HomeDigital4 เทรนด์ใหญ่ที่ Satya Nadella แห่ง Microsoft มองเห็น และ 4 ความท้าทายที่คนไทยต้องลงมือเปลี่ยนแปลง

4 เทรนด์ใหญ่ที่ Satya Nadella แห่ง Microsoft มองเห็น และ 4 ความท้าทายที่คนไทยต้องลงมือเปลี่ยนแปลง

แชร์ :

microsoft satya nadella

เมื่อเดือนมกราคม 2022 มีคำกล่าวหนึ่งจาก Satya Nadella ซีอีโอคนดังจากค่ายไมโครซอฟท์ (Microsoft) เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมื่อเขาบอกว่า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“Fundamentally, we’re moving from a mobile and cloud era to an era of ubiquitous computing and ambient intelligence, an era in which we’ll experience more digitization over the next 10 years than the last 40.”

หรือก็คือการมองว่า มนุษย์กำลังก้าวข้ามจากโลกในยุคโมบายล์ และคลาวด์ ไปสู่ยุคที่การประมวลผลเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกอุปกรณ์ รวมถึงเรื่องของความอัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งในยุคดังกล่าว มนุษย์จะมีการใช้สิ่งที่เรียกว่า “ดิจิทัล” มากขึ้นอย่างที่อาจจะจินตนาการไม่ได้เมื่อเทียบกับยุคเมื่อ 40 ปีก่อนเลยทีเดียว

เมื่อหันมามองความเป็นจริงในยุคนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ Satya Nadella คาดการณ์ไว้ไม่ผิดจากความเป็นจริง เห็นได้จากหลาย ๆ บริการที่นำ AI เข้ามาแทรกไว้ได้อย่างแนบเนียน และออกแบบให้ผู้บริโภคเข้าถึง – ใช้งานง่าย (เช่น การถ่ายภาพของสมาร์ทโฟน) นอกจากนั้น ในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็ทำงานผ่านคลาวด์กันแล้วเป็นส่วนใหญ่

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ - กรรมการผู้จัดการใหญ่ - ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ Satya Nadella และ Microsoft มองอย่างไรต่อโลกดิจิทัลหลังจากนี้ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ข้อความดังกล่าวได้ถูกขยายความให้ชัดเจนขึ้นโดยคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยที่บอกว่า เทรนด์ด้านดิจิทัลที่ Microsoft มองเห็นหลังจากนี้ ประกอบด้วย 4 ประเด็นใหญ่ นั่นคือ

  • Metaverse
  • AI
  • Quantum Computing
  • Hybrid Work

เมื่อ 4 เทรนด์หลักทำงานร่วมกัน

ส่วนแต่ละเทรนด์จะผสานเข้าด้วยกันจนกลายเป็นโลกใหม่ได้อย่างไรนั้น คุณธนวัฒน์อธิบายว่า บทบาทของ Metaverse, AI, Quantum Computing และ Hybrid Work นั้นสามารถทำงานร่วมกันได้หลากหลาย พร้อมยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันของ AI และ Quantum Computing ผ่านโมเดลจำลองสภาพการจราจรในซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา ที่ Microsoft ทำร่วมกับค่าย Ford Motor โดยพบว่า แนวคิดของโมเดลดังกล่าวช่วยให้รถติดน้อยลง 73% รวมถึงลดเวลาเดินทางได้ถึง 55,000 ชั่วโมงต่อปี

microsoft imd digital 3

สำหรับการทำงานของโมเดล คุณธนวัฒน์อธิบายว่า โดยปกติแล้ว เมื่อเราเปิดแอปแผนที่ต่าง ๆ แล้วบอกว่าจะเดินทางจากจุด A ไปจุด B ระบบก็จะคำนวณเส้นทางให้จากเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งถ้ามีรถ 1,000 คันบอกว่ากำลังจะเดินทางจากจุด A ไปจุด B พร้อมกัน บนถนนเส้นนั้นก็จะมีรถ 1,000 คันวิ่งมาด้วยคำแนะนำเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาจราจรได้

แต่โมเดลจำลองของ Microsoft ที่ใช้ AI และ Quantum Computing ประมวลผลนั้น จะสามารถ detect ได้แบบเรียลไทม์ว่ามีรถกี่คันที่กำลังจะมุ่งหน้าจากจุด A ไปจุด B ทำให้สามารถออกแบบเส้นทางให้รถแต่ละคันวิ่งกระจายกันไปในทิศทางที่แตกต่างกันได้ และสามารถเดินทางจากจุด A ไปจุด B ได้เหมือนกัน ผลก็คือ ลดปัญหารถไปกระจุกตัวบนถนนเส้นเดียวกันซึ่งเป็นตัวการทำให้รถติดได้นั่นเอง โดยในตอนนี้ ค่าย Ford กำลังนำโมเดลดังกล่าวไปประยุกต์ใช้จริงแล้ว

หรือกรณีการทำงานร่วมกันของ Metaverse และ Hybrid Work ที่ช่วยให้องค์กรยังสามารถรักษาทาเลนท์เอาไว้ได้ โดย Microsoft พบว่า ในช่วง Covid-19 ระบาด และเกิดการทำงานแบบ Work From Anywhere ไปทั่วโลกนั้น ในแง่การทำงาน มีการใช้เวลาในการประชุมเพิ่มขึ้นกว่า 250% ซึ่งพนักงานที่ผ่านสภาพการทำงานในลักษณะดังกล่าวมาอาจต้องการที่การทำงานที่ดีต่อสุขภาพกายและใจมากขึ้น สอดคล้องกับภาพรวมในประเทศไทย ที่ Microsoft Work Trend Index 2022 พบว่า

  • 68% ของพนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดต้องการทำงานนอกสถานที่แบบเต็มร้อย
  • 53% เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจมากกว่างาน
  • 76% มองว่าตัวเองทำงานได้มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าเดิมในยุคไฮบริด
  • 59% เปิดใจรับการประชุมใน Metaverse หรือในรูปตัวละครเสมือนจริง

ด้วยเหตุนี้ การมาถึงของ Metaverse ในมุมของ Microsoft จึงอาจเปรียบได้กับเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานได้จากที่ใดก็ได้ในโลกได้อย่างแท้จริงนั่นเอง

microsoft

ไทยพร้อมไหมกับ 4 เทรนด์ดิจิทัล ในมุมของ Microsoft

สำหรับประเทศไทย หากต้องการประยุกต์ใช้ทั้ง 4 เทรนด์ที่กล่าวมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความท้าทายที่ประเทศไทยต้องก้าวข้ามหลายข้อ โดยคุณธนวัฒน์มองว่า ความท้าทายประการแรกคือ Mindset

“คนไทยยังค่อนข้าง conservative ในการลงทุนด้านดิจิทัล ถ้าเทียบกับประเทศอเมริกา หรือประเทศที่สตาร์ทอัพค่อนข้างบูม จะพบว่าเขาค่อนข้างกล้าลงทุนมากกว่า”

microsoft imd digital 2

นอกจากนั้น ในแง่ความพร้อม มีการหยิบยกผลการจัดอันดับของ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021 ที่พบว่า ประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก และอันดับ 10 ของเอเชีย โดยสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ

ความพร้อมด้านองค์ความรู้อยู่ในอันดับ 42 ความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 22 ส่วนความพร้อมด้าน Future Readiness อยู่ในอันดับ 44

คุณธนวัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่อยู่อันดับ 22 ของการจัดอันดับ หมายความถึงเรื่องโครงข่ายโทรคมนาคม ที่เข้าถึงประชากรในประเทศ การใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล ฯลฯ ที่ประเทศไทยมีตัวเลขค่อนข้างสูงนั่นเอง

microsoft imd digital

อะไรทำให้ Future Readiness ของไทยตกไปอยู่อันดับที่ 44

จุดที่น่าสนใจคือ Future Readiness หรือความพร้อมต่ออนาคต ซึ่งสิ่งที่ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021 ชี้ว่าเป็นข้อดีของไทยก็คือ เรามีบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น ๆ โดยมีการผลิตออกมามากเป็นอันดับที่ 17 ของตาราง นอกจากนั้น ไทยยังมีนักวิจัยหญิงมากเป็นอันดับ 6 ของโลกด้วย หรือในแง่การส่งออกเทคโนโลยีชั้นสูง ไทยก็อยู่ในอันดับที่ 12 ของตาราง

ในทางตรงกันข้าม ผลการศึกษากลับพบว่า ทักษะด้านดิจิทัล – เทคโนโลยีของคนไทยอยู่ในอันดับที่ 42  ของโลก อีกทั้งการจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยก็ตกไปอยู่อันดับ 58 และที่สำคัญที่สุดคือการจดสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีระดับสูงที่ไทยอยู่ในอันดับ 42 ของตารางเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่มีผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาตร์ได้มากกว่าอีกหลายชาติ ไม่นับว่าการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้น ไทยอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ไม่ได้เป็นเจ้าขององค์ความรู้อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่คนไทยอาจต้องนำไปขบคิดกันให้มากขึ้นว่าจะก้าวข้ามไปอย่างไรดี

อย่างไรก็ตาม ในมุมของการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้คนไทย และการสนับสนุนสตาร์ทอัพ Microsoft ระบุว่า ทางบริษัทมีการเปิดตัวหลายโครงการเพื่อยกระดับความรู้ด้านดิจิทัลแล้ว เช่น

  • โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน (Accelerating Thailand) ที่อบรมทักษะด้านดิจิทัลให้คนไทยไปแล้วกว่า 280,000 คนในปีก่อนหน้า และปีนี้มีการตั้งเป้าไว้ที่ 180,000 คน
  • Microsoft Cloud Squad สำหรับปูพื้นฐานให้ผู้ที่สนใจในสาย Cloud, Data, AI, Security (ปัจจุบันมีผู้เรียนแล้วกว่า 20,000 ราย)
  • Microsoft Founders Program โครงการสำหรับช่วยต่อยอดสตาร์ทอัพไทย

นอกจาก 3 โครงการที่กล่าวมา Microsoft ยังเตรียมเปิดตัว Microsoft LearningVerse สำหรับเป็นพื้นที่เรียนรู้บนโลกดิจิทัล ที่รวมองค์ความรู้จากบริษัทมาไว้ในที่เดียวด้วย

จะเห็นได้ว่า การเปิดพื้นที่เพื่อให้คนได้เรียนรู้ทักษะดิจิทัลนั้นได้กระจายไปยังคนหลายกลุ่มมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากคนไทยพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงประเทศให้การสนับสนุนการเข้าถึงความรู้บนโลกดิจิทัล ก็เชื่อว่า โอกาสที่เราจะ “เปลี่ยนแปลง” ประเทศด้วยดิจิทัลของไทยก็มีสูงมากไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เช่นกัน


แชร์ :

You may also like