อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก่อนโควิดทำรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาท คาดกันว่าจะกลับมาเห็นตัวเลขนี้อีกครั้งในปี 2567 โดยไทยถือเป็นประเทศที่สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก นั่นหมายถึงโอกาสจากการท่องเที่ยวยังมีอีกมหาศาล แต่การดึงดูดเม็ดเงินจำเป็นต้องมี “แหล่งท่องเที่ยว” ที่เป็นจุดหมายใหม่มาเรียกความสนใจ จึงเป็นที่มาของบิ๊กโปรเจกต์ THE CAVENTURE สถานที่ท่องเที่ยวรำลึกเหตุการณ์ “13 หมูป่า” ในรูปแบบ Immersive Experience โชว์ศักยภาพ Soft Power ไทย
หากดูแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (Attraction) ทั่วโลก จะมาจาก 1. แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ 2.สถาปัตยกรรมสวยงาม 3. เหตุการณ์หรืออีเวนท์สำคัญ จากนั้นพัฒนามาเป็นจุดหมายท่องเที่ยว (Destination) แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้น (Man-made) มาดึงดูดผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยว
หลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกใช้โมเดลสร้าง Visitor Center บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่าง เหตุการณ์ 911 ในปี 2001 ที่นิวยอร์ก ได้สร้างสถานที่ให้คนมารำลึกถึงเหตุการณ์ จากนั้นในปี 2011 ได้พัฒนาพื้นที่ชั้นใต้ดินให้เป็น Visitor Center บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแล้วกว่า 33 ล้านคน เฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน
หรืออย่าง “สโตนเฮนจ์” เดิมเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่คนใช้เวลาเยี่ยมชม 15 นาที หลังจากสร้าง Visitor Center ขึ้นมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ ทำให้คนใช้เวลามากขึ้นและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีมากขึ้น เช่นเดียวกับ “เพิร์ลฮาร์เบอร์” ที่นำเหตุการณ์มาสร้างเป็นจุดท่องเที่ยว
โมเดลสร้าง Visitor Center ของแหล่งท่องเที่ยวหลายประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เมื่อใส่เรื่องราวเหตุการณ์ สถานที่ เป็น Storytelling เข้าไป จะช่วยสร้างคุณค่าและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นถึง 60% จากเดิม โดยรูปแบบการสร้าง Visitor Center จุดท่องเที่ยว มักจะอยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่พักคอย ระหว่างรอไปชมสถานที่จริง
“13 หมูป่า” เหตุการณ์ระดับโลก Soft Power ของไทย
สำหรับประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญระดับโลก สามารถสร้างเป็น Visitor Center บอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ได้ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคน 30 สัญชาติที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เหตุการณ์สึนามิ มีสถานที่รำลึกเหตุการณ์
รวมทั้งปฏิบัติการกู้ชีวิต “13 หมูป่า” ติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกติดตามตลอด 17 วัน นับจากวันเกิดเหตุ 23 มิถุนายน 2561 เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกตามดู Breaking News เพราะเป็นครั้งแรกที่เด็กติดถ้ำ กลายมาเป็น Global Issue สำนักข่าวทั่วโลกมาเกาะติดรายงานข่าว ทั้งโลกเฝ้าติดตามสถานการณ์การช่วยชีวิต คนดังทั่วโลกพูดถึงเหตุการณ์นี้ เรื่องราว “13 หมูป่า” กลายมาเป็น Legend และถือเป็น Soft Power ของประเทศไทย
เหตุการณ์ “13 หมูป่า” ถูกพัฒนาให้เป็นภาพยนตร์ สารคดี หนังสือ ออกมาทั่วโลก ล่าสุดภาพยนตร์ Thirteen Lives ของ “รอน ฮาวเวิร์ด” ผู้กำกับรางวัลออสการ์ ที่เข้าฉายทาง Prime Video นอกจากนี้ยังมีลิมิเต็ดซีรีส์จาก Netflix เรื่อง “ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง (Thai Cave Rescue)” ที่จะเผยเรื่องราวของภารกิจถ้ำหลวง เริ่มรับชมได้วันที่ 22 กันยายน 2565
ในรอบ 4 ปีของเหตุการณ์ 13 หมูป่า มีการสร้างเป็นหนังไทย 5 เรื่อง ภาพยนตร์อินเตอร์อีก 5 เรื่อง สารคดีทั้งไทยและต่างประเทศ 10 เรื่อง ถือเป็นการโปรโมทให้ทั่วโลกรำลึกถึงเหตุการณ์ 13 หมูป่า
นี่จึงเป็นที่มาของการนำเหตุการณ์ 13 หมูป่า มาสร้างเป็นโมเดล Visitor Center แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ กับโปรเจกต์ THE CAVENTURE จังหวัดเชียงราย โดย “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
อินเด็กซ์ฯลงทุน 1,000 ล้านปั้น THE CAVENTURE
คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “เชียงราย” ถือเป็นเมืองกลยุทธ์หลักของอินเด็กซ์ฯ รองจากกรุงเทพฯ มีทั้งการจัดอีเวนท์ และสร้างโปรเจกต์ใหม่ เพราะเป็นเมืองที่การแข่งขันยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับเมืองหลักอย่าง เชียงใหม่ และภูเก็ต
ตั้งแต่ปี 2562 อินเด็กซ์ฯ เข้าไปเริ่มจัดอีเวนท์แรกในเชียงราย คือ “วัดร่องขุ่น ไลท์ เฟส” จากนั้นปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 ช่วงโควิด ก็ยังจัดอีเวนท์ร่วมกับ “สิงห์ ปาร์ค” Village of Illumination งานไลท์เฟสติวัล
และ Kilorun เชียงราย ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อินเด็กซ์ฯได้เข้าไปปักธง สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงรายไว้แล้ว “วันนี้การลงทุนโปรเจกต์ใหม่ในเชียงราย อินเด็กซ์ฯจึงไม่ใช่คนแปลกหน้า”
สำหรับโปรเจกต์ THE CAVENTURE สถานที่ท่องเที่ยวบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ 13 หมูป่า ตั้งใจสร้างให้เป็น World Class Destination ได้เข้าไปศึกษาตลาดในเชียงรายตั้งแต่ปี 2562 แต่ชะลอไปในช่วงโควิด
ล่าสุดได้เดินหน้าโครงการนี้แล้ว โดยตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ถ้ำหลวง ดิ เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด อินเด็กซ์ฯ ถือหุ้น 60% และกลุ่มทุนท้องถิ่นเชียงราย 40% เพื่อสร้าง THE CAVENTURE ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งอินเด็กซ์ฯ ในปี 2533
โครงการ THE CAVENTURE สร้างบนพื้นที่ 20 ไร่ ตั้งอยู่ที่โป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยก่อสร้างเป็นโมเดล ถ้ำหลวง Visitor Center ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ รองรับแนวคิด Universal Design รวมทั้งเพื่อเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเชียงราย เป็นอีกสถานที่ Must Visit ของภาคเหนือ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น โครงการตั้งอยู่ห่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ประมาณ 1 กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทางจากสนามบิน 1 ชั่วโมง
ภายในโครงการ THE CAVENTURE ประกอบด้วย
– อาคารล็อบบี้และพื้นที่จัดแสดง รูปทรงเลียนแบบมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
– “บูชาสถาน” เรื่องราวความเชื่อของคนไทย เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนท้องถิ่น
– บอลลูน (นิ่ง) เพื่อขึ้นชมวิวเห็นเทือกเขาขุนน้ำนางนอน ถ้ำหลวง และชายแดนเมียนมา (ค่าขึ้นบอลลูนชมวิว 500 บาท ประมาณ 30 นาที)
– โซนร้านอาหาร (ไฮไลต์เมนูหมูป่า รายการอาหารที่ 13 หมูป่าอยากรับประทานเมื่อออกจากถ้ำ) คาเฟ่ และร้านขายของที่ระลึก
สำหรับคอนเทนต์จัดแสดงเรื่องราวเหตุการณ์เป็นรูปแบบ Immersive Experience การสร้างประสบการณ์เสมือนจริง จากเหตุการณ์จริงที่คนทั้งโลกเฝ้าติดตามการช่วยชีวิต 13 หมูป่า โดยผู้เข้าชมจะได้ประสบการณ์อยู่ในถ้ำ ใน 2 มุม คือ จำลองเหตุการณ์ในมุมของ 13 หมูป่า ว่าอยู่รอดในถ้ำอย่างไร และในมุมของผู้เข้าไปช่วยชีวิตกับฉากไฮไลต์เมื่อนักดำน้ำพบเด็กๆ และประโยคคำถาม How many of you?
ในพื้นที่จัดแสดงมีการนำของใช้จริงของ 13 หมูป่ามาจัดแสดงด้วย คือ จักรยาน เสื้อผ้าชุดที่ใส่ไปถ้ำหลวง เสื้อผ้าชุดที่ใส่เวิลด์ทัวร์ต่างประเทศ สหรัฐฯ อาร์เจนตินา อังกฤษ ญี่ปุ่น โดยทำสัญญาใช้สิทธิ์ 5 ปี (ต่อสัญญาได้) โดยจ่ายค่าสิทธิ์ให้กับ 13 หมูป่าเป็นรายปี อีกไฮไลต์ที่นำมาจัดแสดง คือ อุปกรณ์ของจริงที่นำเข้าไปช่วยชีวิต 13 หมูป่า ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วย Navy SEAL ประเทศไทย
โปรเจกต์ THE CAVENTURE ถือเป็น Soft Power ของประเทศไทย ที่อินเด็กซ์ฯ นำมาพัฒนาต่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ที่ต้องการมากรำลึก เรียนรู้ กับเหตุการณ์ ความช่วยเหลือ รวมไปถึงเทคโนโลยีการกู้ภัย อันเป็นวาระแห่งโลก
โครงการนี้คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เยี่ยมชมสถานที่และชมการแสดง Immersive Experience โดยใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เพื่อได้ประสบการณ์จากเหตุการณ์ 13 หมูป่า เพราะปัจจุบันวนอุทยานไม่ได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าชมภายในถ้ำหลวง และพื้นที่หน้าถ้ำหลวงค่อนข้างจำกัด ไม่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกทั้งไม่สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปี
THE CAVENTURE ขายบัตรเข้าชมราคาเริ่มต้น 250 บาท วางเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปีละ 5 แสนคน สร้างรายได้ปีละ 300 ล้านบาท
สำหรับแบบก่อสร้างโครงการ THE CAVENTURE ได้รับการอนุมัติแล้ว จะเริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคมนี้ และจะเปิดให้เข้าชมในเดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นอีกโปรเจกต์ที่จะกลายเป็นแฟลกชิป ของอินเด็กซ์ฯ ในการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและสร้างรายได้ประจำจาก Own-Projects ตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้สัดส่วน 50% ของรายได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจอีเวนท์
อ่านเพิ่มเติม