การลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “นายชินโซ อาเบะ” (Shinzo Abe) ที่เกิดขึ้นอย่างอุกอาจเมื่อวานนี้ (8 กรกฎาคม 2022) ไม่เพียงทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหมู่ผู้นำทุกประเทศทั่วโลก แต่เชื่อเหลือเกินว่า ถึงวันนี้ ภายในประเทศญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ตื่นจากฝันร้าย เห็นได้จากชาวญี่ปุ่นจำนวนมากหลั่งไหลไปยังจุดเกิดเหตุ และร่วมวางดอกไม้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวกันอย่างเนืองแน่น
การจากไปของนายชินโซ อาเบะ จึงไม่เพียงสะท้อนความยิ่งใหญ่ของเขากับบทบาทนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานที่สุด (เขาดำรงตำแหน่งสองครั้ง นั่นคือในช่วงปี 2006 – 2007 และปี 2012 – 2020 ก่อนจะประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ และถูกลอบสังหารในวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะช่วยพรรค LDP หาเสียงในจังหวัดนารา) เพราะถึงแม้จะก้าวลงจากตำแหน่งแล้ว เสียงของเขาก็ยังคงมีพลัง และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อีกหลายด้านอยู่เช่นเดิม
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองให้กับญี่ปุ่นมาจากครอบครัว เพราะเขาเติบโตมาในตระกูลนักการเมือง โดยคุณปู่ของเขารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1957 – 1960 ส่วนคุณพ่อของเขารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในปี 1982 – 1986 ซึ่งการเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศดังกล่าวเป็นสิ่งที่หาได้ยากในครอบครัวทั่วไป และเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาพร้อมสำหรับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง
นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น
มีบทความอำลาเกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ อยู่หลายชิ้น แต่หนึ่งในชิ้นที่ทรงพลังอาจเป็นนิตยสาร Time โดยมีการหยิบยกความเห็นจาก Jeff Kingston ผู้อำนวยการของสถาบัน Asian Studies แห่ง Temple University ในญี่ปุ่นที่กล่าวถึง ชินโซ อาเบะ เอาไว้ว่า เขาเป็น “นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่” และถึงแม้เขาจะอำลาตำแหน่งไป แต่บทบาทของเขายังคงเป็นที่จดจำ และความเห็นของเขายังเป็นสิ่งที่ทรงพลังสำหรับสังคมญี่ปุ่น
Kingston ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งความสำเร็จของนายอาเบะว่าเป็นผู้ปลุกให้เกิดความเชื่อมั่นใน “ญี่ปุ่น” ให้กลับคืนมาอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในช่วงปี 1985 – 1995 โดยในยุคนั้นมูลค่าสินทรัพย์ประเภทที่ดิน – ที่อยู่อาศัยตามเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นมีราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า ก่อนจะตกลงอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1992 และทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาในเวลาต่อมา หรือที่หลายคนจดจำญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นว่า “The Lost Decades”
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นในวันที่ชินโซ อาเบะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เลือกเปิดประตู “การท่องเที่ยว” และใช้ประตูบานนี้ดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศ เสพวัฒนธรรมญี่ปุ่น – ซอฟท์พาวเวอร์ต่าง ๆ จนกลายเป็นภาพในความทรงจำ และความประทับใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับไปเยือนญี่ปุ่นในทุกเวลาที่มีโอกาส
Kingston ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจของนายอาเบะแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่มองเกมขาด และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับญี่ปุ่น ทั้งภายในประเทศเอง และต่อสายตาชาวโลก
กฎหมายด้านความมั่นคง vs ความไม่เห็นด้วยของชาวญี่ปุ่น
ในด้านการทหารนั้น หนึ่งในความสำเร็จของรัฐบาลยุคชินโซ อาเบะที่นิตยสาร Time มองว่ายิ่งใหญ่คือการผ่านกฎหมายด้านความมั่นคง (ปี 2015) อนุญาตให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมสงครามในต่างประเทศได้อีกครั้ง หลังจากที่ญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าร่วมสงครามใด ๆ ได้อีกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หรือคิดเป็นเวลายาวนานถึง 70 ปี
อย่างไรก็ดี การผ่านกฎหมายฉบับนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วยจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าไปมีบทบาทในด้านการทหารอีก โดยเฉพาะหากชาติพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ส่วนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาพของญี่ปุ่นอาจถูกตั้งคำถามหลายครั้งในยุคที่สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีชื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” แต่ในมุมของสื่อตะวันตกอย่าง Time ก็มองว่า นายชินโซ อาเบะ ทำได้ดีที่หันไปสร้างความสัมพันธ์กับอินเดียและออสเตรเลียเป็นทางเลือก นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ หนึ่งในคำกล่าวที่หลายคนจำได้ดีก็คือตอนที่นายชินโซ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเขากล่าวว่า เขายังมีเป้าหมายอีกหลายอย่างที่ยังทำไม่สำเร็จ และสิ่งนั้นทำให้เขาลำบากใจที่ต้องลาออกจากตำแหน่งไปก่อนเวลา และวันนี้ แม้เขาจะไม่สามารถสานต่อภารกิจที่ยังไม่สำเร็จได้หมด แต่เชื่อแน่ว่า กาลเวลาจะทำให้เขายังเป็นที่จดจำกับสิ่งที่สร้างไว้ให้กับสังคมญี่ปุ่นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” อย่างแน่นอน