HomeInsightETDA เปิดพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตคนไทย 2022 “คนกรุง” เสพเน็ตหนักวันละ 10 ชั่วโมง “e-Health” ครองแชมป์กิจกรรมใช้มากสุด

ETDA เปิดพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตคนไทย 2022 “คนกรุง” เสพเน็ตหนักวันละ 10 ชั่วโมง “e-Health” ครองแชมป์กิจกรรมใช้มากสุด

แชร์ :

ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้ “อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้ ยิ่งทำให้พฤติกรรรมคนไทยใช้เน็ตเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งในปีนี้ คนไทยจะใช้เวลากับกิจกรรมไหนบนโลกอินเทอร์เน็ตมากที่สุด และอาชีพไหนใช้อินเทอร์เน็ตหนักสุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำนักงานพัฒนาธุรกรรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 ซึ่งเป็นสำรวจด้วยวิธีออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 46,348 ราย ทั่วประเทศ กระจายตาม อายุ และจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงกรกฎาคม 2565 เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยและนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เจาะตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น

10 ปีคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น “คนกรุง” ใช้เน็ตสูงสุด

ETDA ได้เริ่มทำผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2556 ตอนนั้นคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาที ผ่านมา 10 ปี ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก โดยกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดถึง 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและเหนือ ใช้ไม่ต่างกันมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 59 นาทีต่อวัน, 6 ชั่วโมง 45 นาทีต่อวัน และ 6 ชั่วโมง 17 นาทีต่อวัน ตามลำดับ ส่วนภาคใต้ ใช้น้อยสุด เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน

ด้าน Generation พบว่า Gen Y (ช่วงอายุ 22-41 ปี) ครองแชมป์การใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด อยู่ที่ 8 ชั่วโมง 55 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ Gen Z (อายุน้อยกว่า 22 ปี) ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน ส่วน Gen X (ช่วงอายุ 42-57 ปี) อยู่ที่ 5 ชั่วโมง 52 นาทีต่อวัน และ Baby Boomers ขึ้นไป (ช่วงอายุ 58 ปีขึ้นไป) 3 ชั่วโมง 21 นาที

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ ติดอันดับ 1 ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวัน รองลงมาคือ นักเรียน/นักศึกษา มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 57 นาทีต่อวัน ตามด้วยฟรีแลนซ์ 7 ชั่วโมง 40 นาทีต่อวัน, เจ้าของกิจการ ธุรกิจส่วนตัว 7 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน และพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน 7 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน เป็นต้น

“e-Health” ครองแชมป์กิจกรรมยอดฮิต ส่วน “Live Commerce” มาแรง

ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน ตรวจหาเชื้อ และปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น หรือเพื่อลดเวลาที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

รองลงมา คือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ช้อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ

แต่สิ่งที่มาแรงคือ Live Commerce ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มสำรวจเป็นปีแรก แต่กลับติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมคนไทยที่ชื่นชอบการดู Live และเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ขาย โดยกลุ่มคนที่เข้ามาชมมากที่สุด คือ

1.Gen Y (88.36%)

2.Gen X (84.55%) 

3.Gen Z (81.53%)

4.Baby Boomers (74.04%)

5.Gen Builders (52.30%)

โดยประเภทสินค้าที่ Gen Y เลือกซื้อมากที่สุดคือ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ รองลงมาคือ เครื่องสำอาง ส่วน Gen X เลือกซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ สินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ Gen Z เลือกซื้อเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ มากที่สุด รองลงมาคือ เครื่องสำอาง ด้าน Baby Boomers เลือกซื้อสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมา อาหารแห้ง และ Gen Builders เลือกซื้ออาหารสดมากที่สุด เป็นต้น

สำหรับเหตุผลในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะ

1.ราคาถูก (63.10%)

2.ความหลากหลายของสินค้า (58.73%)

3.แพลตฟอร์มใช้งานง่าย (45.81%)

4.การจัดโปรโมชัน เช่น 11.11, 12.12, Flash Sale (44.39%)

5.ค่าจัดส่งถูกหรือฟรี (34.10%)

Gen Y – Z นักสร้างคอนเทนต์ตัวยง 

เมื่อพิจารณาช่องทางที่คนไทยเลือกซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด อันดับ 1 คือ e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, Kaidee 75.99% รองลงมาคือ Facebook 61.51% Website 39.7% LINE 31.04% Instagram 12.95% และ Twitter 3.81%

ส่วนช่องทางที่ผู้ขายนิยมใช้ขายสินค้าหรือบริการมากที่สุด คือ

1.Facebook (66.76%)

2.e-Marketplace (55.18%)

3.LINE (32.05%)

4.Website (26.67%)

5.Instagram (19.91%)

6.Twitter (9.90%)

ด้านช่องทางการชำระเงิน พบว่า คนไทยนิยมชำระเงินโดยการโอนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคาร มากที่สุดถึง 67.32% รองลงมาคือ เก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery หรือ COD) 58.49% ชำระด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) 24.43% บัตรเครดิต 17.09% และบริการชำระเงินออนไลน์ เช่น บริการ PayPal หรือ Google Pay 15.51% เป็นต้น

นอกจากพฤติกรรมในการซื้อขายของออนไลน์ที่ได้รับความนิยมแล้ว ผลสำรวจในปีนี้ ยังพบว่า กิจกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มลดลงและอาจหายไปในอนาคต ได้แก่ การค้นหาข้อมูล search engine, การรับส่ง อีเมล เพราะปัจจุบันคนมักค้นหาข้อมูลและรับส่งข้อมูล ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่นเดียวกับการดาวน์โหลดซอฟแวร์ เพลง ละคร เกม เพื่อเก็บไว้ดูย้อนหลัง ในอนาคตอาจไม่มีอีกแล้ว เพราะถูกแทนที่โดย Streaming ที่สามารถชมได้แบบ Real time และย้อนหลังได้ผ่านแพลตฟอร์มนั้น ๆ

ขณะเดียวกัน ยังพบด้วยว่า Gen Y และ Gen Z มีแนวโน้มมุ่งสู่การเป็น Content Creator มากกว่า Gen อื่นๆ เนื่องจากเป็น Gen ที่นิยมสร้าง Online Content มากที่สุด โดยประเภท Content ที่นิยมสร้างมากที่สุด คือ วิดีโอ/คลิป 49.85% เขียนบทความ/คอนเทนต์/เว็บไซต์ 41.79% ถ่ายทอดสด (Live) 36.77% สตรีมมิงเกม/สตรีมมิงอื่น ๆ 11.86% จัดรายการวิทยุออนไลน์ 10.32% และจัดรายการพอดแคสต์ 8.98%

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like