กว่า 40 ปี ของ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ” ภายใต้การบริหารงานของ “ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ประธานที่ปรึกษากลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ ผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง ทั้งโดนฟ้องล้มละลาย การเข้ามาคู่แข่งทั้งทางตรงทางอ้อม ล้วนแต่เป็นบททดสอบให้สวนสยามได้ฝ่าฟันมาอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งการระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือวิกฤติใหญ่อีกครั้งของสวนสยามที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ต้องปิดตัวยาวนานถึง 7 เดือน และแม้หลังสถานการณ์คลี่คลายจะสามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง แต่กลับมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการเหลือเพียงหลักแสนรายในปี 2563 และแม้จะเพิ่มเป็น 450,000 แสนรายในปี 2564 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สวนสยามฟื้นจากภาวะขาดทุน
ทำให้ต้องตัดใจขายที่ดิน 30-40 ไร่ (บริเวณใกล้เคียง) คิดเป็นมูลค่าหลักพันล้านบาท เพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร พนักงาน และธุรกิจให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมองหาโอกาสใหม่ๆเพื่อเติมเต็มธุรกิจจนเกิดเป็นโปรเจ็ก “บางกอกเวิลด์” (Bangkok World) ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์โควิด
Brand Buffet พาทำความรู้จัก “บางกอก เวิลด์” (Bangkok World) บิ๊กโปรเจ็กล่าสุดมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 70 ไร่ จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” ที่เกิดจากความตั้งใจของ “ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ประธานที่ปรึกษากลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ ในวัย 85 ปี ตั้งใจปลุกปั้นเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ก่อนจะวางมือจากการบริหารงานให้ทายาทรุ่นต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม ทั้งการวางจำหน่ายสินค้าชุมชน โอท็อป และการสร้างรายได้ พร้อมทั้งปั้นแลนด์มาร์กใหม่แหล่งท่องเที่ยวระดับแถวหน้าของเอเชีย
“ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” บอกว่า “บิ๊กโปรเจ็กนี้ตั้งใจทำส่งท้ายก่อนวางมือจากการบริหารงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสินค้าท้องถิ่นมากที่สุดเดิมพันด้วยที่ดิน 70 ไร่ของโครงการเพราะหากไม่ประสบความสำเร็จก็ยินดีให้ธนาคารยึดไปได้ทันที”
รู้จัก Bangkok World แม่เหล็กใหม่เพื่อ ‘ฟื้นกำไร’
บางกอกเวิลด์ (Bangkok World) มีพื้นที่ทั้งหมด 70 ไร่ตั้งอยู่ด้านหน้าสวนน้ำสวนสนุกติดถนนสวนสยามถือเป็นส่วนต่อขยายของสยามอะเมซิ่งพาร์คเดิมที่มีพื้นที่ 250 ไร่มาในคอนเซ็ปต์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมิติใหม่ที่รวมความเป็นที่สุดของเมืองบางกอกด้วยสถาปัตยกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาคารสวยงามในสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 12 อาคาร ประกอบไปด้วย อาคารเฉลิมกรุง เฉลิมไทย บี.กริม.แอนด์โก แบดแมนแอนด์โก ไชน่าทาวน์ สำเพ็ง พาหุรัด ในคอนเซ็ปต์ “ที่สุดของกรุงเทพมหานคร” หรือ “The Best of AMAZING Bangkok” ทุกความเป็นที่สุดจะถูกรวมไว้ที่นี่
ปัจจุบัน บางกอก เวิลด์ (Bangkok World) แล้วเสร็จไปแล้วกว่า 80% และพร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้ พื้นที่ภายในแบ่งเป็นส่วนของร้านอาหาร 40% และพื้นที่รีเทล สถานที่เที่ยวชมต่างๆ 60% ประกอบไปด้วย
- โซนสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนไทยทุกแขนงให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลตั้งเป้าหมายร้านค้าภายในที่ 1,000 ร้านค้าสินค้ากว่า 30,000 รายการ
- อาคาร Bangkok Dinner Theater ที่มีทั้งศูนย์การประชุม การแสดงสินค้า ลานคอนเสิร์ต บริการศูนย์ประชุมศูนย์แสดงสินค้า ลานคอนเสิร์ตพื้นที่ทั้งหมดกว่า 9,000 ตร.ม.รองรับได้มากถึง 2,000 คน
- อาคาร Bangkok World Food Hall แหล่งรวบรวมร้านอาหารตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงระดับภัตตาคาร
- โซนตลาดน้ำที่มีการจำลองวิถีชีวิตและร้านค้าริมน้ำไว้มากมาย
- โซนตลาดนัดกลางคืนบางกอกเวิลด์กว่า 500 ร้านค้าพร้อมกิจกรรมการแสดงต่างๆเปิดบริการตั้งแต่ 17.00-22.00 น.
โดยการเข้าชมในส่วนของ Bangkok World จะไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด และคาดการณ์ว่าจะถึงจุดคืนทุนในช่วง 5-7 ปีหลังจากนี้
ขยายเวลาสวนสนุกกลางคืน รับ Insight คนกลัวร้อน
ไม่เพียงแต่การเติมแม็กเนตใหม่ในส่วนต่อขยายของ Bangkok World เท่านั้นหากแต่การปรับเวลาเปิด-ปิดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าและสภาพอากาศของเมืองไทย คืออีกหนึ่งคีย์สำคัญที่สวนสยามนำมาใช้เพื่อดึงทราฟฟิกด้วยการขยายเวลาเปิดให้บริการสวนสนุกเพิ่มอีก 4 ชั่วโมงจากเดิมที่ปิดให้บริการในเวลา 17.00 น. เพิ่มเวลาเปิดบริการจนถึง 21.00 น. หลังจากนำร่องพบว่าลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 40% ทำให้ทางค่ายได้ทำการปรับเวลาการให้บริการสวนสนุกไปจนถึง 21.00 น. ในระยะยาวต่อไป
คุณนพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ บอกว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราขยายเวลาการเปิดให้บริการสวนสนุกตอนกลางคืนอย่างเป็นทางการหลังจากช่วงที่ผ่านมาสภาพอากาศร้อนจัดทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในช่วงกลางวันไม่มากนักขณะเดียวกันก็มีความต้องการในการเที่ยวสวนสนุกช่วงเย็นจนไปถึงกลางคืนมากขึ้นเพราะสภาพอากาศที่ไม่ร้อนทำให้เราได้มีการปรับเวลาบริการเพื่อตอบโจทย์นอกจากนี้ยังเป็นการดึงทราฟฟิกให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตามนับจากนี้ Bangkok World จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มธุรกิจสวนน้ำอย่าง “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” ให้สมบูรณ์แบบ 100% หรือมีความครบวงจรมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 นี้มั่นใจว่าจะสามารถถึงจุดเสมอตัวหรือมีจำนวนผู้มาใช้บริการเทียบเท่าก่อนช่วงโควิดราว 1.2 ล้านคนก่อนที่ในปี 2566 จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มเป็น 2 ล้านคนและเพิ่มเป็น 5 ล้านคนในปี 2567 แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 60% และชาวต่างชาติ 40%