในทุกเส้นทางที่บินเข้ามาสมุย ทั้งของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก่อนโควิดมีจำนวน 40 เที่ยวบินต่อวัน และสายการบินอื่นๆ อีก 10 เที่ยวบินต่อวัน ขณะนี้ได้ยื่นขออนุญาตจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายเที่ยวบินเพิ่มเป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังโควิด
ความสำคัญของสนามบินสมุยและเส้นทางบินสมุย คิดเป็นสัดส่วนเที่ยวบิน 50% ของบางกอกแอร์เวย์ส หากสามารถเพิ่มเส้นทางสมุยได้อีก ก็เป็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม ในปี 2564 บางกอกแอร์เวย์สมีรายได้ 5,145 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร
ปี 2565 คาดการณ์รายได้ 8,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มาจากเส้นทางสมุย 50% ถือเป็นจุดหมายที่น่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินได้เหมือนเดิมก่อนเส้นทางอื่น ๆ โดยครึ่งปีแรกช่วงวันหยุดยาวสมุยให้บริการ 20 เที่ยวต่อวัน
2. ท่องเที่ยวฟื้น โอกาสทองสนามบินสมุย
หลังเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2564 ได้สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปี 2565 ททท. คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 7-10 ล้านคน
คุณพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA กล่าวว่าตั้งแต่ปลายปีก่อน นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะเกาะสมุย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) เกาะสมุย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างขาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากอัตราการจองซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครึ่งปีหลังผู้โดยสารจองไว้แล้ว 400,000 คน จำนวนบินจริงน่าจะทำได้ 1.2 ล้านคน
หากดูสถิติเที่ยวบินสมุยก่อนโควิด มีจำนวนผู้โดยสารปีละ 2.4-2.6 ล้านคน แต่ลดลงอย่างมากในช่วง 2 ปีโควิด
– ปี 2562 มีจำนวน 28,904 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 2.41 ล้านคน
– ปี 2563 จำนวนลดลงเหลือ 11,167 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 8.26 แสนคน (ไตรมาสแรกยังไม่กระทบจากโควิด)
– ปี 2564 จำนวน 5,212 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 2.96 แสนคน
– ปี 2565 หลังเปิดประเทศ ไตรมาสแรก จำนวน 993 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 66,378 คน
หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ไตรมาสแรกจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งปีแรกทั้งเที่ยวบินและผู้โดยสารของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สกลับมาแล้ว 30% เทียบกับช่วงก่อนโควิด สิ้นปีนี้คาดอยู่ที่ 40% ปี 2566 จะกลับมาได้ราว 80-90% และกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิดในปี 2567 โดยเส้นทางสมุยฟื้นตัวเร็วสุด
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์ส ให้บริการจากสมุยไปยังเส้นทางต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต อู่ตระเภา เชียงใหม่ หาดใหญ่ สิงคโปร์ เส้นทางที่จะเพิ่มในอนาคตจากสมุย ไปกระบี่ กัวลาลัมเปอร์ ฮ่องกง จีน (ทั้งฉงชิ่งและเฉิงตู หลังจากจีนเปิดประเทศ) ปัจจุบันมีสายการบินต่างประเทศ จากกัมพูชา เปิดให้บริการเส้นทางสมุยแล้ว รวมทั้งไพรเวท เจ็ท มาใช้บริการที่สนามบินสมุยด้วย โดยบินตรงมาจากตะวันออกกลาง ยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน
สนามบินสมุยถือเป็นสนามบินเอกชนแห่งแรกของไทยและเป็นสนามบินนานาชาติที่รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ โดยสามารถให้บริการผู้โดยสารได้วันละ 16,000 คน หรือประมาณ 6 ล้านคนต่อปี
3. พิษโควิดยกเลิกกองทุนรวม SPF
ก่อนหน้านี้เดือนพฤศจิกายน 2549 บางกอกแอร์เวย์ส ได้ให้เช่าทรัพย์สินในส่วนของสนามบินสมุยรวมพื้นที่ทั้งหมด 500 ไร่ ให้แก่กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (กองทุนรวม SPF) เป็นเวลา 30 ปี โดยทำสัญญาจ่ายค่าเช่าใช้สนามบินระยะยาวกับกองทุน
แต่เมื่อเกิดโควิด บางกอกแอร์เวย์ส ไม่สามารถให้บริการการบินได้ปกติ และจำนวนผู้เดินทางลดลง ในเดือนพฤษภาคม 2564 จึงขอยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวกับกองทุนรวม SPF ซึ่งยังเหลือสัญญาอีก 15.5 ปี เพื่อลดภาระค่าเช่าที่ต้องจ่ายแต่ไม่สามารถทำการบินได้ และจ่ายค่าตอบแทนการเลิกสัญญาให้กองทุนรวมเป็นมูลค่า 18,050 ล้านบาท จากนั้นกลับมาดำเนินกิจการสนามบินสมุยเอง
4. ตั้งกองทรัสต์ BAREIT เปิดให้ลงทุนสนามบินสมุย
หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย บางกอกแอร์เวย์ส เห็นโอกาสการกลับมาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะเกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน ในฐานะเกาะท่องเที่ยวยอดเยี่ยมในปี 2564 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Travel and Leisure
“บางกอกแอร์เวย์ส” จึงจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BA Airport Leasehold Real Estate Investment Trust: BAREIT) เพื่อเข้าลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โครงการสนามบินสมุยของบางกอกแอร์เวย์ส ปัจจุบันได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหน่วยทรัสต์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยมีบริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ คาดว่าจะระดมทุนและนำหน่วยทรัสต์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในปีนี้
โดยกองทรัสต์ BAREIT นี้ แตกต่างจาก กองทุนรวม SPF ที่เคยจัดตั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นรูปแบบ Property Fund จึงไม่สามารถลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมเข้าไปในกองทุนได้
แต่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) สามารถนำทรัพย์สินในธุรกิจอื่นๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมได้ และกองรีทสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้เอง ในสัดส่วนไม่เกิน 35% ของมูลค่าสินทรัพย์กองรีท ในอนาคตหากกองรีทเติบโต สามารถนำกองรีทไปจัดลำดับความน่าเชื่อถือได้ ถ้าเรตติ้งอยู่ใน Investment Grade สามารถกู้ได้ 60% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม เพื่อนำเงินมาลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินเพิ่มเติม
กองรีทเป็นเครื่องมือการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติรู้จักดี ต่างจาก Property Fund และ Infrastructure Fund ที่มีเฉพาะในประเทศไทย
“บางกอกแอร์เวย์ส” ถือเป็นผู้ให้เช่าทรัพย์สินสนามบินสมุยแก่กองทรัสต์ BAREIT ซึ่งจะไปเข้าลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินกิจการสนามบินสมุย คือ ทางวิ่ง ลานจอด และ สิ่งปลูกสร้างบางส่วนที่ใช้ในการดำเนินกิจการสนามบินสมุย รวมพื้นที่ 231 ไร่ ระยะเวลา 25 ปี รวมมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 14,300 ล้านบาท โดยจะมาจากการระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยทรัสต์ให้นักลงทุนจำนวนไม่เกิน 10,330 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวไม่เกิน 5,060 ล้านบาท
หลังจากนี้ กองทรัสต์ BAREIT มีโอกาสลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ส่วนที่เหลือของสนามบินสมุย สนามบินในประเทศ อย่าง สุโขทัย ตราด รวมทั้งต่างประเทศ และธุรกิจอื่น เช่น เคเทอริ่ง ครัวการบิน พื้นที่ร้านค้าในสนามบิน เพื่อทำให้กองรีทเติบโตได้ในอนาคต
5. ชูผลตอบแทนปีแรก 8.46%
กองทรัสต์ BAREIT จะมีรายได้จากค่าเช่าใช้สนามบินสมุย จากสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะผู้เช่า ซึ่งจ่ายค่าเช่าปีละ 1,100 ล้านบาท ปรับเพิ่ม 2% ทุกปี รวมทั้งสายการบินอื่นๆ ที่จะมาใช้บริการหลังจากนี้ คาดการณ์ผลตอบแทน (Yield) กองทรัสต์ BAREIT ปีแรก 8.46% ถือเป็นทางการเลือการลงทุนให้ผลตอบแทนดี ในช่วงภาวะเงินเฟ้อมีอัตราสูง
จุดเด่นของ BAREIT เป็นทรัสต์กองแรกในประเทศไทยที่เข้าลงทุนใน “สนามบิน” ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินลงทุนที่มีความมั่นคง และการจัดหารายได้จากผู้เช่า สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือหุ้นโดยกลุ่มปราสาททองโอสถ โดยบางกอกแอร์เวย์ส เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมาร์เก็ตแคปกว่า 20,000 ล้านบาท
โครงสร้างผู้ถือหน่วย BAREIT กลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส ถือไม่ต่ำกว่า 25% เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน 50% และรายย่อย 50%
การตั้ง BAREIT เป็นอีกช่องทางที่บางกอกแอร์เวย์ส สามารถระดมเงินทุนมาใช้จ่าย โดยให้บริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเมนท์ จำกัด ที่เป็นบริษัทย่อยเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการบริหารงาน ส่วนนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอระยะยาว จากผู้เช่าสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และผู้เช่ารายอื่นๆ เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวจากโควิด รวมทั้งการเข้าไปลงทุนทรัพย์สินอื่นๆ เพิ่มเติมหลังจากนี้