HomeInsightน่าห่วง! ผลวิจัยชี้ พิษโควิด ทำ “Gen Z” เครียด-นอนไม่หลับ-กังวล-เหงา สูงขึ้น

น่าห่วง! ผลวิจัยชี้ พิษโควิด ทำ “Gen Z” เครียด-นอนไม่หลับ-กังวล-เหงา สูงขึ้น

แชร์ :

การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี ถึงตอนนี้จะสร่างซาลง แต่ยังมียอดผู้เสียชีวิตและติดเชื้อใหม่รายวันอย่างต่อเนื่อง ซ้ำร้ายต้องมาเจอกับเศรษฐกิจซึมยาว ทำให้สะเทือนถึงสภาพจิตใจคนไทย โดย “มินเทล” (Mintel) บริษัทวิจัยด้านการตลาดระดับโลก ได้เผยผลวิจัยฉบับใหม่ ซึ่งสำรวจในช่วง 6 เดือน ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย 2,000 ราย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พบคนไทยประมาณ 8 ใน 10 รายกำลังประสบปัญหา “สุขภาพจิต” โดยเฉพาะกลุ่ม “Gen Z” เป็นกลุ่มที่รู้สึก “โดดเดี่ยว” ที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เปิด 4 อันดับปัญหา “สุขภาพจิต” คนไทย

ต้องยอมรับว่า การแพร่ระบาดยาวนานกว่า 2 ปี ทำให้คนไทยได้รู้จักกับไวรัสโควิด-19 และสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่กันมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง กอปรกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจคนไทยเช่นกัน ทำให้เกิดความหงุดหงิดและรู้สึกท้อแท้ โดยผลวิจัยพบว่า ปัญหาสุขภาพจิต 4 อันดับแรก ได้แก่

1.ความเครียด 46%

2.นอนไม่หลับ 32%

3.วิตกกังวล 28%

4.เหงา 27%

Gen Z รู้สึกโดดเดี่ยวที่สุด

ผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคแต่ละเพศ และแต่ละช่วงวัยต่างเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน โดยกลุ่ม Gen-Z โดยเฉพาะอายุระหว่าง 18-24 ปี เป็นกลุ่มที่รู้สึก “โดดเดี่ยว” ที่สุด สูงถึง 38% เมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่นๆ อาทิ กลุ่ม Millennials 26% และ Gen X 15% โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขานั้นมาจากเพื่อน 33% และโซเชียลมีเดีย 25%

คุณวิลาสิณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการวิจัยไลฟ์สไตล์ ประจำ Mintel Reports Thailand บอกว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวไทยที่มีอายุน้อย รู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง และมีสภาวะทางจิตใจบางอย่าง เช่น การนับถือตนเองต่ำ อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล โดยสภาวะเหล่านี้เกิดจากการสร้างภาพชีวิตที่ “สมบูรณ์แบบ” บนโซเชียลมีเดีย จากการได้เห็นบุคคลที่พวกเขาชื่นชอบ อินฟลูเอนเซอร์ หรือคนที่พวกเขารู้จักมีในสิ่งที่พวกเขาไม่มี จึงก่อให้เกิดความกดดันที่จะต้องใช้ชีวิตให้ได้ตามมาตรฐานที่ผู้อื่นวางไว้ ซึ่งแบรนด์สามารถช่วยกลุ่มที่มีอายุน้อยนี้ได้ ด้วยแคมเปญที่ผลักดันและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกพึงพอใจในตนเอง

ผู้หญิงรู้สึก “หมดไฟ” กว่าผู้ชาย

นอกจากความโดดเดี่ยวแล้ว อาการหมดไฟ (Burn-Out) ซึ่งเป็นภาวะเหนื่อยล้า เครียด และหดหู่ ยังเป็นอีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง จากผลวิจัยพบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของหญิงไทยที่มีอายุ 18-34 ปี หรือประมาณ 31% รู้สึกหมดไฟ เมื่อเทียบกับชายในวัยเดียวกัน 17% เนื่องจากผู้หญิงให้ความสำคัญในหลายด้าน ทั้งการงาน/การศึกษา ทั้งยังต้องรับมือกับงานบ้าน ความรับผิดชอบทางการเงิน และคำนึงถึงการแต่งงานใช้ชีวิตคู่

“ตามที่ระบุไว้ในงานวิจัยฉบับใหม่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง พวกเธอต้องการจะรักษาสมดุลในชีวิตและมีสุขภาพที่ดี ทั้งทางกายและทางใจ ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ สามารถวางผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีไลฟ์สไตล์ที่ยุ่งหรือวุ่นวายตลอดเวลา ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่จะช่วยบรรเทาความเครียดทางด้านจิตใจ และช่วยให้พวกเธอสามารถทำกิจกรรมเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีได้”

การอดนอนส่งผลกระทบต่อคนทุกรุ่น

ผลวิจัยของ Mintel เผยให้เห็นว่า การนอนหลับส่งผลต่อคนทุกช่วงอายุ และอาจเชื่อมโยงกับความตึงเครียดได้ โดยประมาณ 35% ของ Gen Z และ Millennial จะมีอาการนอนไม่หลับ ในขณะที่ Gen X จะมีอาการนอนไม่หลับอยู่ที่ 28% ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้คนมักเชื่อกัน การนอนไม่หลับมักจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ

ปัจจัยเหล่านี้อาจเกิดจากมาตรการในการทำงานหรือเรียนอยู่ที่บ้าน ทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานหรือการเรียนออกจากกันได้อย่างชัดเจน จนทำให้เกิดความเครียดและนอนไม่หลับมากขึ้น เนื่องจากคนไทยมีปัญหาด้านการนอนหลับ แบรนด์ต่างๆ จึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตรวจจับรูปแบบการนอนและให้ประโยชน์ด้านสุขภาพอื่นๆ ได้

ผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต

แม้คนไทยจะประสบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการและข้อมูลด้านสุขภาพจิตได้ โดยคนไทยกว่า 3 ใน 4 (76%) รู้สึกเห็นด้วยว่าควรจะมีการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

“ผู้บริโภคต่างมีความคาดหวังสูงจากแบรนด์ในแง่ของการที่แบรนด์เหล่านั้นจะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพจิต แต่ด้วยข้อจำกัดทางสังคม และความละเอียดอ่อนของภาวะสุขภาพจิต แบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความเป็นไปทางด้านจิตใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ด้วยความที่โซเชียลมีเดียมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคกว่า 3 ใน 4 เห็นด้วยว่า ช่องทางดังกล่าวเป็นช่องทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เล็งเห็นถึงคุณค่าทางด้านจิตใจ ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ผู้บริโภค แบรนด์ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยขจัดปัญหาสุขภาพจิต และแบรนด์ที่ส่งเสริมให้ผู้คนเข้ารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถชนะใจผู้บริโภคได้”

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like