กว่า 75 ปี อาณาจักรของ “กลุ่มเซ็นทรัล” แห่งตระกูล “จิราธิวัฒน์ ” หนึ่งในมหาเศรษฐีเบอร์ต้นของเมืองไทย สร้างการเติบโตมูลค่าหลายแสนล้านบาท มีกลุ่มธุรกิจกว่า 50 บริษัท ครอบคลุมธุรกิจหลักทั้งหมด 6 ประเภท อาทิ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ขยายธุรกิจไปแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม
ขณะที่ตลอดช่วง 11 ปีที่ผ่านมา “กลุ่มเซ็นทรัล” เริ่มขยายกิจการเข้าไปในทวีปยุโรปอย่างต่อเนื่อง จนสามารถคว้าสิทธิการบริหารงานในห้างฯหรูและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำมากมาย ล่าสุดกับการร่วมกับกลุ่มซิกน่า ปิดดีลเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges Group) จากตระกูลเวสตัน เมื่อช่วงที่ผ่านมา คืออีกก้าวสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลบนเวทีค้าปลีกในยุโรปที่น่าจับตามอง
BrandBuffet ชวนย้อนรอยเส้นทางของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ตลอด 11 ปีที่ผ่าน กับการเสริมแกร่งพอร์ตศูนย์การค้า-อสังหาริมทรัพย์ในยุโรป ภายใต้วิสัยทัศน์ของแม่ทัพใหญ่อย่าง “คุณทศ จิราธิวัฒน์” ทายาทเจน 3 แห่งตระกูล “จิราธิวัฒน์” ในฐานะประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ที่ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโตในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ-ร่วมทุนกิจการห้างสรรพสินค้า อสังหาฯ ชั้นแนวหน้าในเมืองท่องเที่ยวหลักของยุโรป พร้อมกับพลิกโฉมและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับธุรกิจลักชัวรี่รีเทล เพื่อเป้าหมายที่จะสร้างประสบการณ์แบบออมนิแชแนลระดับโลก
ก้าวแรกบนเส้นทางค้าปลีกยุโรปใน “อิตาลี-เดนมาร์ก”
กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มสยายปีกในยุโรปครั้งแรกเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา ช่วงกลางปี 2554 ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการค้าปลีกไทยกับการเข้าซื้อกิจการเชนห้างสรรพสินค้าระดับโลก “ลา รีนาเซนเต” (La Rinascente) ที่อายุกว่า 150 ปี ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการเข้าซื้อธุรกิจแรกในยุโรปด้วยเงินลงทุน 260 ล้านยูโร หรือราว 11,000 ล้านบาท
พร้อมนำมาสลัดภาพเก่าพร้อมรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ “รีนาเชนเต” (Rinascente) แบรนด์ค้าปลีกแฟลกชิพระดับลักชูรี่ ที่มีแฟลกชิพสโตร์ขนาดใหญ่ให้บริการใจกลางมิลาน โรม และครอบคลุมเมืองสำคัญต่างๆทั่วประเทศอิตาลี นั่นคือก้าวสำคัญก้าวแรกของในการเจาะตลาดยุโรป
แม้จะสามารถปักหมุดในอิตาลีได้แล้ว แต่เป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลในตลาดยุโรปคือการขยายสาขาเจาะในทำเลเมืองท่องเที่ยวๆต่าง ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในการสร้างเครือข่ายด้านการเติบโตโดยใช้จุดเด่นการท่องเที่ยวตามเมืองชั้นนำในยุโรปมาเป็นตัวนำ
ดังนั้นในปี 2556 “กลุ่มเซ็นทรัล” จึงตัดสินใจเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าหรูอีกแห่งในเดนมาร์ก นั่นคือ ห้างสรรพสินค้าอิลลุม (ILLUM) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้างที่มีชื่อเสียงในกลุ่มชาวสแกนดิเนเวีย ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์การขยายกิจการทางกลุ่มไปยังตลาดโลกอีกสเต็ป
“การซื้อ ห้างฯ อิลลุม ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจที่วางไว้ของกลุ่ม ซึ่งครั้งนี้จะใช้เงินทุนในการเพิ่มคุณค่าของห้างสรรพสินค้า อิลลุม ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยจะมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด รวมถึงการคัดสรรสินค้า การนำเสนอสินค้าที่ตรงตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้ห้างสรรพสินค้าอิลลุม เป็นห้างหรูที่เสนอสินค้าชั้นเลิศที่มีเอกลักษณ์ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าระดับบนอย่างแท้จริง” คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัลกล่าวถึงการการขยายธุรกิจค้าปลีกในยุโรปอย่างต่อเนื่องภายหลังปิดดีลดังกล่าวได้
จุดเริ่มต้นกับซิกน่า พันธมิตรที่เปรียบเหมือนครอบครัว
ต่อมาในปี 2558 กลุ่มเซ็นทรัลเดินหน้าจับมือกับซิกน่าเป็นครั้งแรก ในการเข้าซื้อกิจการห้างหรูในเยอรมนี 3 ห้าง ได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe) ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) โดยกลุ่มเซ็นทรัลเข้าถือหุ้นกลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างทั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 50.1% ขณะที่อีก 49.9% เป็นของซิกน่า
ก่อนที่ในปี 2563 จะร่วมทุนกับซิกน่าอีกครั้งเพื่อเข้าซื้อกิจการ “โกลบัส” (Globus) เชนห้างสรรพสินค้าสุดหรูในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ากว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิส หรือราว 31,000 ล้านบาท
กิจกรรมข้างต้นเป็นการเข้าซื้อกิจการท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดคลี่คลายลง การท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตจะกลับมาปกติอีกครั้ง ซึ่งการมีเครือข่ายศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์จะสามารถสร้างการเติบโตได้ดีหลังสถานการณ์กลับมาปกติ
ขณะเดียวกันการมีพันธมิตรอย่าง กลุ่มซิกน่า รูปแบบการดำเนินงาน แนวคิด และการเติบโตมาจากธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกันคืออีกหนึ่งปัจจัยหนุนในการสร้างการเติบโตเป็นอย่างดี
ปิดดีลกลุ่ม Selfridges เพิ่มพอร์ตห้างหรู 45 แห่ง ครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวในยุโรป
ล่าสุดกับการปิดบิ๊กดีลมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท ร่วมกับกลุ่มซิกน่า หลังประกาศความร่วมมือตั้งแต่ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา คืออีกก้าวใหญ่ในเวทียุโรปของทางกลุ่ม หลังปิดดีล Selfridges ซึ่งนับได้ว่าเป็นดีลประวัติศาตร์ ส่งผลทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้สิทธิการบริหารงานในห้างสรรพสินค้ารวมทั้งหมด 18 แห่ง ภายใต้ 4 แบรนด์ ใน 3 ประเทศ ทั้งอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ ยังคว้าสิทธิแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สามารถดูดลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลได้กว่า 30 ล้านคนต่อเดือน และมีการจัดส่งสินค้าไปยังกว่า 130 ประเทศทั่วโลก นับเป็นการต่อยอดและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำของกลุ่มห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกในอนาคต
โดยกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจสจะถูกนำเข้ามารวมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลและซิกน่าในยุโรป ที่ปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ทั้งหมดถึง 22 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ห้างสรรพสินค้าที่ดำเนินธุรกิจภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ รีนาเชนเต ในประเทศอิตาลีและ อิลลุม ในประเทศเดนมาร์ก และห้างสรรพสินค้าที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และ ซิกน่า ได้แก่ คาเดเว โอเบอร์โพลลิงเกอร์ และ อัลสแตร์เฮาส์ ในประเทศเยอรมนี โกลบุส ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลจะมีห้างหรูใน 8 ประเทศในทวีปยุโรป รวม 45 แห่ง ครอบคลุมเกือบทุกเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก
ทั้งหมดนี้ทำให้ยุโรปกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักและตลาดสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล แม้ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนยอดขายของกลุ่มเซ็นทรัลจะมาจากในประเทศเป็นหลักกว่า 70% และในยุโรปราว 15% แต่จากการเดินหน้าขยายธุรกิจ พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจในยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดว่าจะทำให้กลุ่มบริษัทร่วมทุนของเซ็นทรัลกับพันธมิตรมียอดขายจาก 8 ประเทศในยุโรปเป็น 7,000 ล้านยูโรในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มียอดขาย 5,000 ล้านยูโร
กลุ่มเซ็นทรัล ปิดบิ๊กดีล 1.8 แสนล้านเข้าซื้อกิจการกลุ่ม Selfridges ฮุบห้างหรู 18 แห่ง ใน 3 ประเทศ