ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ และนับวันก่อตัวหนักขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนจึงเริ่มหันมาตระหนักและใส่ใจกับการจัดการขยะสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น จะเห็นจากนโยบายรณรงค์ลด เลิกใช้ถุง กล่อง และแก้วที่ทำจากพลาสติก และโฟม รวมถึงหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ กระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนต้องใส่หน้ากากอนามัย (Mask) เว้นระยะห่างทางสังคม และใช้ชุดตรวจโควิด-19 อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นวิธีที่จะช่วยลดการแพร่กระจายและติดเชื้อโควิด-19 ลงได้
แต่รู้ไหมว่า ทุกครั้งที่เราใส่หน้ากากอนามัยหรือตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองนั้น เรากำลังสร้างขยะให้กับหลุมฝังกลมเพิ่มขึ้น เพราะหน้ากากอนามัยและชุดตรวจโควิด-19 ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene) ซึ่งใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลายได้หมด โดยมีงานวิจัย พบว่า เฉพาะหน้ากากเพียงชิ้นเดียวสามารถย่อยเป็นไมโครไฟเบอร์ได้ถึง 173,000 ชิ้นต่อวันในท้องทะเล และคาดการณ์กันว่า ปัจจุบันมีหน้ากากอนามัยหลายพันล้านชิ้นกระจายสู่แม่น้ำลำคลอง หรือท้องทะเล จึงสร้างส่งผลกระทบมากมายต่อสัตว์น้ำ
จากปัญหาดังกล่าว Dwi Umi Siswanti และ Tiara Putri นักวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จากมหาวิทยาลัย Gadjah Mada ในเมืองยกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จึงเกิดไอเดียผลิตหน้ากากอนามัยที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยทำมาจาก “ใบสับปะรด”
สาเหตุที่ต้องเป็น “ใบสับปะรด” เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ทำให้มีการปลูกสับปะรดเป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนของใบสับปะรดมักไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ทำให้กลายเป็นขยะทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก นักวิจัยจึงต้องการนำใบของสับปะรดเหลือทิ้งเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
สำหรับกระบวนการผลิตหน้ากากจากใบสับปะรดในครั้งนั้ จะนำใบสับปะรดมาสกัดให้กลายเป็นเส้นใย จากนั้นนำมาทอเป็นผืน และต่อยอดออกมาเป็นหน้ากากอนามัยต่อไป โดยคุณสมบัติเด่นของเส้นใยจากใบสับปะรดคือ น้ำหนักเบาเหมือนผ้าลินิน แต่ให้ความนุ่มกว่าเส้นใยพืชอื่นๆ ทั้งยังสามารถย้อมได้ง่าย และที่สำคัญ เส้นใยจากใบสับปะรดไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีมากเท่ากับฝ้ายในกระบวนการผลิต และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน
ดังนั้น เมื่อสวมใส่หน้ากากจากใบสับปะรด จึงสามารถทิ้งหน้ากากลงในดินได้เลย เพราะสามารถย่อยสลายได้ภายใน 3 วัน แต่ในด้านความทนทานของหน้ากากจากใบสับปะรดอาจจะยังเทียบกับหน้ากากพลาสติกไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถทนต่อน้ำและความชื้นได้ ในจุดนี้จึงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ต่อไป แต่ก็นับเป็นทางเลือกในการช่วยลดมลภาวะให้กับโลกได้อย่างมาก
ที่มา:
https://bit.ly/3daDF27
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand