“ตลาดงาน” เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทั้งผู้ประกอบการที่จ้างงานและคนทำงาน แต่หลังจากไตรมาส 1 ปี 2565 การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ตอนนี้สถานการณ์ตลาดงานจึงเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดงานในครึ่งปีแรกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แล้วแนวโน้มตลาดครึ่งปีหลังจากนี้จะไปในทิศทางไหน มีปัจจัยใดที่จะกระทบผู้ประกอบการและคนทำงาน และสายงานไหนจะมาแรง สายงานไหนจะร่วง
JobsDB (จ๊อบส์ ดีบี) ได้เปิดผลสำรวจเกี่ยวกับตลาดงานปี 2565 ในหัวข้อ “SURVEY TO SURVIVE: เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน ทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี” โดยอ้างอิงจากจำนวนประกาศงานและข้อมูลการสมัครงาน ซึ่งพบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้
ตลาดงานครึ่งปีหลัง 2565 ยังโตต่อ แต่อาจเจอ “เงินเฟ้อ” ทำคนพร้อมเปลี่ยนงาน-ต้นทุนคนพุ่ง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปี 2565 เป็นปีแห่งความหวังของทุกธุรกิจ รวมถึงตลาดงาน เพราะในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลายสายงานถูกลดเงินเดือน และบางอาชีพถูกเลิกจ้าง ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งผ่านมาครึ่งปีแรกของปี 2565 คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า สถานการณ์การจ้างงานโดยรวมกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2% จากปลายปี 2564 อยู่ที่ 2.25% ขณะที่ผู้ประกอบการเปิดรับคนเข้าทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจากเศรษฐกิจ กอปรกับนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และการปรับตัวของภาคธุรกิจในการหารายได้ในยุค New Normal
“เศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวและค่อยๆ ดีขึ้น ทำให้ผู้สมัครงานตื่นตัวและสมัครงานมากขึ้น แม้กระทั่งในช่วงเดือนเมษายนที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน แต่ยอดการสมัครงานไม่มีตก จากสถิติการสมัครงานผ่านจ๊อบส์ดีบี พบว่า แต่ละเดือนมีผู้สมัครกว่า 1.2 ล้านคน ในบางสายงานมีผู้สมัครเพิ่มกว่า 60% ซึ่งหากไทยเปิดประเทศอย่างเต็มที่ คิดว่าแนวโน้มการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
คุณดวงพร วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดงานครึ่งปีหลังจากนี้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ “ต้นทุน” และ “อัตราเงินเฟ้อ” เพราะทั้ง 2 ปัจจัยนี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดงาน โดยฝั่งคนทำงานอาจรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ปรับขึ้นเงินเดือน อาจส่งผลให้คนทำงานตัดสินใจ “เปลี่ยนงาน” ในทางกลับกันถ้าปรับขึ้นเงินเดือน จะส่งผลให้ “ต้นทุนคน” สูงขึ้น และหากผู้ประกอบการไม่สามารถสร้างการเติบโตให้ทันกับภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนคนที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบกับธุรกิจตามมา
“คนดิจิทัล” เปลี่ยนงานบ่อยขึ้น ต้องการทำงานแบบ Hybrid
แม้ว่าสถานการณ์ตลาดงานในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น แต่จากการสำรวจคนทำงานกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับ Boston Consulting Group และ The Network พบพฤติกรรมคนทำงานเปลี่ยนไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยพบว่าคนทำงานมีแนวโน้มจะ “เปลี่ยนงาน” กันบ่อยขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีทักษะดิจิทัล โดย 73% วางแผนเปลี่ยนงานในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และอีก 40% กำลังมองหางานใหม่ โดยเหตุผลของการเปลี่ยนไม่ใช่เรื่อง “เงินเดือน” แต่เป็นเพราะ
1.โอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน 63%
2.มองหาความท้าทาย 49%
3.รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับในตำแหน่งงานปัจจุบัน 36%
4.ขาดความสมดุลของชีวิตและงาน 29%
5.กำลังมองหาองค์กรที่มีความเชื่อและคุณค่าที่ตรงกัน 24%
นอกจากคนทำงานสายดิจิทัลจะเปลี่ยนงานบ่อยแล้ว คนกลุ่มนี้ยังต้องการทำงานแบบ Hybrid Work มากขึ้น จากผลสำรวจ พบว่า 95% ต้องการทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ และมีถึง 25% ต้องการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย แต่ที่น่าสนใจคือ หากบริษัทให้กลับไปทำงานในออฟฟิศแบบ 100% คนกลุ่มนี้เลือกที่จะโยกย้าย หรือเปลี่ยนงานเพื่อหาบริษัทใหม่ที่มีนโยบายการทำงานแบบ Hybrid Work
โดย 5 ประเทศที่คนดิจิทัลอยากทำงานด้วยมากที่สุดคือ
1.สหรัฐอเมริกา
2.สหราชอาณาจักร
3.ออสเตรเลีย
4.สาธารณรัฐประชาชนจีน
5.สิงคโปร์
คุณดวงพร บอกว่า คนที่มีทักษะดิจิทัล เป็นคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ และการเปลี่ยนงานจะยิ่งช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์มากขึ้น ต่างจากคนสมัยก่อนที่มองว่าการเปลี่ยนงาน เหมือนคนเปลี่ยนงานบ่อย อีกทั้งทักษะบางอย่างของคนกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น นอกจากปัจจัยด้านค่าตอบแทนแล้ว ผู้ประกอบการต้องวางแผนดึงดูดให้คนเหล่านี้อยู่กับองค์กรมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ นโยบายการทำงานที่ยึดหยุ่น การ Work-life Balance และวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้คนทำงานรู้สึกสนุกและมีความสุข
4 ธุรกิจฟื้นตัวเร็วสุดหลังโควิด
ส่วนความกังวลของคนดิจิทัล ผลสำรวจ พบว่า 42% มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัตโนมัติ หรือ AI จะเข้ามาแทนที่ความสามารถและทักษะต่างๆ ขณะที่ 68% ต้องการเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ในการพัฒนาทักษะใหม่ และ 60% ต้องการพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ เพราะฉะนั้น คุณดวงพร แนะว่า สิ่งที่องค์กรควรทำคือ การเตรียมแผนในการพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อให้พนักงานมีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งเสนองานที่ท้าทายให้กับคนทำงาน
โดย 3 ทักษะสำคัญที่คนทำงานยุคดิจิทัลต้องมี คือ
1.ทักษะการเรียนรู้
2.ทักษะด้านดิจิทัล
3.ทักษะทางด้านชีวิต สังคม และอาชีพ
ขณะที่ช่องทางในการพัฒนาทักษะของคนทำงานยุคดิจิทัล หากเป็นก่อนการระบาดโควิด-19 คนทำงานจะนิยมใช้วิธีอ่านหนังสือหรือเอกสารต่างๆ เป็นหลัก แต่หลังโควิดคนหันมาเรียนออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเรียนรู้จากการสอนงาน และการประชุมสัมมนา
เมื่อเจาะลึกถึงธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวและกลับมาเติบโตอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว มี 4 ธุรกิจ ดังนี้
1.ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคมีการสั่งอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่มากขึ้น จึงทำให้มีการใช้แพ็กเกจจิ้งเพิ่มถึง 300% ส่งผลให้ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 19.6%
2.ธุรกิจไอที การที่ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล ประกอบกับคนหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น จึงทำให้สายงานด้านนี้เป็นที่ต้องการ แม้แต่บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน สัดส่วนของประกาศงานมากกว่า 60% ต้องการตัวทำงานคนสายไอทีและยอมทุ่มเงินเดือนสูงเพื่อดึงดูดให้คนในสายงานนี้เข้ามาทำงานกับบริษัท เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการหารายได้ของตัวเองในรูปแบบของออนไลน์มากขึ้น
3.ธุรกิจการผลิต สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลมีการผ่อนปรนการควบคุมโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการจ้างงานมากขึ้น จึงทำให้มีการหาคนเข้าสู่ภาคการผลิตมากขึ้น โดยจังหวัดที่ประกาศรับงานภาคการผลิตมากสุดคือ ชลบุรี โดยเฉพาะตำแหน่งระดับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นถึง 79.5% คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของประกาศงานทั้งหมด
4.ธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมาจะเห็นหลายโรงพยาบาลเปิดตัวบริการทางการแพทย์ออนไลน์ ทำให้งานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และเภสัชกรรมเติบโตขึ้นมาก และมีการหาบุคลากรด้านนี้เป็นจำนวนมาก
สายงานไอที-ดิจิทัล มนุษย์ทองคำตลาดแรงงานปี 2565 ค่าตัวพุ่ง
สำหรับในปี 2565 กลุ่มธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ธุรกิจไอที 11.3%
2.ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก 10.8%
3.ธุรกิจการเงินและการธนาคาร 8.4%
4.ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 8.1%
5.ธุรกิจขนส่ง 8.1%
ส่วน 5 สายงานที่เปิดรับสมัครสูงสุด คือ
1.ไอที 19.1%
2.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 19.0%
3.งานวิศวกรรม 13.9%
4.งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ 11.4%
5.งานธุรการและทรัพยากรบุคคล 8.7%
ขณะที่ 5 อันดับสายงานที่มีเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้น คือ
1.งานไอที เงินเดือนเพิ่ม 41%
2.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ งานการตลาดและงานประชาสัมพันธ์ เงินเดือนเพิ่ม 40%
3.งานการศึกษา งานฝึกอบรม เงินเดือนเพิ่ม 40%
4.งานสุขภาพ งานโภชนาการ และงานความงาม เงินเดือนเพิ่ม 39%
5.งานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล เงินเดือนเพิ่ม 38%