ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า สื่อดิจิทัล ได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารหลักในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing out) หรือ #เรื่องเด็ดต้องรีบแชร์ ซึ่งบางครั้งการรีบแชร์ทำให้ขาดการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ออกไป ทั้งนี้ ในเวทีเสวนา “รู้ทันสื่อร้าย ขยายสื่อดี ภาคีเข้มแข็ง” ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เริ่มที่ ภาคใต้เป็นภูมิภาคแรก โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกองทุนฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย พบว่าปัญหาการใช้สื่อในปัจจุบัน มีความเกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องหลักๆ คือ
- การหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์สุขภาพในสื่อออนไลน์ ที่เกิดผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง
- การส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ภายใต้นิเวศสื่อที่ดี
- การกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต( Cyberbullying) และการแพร่กระจายของข่าวปลอม( Fake news)
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นภารกิจหลักที่กองทุนฯให้ความสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการผลิตสื่อสร้างการมีส่วนร่วม และ สร้างเครือข่ายการเฝ้าระวัง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค กรรมการผู้ทรงวุฒิ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้คนไทยติดอันดับมีปริมาณการใช้สื่อออนไลน์ระดับโลก ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนัก ผู้ขายและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนมาซื้อขายผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาการได้รับสินค้าไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างสรรพคุณ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในออนไลน์ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง ซึ่งมักจะมีการโฆษณาชวนเชื่ออวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือบางผลิตภัณฑ์ก็ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบการใช้สื่อโฆษณาสรรพคุณสินค้าเกินจริง รวมทั้งแนะนำวิธีการสังเกตผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค
ขณะที่ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ กรรมการผู้ทรงวุฒิ ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า สื่อสารมวลชนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมาก เมื่อก่อนสื่อหลักของประเทศ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อวิชาชีพ จะเป็นผู้กำหนดประเด็นทางสังคม แต่เมื่อเปลี่ยนมาสู่ยุคสังคมออนไลน์ สื่อเริ่มดึงข่าวจากออนไลน์มานำเสนอแบบเน้นตามกระแสมากขึ้น ทำให้คุณค่า หรือจริยธรรมสื่อในการนำเสนอข่าวลดลง และสื่อวิชาชีพค่อย ๆ หายไป โจทย์ที่ท้าทายคือ เราจะดึงหรือสร้างระบบนิเวศสื่อให้กลับมามีคุณภาพเหมือนเดิมได้อย่างไร โดยส่วนตัวมองว่าการสร้างบุคลากร
รุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง เพื่อผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาจจะต้องเริ่มที่การอบรมทักษะ และต้องให้พื้นที่ข่าวดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดพื้นที่ข่าวร้าย ซึ่งการจะทำให้ระบบนิเวศสื่อที่ดีเกิดขึ้นมาได้ มีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. การส่งเสริมสื่อดีให้อยู่ได้ ทั้งการสนับสนุนจากผู้บริโภค และผู้ประกอบการสื่อ 2. เสริมศักยภาพสื่อชุมชน เพื่อให้มีมุมมองการนำเสนอข่าวสารจากชุมชนที่สดใหม่ และ 3. ยุทธศาสตร์ป้องกัน ในโรงเรียน ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน เพื่อเป็นเครือข่ายสื่อปลอดภัยที่เข้มแข็ง”
ด้าน นายยศพร ปัญจมะวัต กรรมการผู้ทรงวุฒิ ด้านสุขภาพจิต กล่าวว่าการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) เป็นปัญหาใหญ่ที่มาพร้อมสื่อออนไลน์ กับอีกเรื่องคือ ข่าวปลอม หรือ Fake News ที่ส่วนใหญ่ข่าวที่เป็น Fake news จะนำเสนอเพียงด้านเดียว เพื่อชักจูงคน และสร้างความตื่นเต้นให้คนรีบแชร์ รีบคอมเมนต์ เนื่องจากกลัวตกกระแส แต่อีกด้านคือ การแชร์อย่างรวดเร็วและคอมเมนท์บนพื้นฐานที่ไม่อิงข้อเท็จจริง อาจเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว จึงอยากให้ผู้ที่ใช้งานสื่อออนไลน์พึงประเมินว่าการเสพข่าวเหล่านี้ ทำให้เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง และก่อนที่จะแชร์หรือเผยแพร่อะไรไปในโลกออนไลน์ อยากให้นำหลัก 3G มาพิจารณาก่อนทุกครั้ง ซึ่งประกอบด้วย Good for me ดีกับตัวเราไหม, Good for other ดีกับคนอื่นไหม และสุดท้าย Good for the greater good ดีต่อศีลธรรมจรรยาและสังคมไหม ถ้าคอนเทนต์ที่เรากำลังจะกดนิ้วเผยแพร่ไปดีต่อทั้ง 3 กลุ่มนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่น่ากังวล”
นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม กล่าวว่า การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในการทำสื่อ เกิดขึ้นมาจากการต้องการสื่อสารประเด็นในชุมชนของตนไปยังสังคมภายนอก หากแต่ด้วยข้อจำกัดของสื่อมวลชนที่อาจจะไม่สะดวกเข้ามาเผยแพร่ จึงต้องทำสื่อกันเอง และสื่อสารเนื้อหาผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่จะทำให้คนในสังคมได้เห็นความจริง เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนนั้น ๆ รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีชุมชนออกไป จากคลังความรู้ในชุมชนที่เรามีอยู่ โจทย์สำคัญ คือ มีคนเป็นสื่อเยอะมาก แต่ตัวกลไกกำกับกลับมีน้อยมากซึ่งเมื่อเราอยู่ในยุคที่ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์เองได้แบบนี้แล้ว เราจะต้องทำอย่างไรให้คอนเทนต์มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น