สองผู้บริหาร “ซีพี – เทเลนอร์ กรุ๊ป” แท็กทีมอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังควบรวม “ทรู-ดีแทค” เชื่อเป็นการทำให้แบรนด์ที่ไม่แข็งแรง 2 แบรนด์แข็งแรงขึ้น และสามารถก้าวขึ้นไปแข่งกับผู้ให้บริการ OTT ระดับโลกได้มากกว่าจะมองที่การแข่งขันในประเทศ ชี้การออกมาอธิบายครั้งนี้ไม่ได้เป็นการกดดัน กสทช. ในการพิจารณาและประกาศเงื่อนไขในการควบรวม แต่ก็ไม่อยากให้กระบวนการล่าช้าออกไปมากกว่านี้ พร้อมยืนยันสนับสนุน Ecosystem ด้านเทคสตาร์ทอัพด้วยงบประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,300 ล้านบาทแน่นอน
ยังไม่สามารถจบได้สำหรับการควบรวมกิจการของสองแบรนด์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง “ทรูและดีแทค” ซึ่งทำให้สองผู้บริหารของบริษัทต้องออกมาชี้แจงถึงความคืบหน้าอีกครั้งเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคุณซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) ของเทเลนอร์ กรุ๊ป มีการแถลงข่าวร่วมกันถึงทิศทางของทั้งบริษัทที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวม พร้อมอธิบายถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้นด้วย
“ศักยภาพในการแข่งขันของทั้งสององค์กรเริ่มลดน้อยลงในการแข่งขัน ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในตอนนี้ไม่ได้แข่งขันเฉพาะในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่แข่งกับแบรนด์ระดับโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่า รายได้ของอุตสาหกรรมมือถือลดลงทุกรายในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ แต่การลงทุนสูงขึ้นเพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็น 5G” คุณศุภชัยกล่าว พร้อมเผยต่อไปด้วยว่า ภาพรวมการแข่งขันที่เปลี่ยนไปมากนี้ ทำให้ทั้งดีแทค และทรูมองว่า การควบรวมจะทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีศักยภาพในแข่งขันที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และสามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการ Over the Top ได้
ขณะที่ความกังวลว่าเมื่อเกิดการควบรวมจะนำไปสู่การผูกขาด และการขึ้นราคาค่าบริการนั้น คุณศุภชัยชี้แจงว่า ราคาค่าบริการนั้นถูกควบคุมโดย กสทช. อยู่แล้ว พร้อมชี้ว่า ค่าบริการโทรคมนาคมในประเทศไทยนั้นถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาค รองจากอินเดีย จึงไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเหลือแค่สองเจ้า จะมีการรวมตัวกันขึ้นราคาให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่ม
ด้านคุณซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) ของเทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวเสริมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมว่า บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นนี้จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนกับสตาร์ทอัพไทยในรูปแบบ Venture Capital Fund มูลค่า 7.3 พันล้านบาท (200 ล้านเหรียญสหรัฐ) และการสร้าง Incubation center สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้พบกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก
อยากทำงานร่วมกับ กสทช.แล้ว
อย่างไรก็ดี ทั้งคุณศุภชัย และคุณซิกเว่ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันต่อกรณีความล่าช้าด้านการพิจารณาและประกาศเงื่อนไขสำหรับการควบรวมที่จะเกิดขึ้นจาก กสทช. ว่า “ตามหลักต้องเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ก็เข้าใจว่า กสทช.ที่เข้ามาใหม่ ต้องการเวลาในการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเรายินดีทำงานกับ กสทช. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการควบรวม และถ้าต้องมีแอคซิเดนท์ใด ๆ ก็ตาม ทำให้ไม่สามารถควบรวมได้ ทุกอย่างก็จะเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ไม่เฉพาะทรู ดีแทค แต่ทุกคนจะอ่อนแอไปด้วยกัน ซึ่งการควบรวมในลักษณะที่เราทำอยู่ ทาง NT ก็เคยทำมาแล้ว”
ทั้งนี้ ผู้บริหารทรูยังได้กล่าวถึงกรณีของการเทคโอเวอร์กิจการ 3BB ของเอไอเอส ที่มีการยื่นขออนุมัติจาก กสทช. ด้วยว่า เป็นกรณีที่แตกต่างจากทรู – ดีแทค เนื่องจากเอไอเอสเข้าเทคโอเวอร์กิจการของ 3BB การยื่นขออนุมัติจาก กสทช. จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่คุณศุภชัยชี้ว่า กรณีของทรู – ดีแทคเป็นการควบรวม ซึ่งไม่ต้องขออนุมัติจาก กสทช. แต่ต้องพิจารณารับเงื่อนไขจาก กสทช. ว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้การควบรวมสามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการประกาศเงื่อนไขใด ๆ ออกมาจาก กสทช. เท่านั้นเอง ซึ่งทางทรู – ดีแทคมองว่า ค่อนข้างล่าช้าจากกรอบเวลา 90 วันไปพอสมควร (ทางทรูระบุว่า มีการยื่นเอกสารไปตั้งแต่ 25 มกราคม 2022)
“เรายินดีที่จะทำงานร่วมกับ กสทช. บนเงื่อนไขที่จะประกาศออกมา ก็อยากรู้เหมือนกันว่า กสทช. จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง” คุณศุภชัยกล่าว
นอกจากนั้น ในแง่ของการก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาด คุณศุภชัยมองว่า ระหว่างทรูกับดีแทค มีลูกค้าข้ามค่ายกันอยู่ราว 30% ซึ่งในจุดนี้มีข้อกำหนดจาก กสทช. ว่าต้องเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ 90 วัน แต่ถ้าเกิดการควบรวม จะทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานของทางบริษัทใหม่มีความชัดเจนขึ้น และคงไม่ทำให้บริษัทใหม่หลังการควบรวมมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% แน่นอน แต่อาจอยู่ระหว่าง 46 – 47% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเอไอเอส