สร้างกระแสในโลกออนไลน์มาพักใหญ่กับการปรากฏตัวของหุ่นยนต์ส่งของ “หุ่นยนต์ส่งของสุดคิ้วท์” Outdoor Delivery Robot ของ 7-Eleven หลังทดลองนำร่องทดสอบในพื้นที่ Sandbox ภายในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ช่วงที่ผ่านมา
แม้การเข้ามาของหุ่นยนต์ผู้ช่วยในธุรกิจต่างๆของเมืองไทยจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาหุ่นยนต์ในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Indoor Delivery Robot หรือหุ่นยนต์สำหรับใช้ส่งของภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร บริการทางการแพทย์ ฯลฯ เท่านั้น ทำให้การได้เห็นหุ่นยนต์ส่งของนอกสถานที่ หรือ Outdoor Delivery Robot เป็นเรื่องใหม่และสร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย
BrandBuffet เปิด 8 เบื้องหลังน่ารู้ กว่าจะมาเป็น “หุ่นยนต์ส่งของสุดคิ้วท์” Outdoor Delivery Robot ที่ 7-Eleven เดินหน้าพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การบริการส่งของแบบ Delivery ตัวช่วยพนักงานบริการลูกค้า พร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่
- Outdoor Delivery Robot หรือ “หุ่นยนต์ส่งของสุดคิ้วท์” ของ 7-Eleven ได่รับการพัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือของ บริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ประกอบด้วยคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน 7 คนร่วมกันพัฒนา ตั้งแต่โครงสร้างหุ่นยนต์ การออกแบบรูปลักษณ์และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ อาทิ 3D-Lidar มาใช้กับหุ่นยนต์ Outdoor Delivery Robot เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
- “ธิติวุฒิ พิมพิสัย” หรือ เบส เจ้าหน้าที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM เผยถึงที่มาของการพัฒนาหุ่นยนต์ส่งของดังกล่าวว่า เกิดจากแรงบันดาลใจสมัยเป็นนักศึกษามีโอกาสได้ร่วมพัฒนาหอพักผู้ป่วยอัจฉริยะ (Smart Ward) เพื่อใช้ในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยมีหุ่นยนต์เป็นส่วนประกอบร่วมกับระบบอัตโนมัติต่างๆ เพื่อส่งอาหารและยาให้ถึงเตียงผู้ป่วย ลดการสัมผัสในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทางทีมจึงได้นำประสบการณ์ดังกล่าว มาต่อยอดสู่การพัฒนา Outdoor Delivery Robot
- การพัฒนาในเฟสแรกใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จนหุ่นยนต์มีรูปลักษณ์และดีไซน์ตามที่ปรากฏ ในช่วงแรกสามารถรับส่งของได้ครั้งละ 2 ออเดอร์ จากการทดลองวิ่งจริงในพื้นที่เฉพาะสำหรับการทดสอบ หรือ Sandbox บริเวณพื้นที่อาคารของ PIM และพื้นที่ “ธารา พาร์ค” เพื่อให้แน่ใจว่าการวิ่งส่งของแต่ละครั้งมีความแม่นยำ บนถนนและสิ่งกีดขวางหลากหลายรูปแบบ
- ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาในเฟสที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพของหุ่นยนต์จากในเฟสแรก ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบหุ่นยนต์ให้มีหลายขนาดมากขึ้น พร้อมตอบโจทย์การรับ-ส่งสินค้า ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถนำออกไปใช้ในสาขาต่างๆในอนาคต โดยปัจจุบันยังไม่มีการใช้จริงในสาขาใดๆ
- นอกจากรูปลักษณ์ที่น่ารัก ปุ๊กปิ๊กแล้ว หุ่นยนต์ Outdoor Delivery Robot ยังมาพร้อมจุดเด่น ในเรื่องการเป็นขนส่งพลังงานสะอาด (Green Energy Delivery) หรือเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% เข้ามาช่วยให้เกิดการขนส่ง ไม่ก่อมลภาวะ ไม่ส่งเสียงดัง สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกในปัจจุบัน
- การทำงานของหุ่นยนต์จะเป็นการใช้งานระบบนำทางอัตโนมัติ AI ไร้คนขับ ภายในประกอบด้วยเซ็นเซอร์มากมาย รวมถึงกล้องบันทึกหน้า-หลัง เพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ภายในช่องบรรจุสินค้าจะมีระบบล็อกและสามารถปลดล็อกอัตโนมัติได้ เมื่อลูกค้ากดยืนยันการรับสินค้าจากแอปพลิเคชั่น
- เป้าหมายของการพัฒนาหุ่นยนต์ส่งของในระยะยาว คือเพื่อแบ่งเบาภาระการทำงานของพนักงานหน้าร้าน (Delivery Assistant) ในช่วงที่มีปริมาณการสั่งสินค้าเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก รวมถึงช่วยการขนส่งในเวลากลางคืน ตอบโจทย์การเป็นร้านที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
- นอกจากนี้ยังต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อปั้นธุรกิจ New S-Curve ของทางซีพีออลล์ในอนาคต โดยการนำ Outdoor Delivery Robot เข้าไปช่วยตอบโจทย์การส่งของให้แก่บริษัทหรือร้านค้าอื่นๆ ใกล้ 7-Eleven ไปยังผู้บริโภค อีกทั้งยังเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและพนักงาน (Safety Delivery) ลดความกังวลเรื่อง COVID-19 และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งการต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อใช้ตอบโจทย์ พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการบริการแบบ Delivery ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ร้านเซเว่นฯ ยอดขายฟื้น CPALL กวาดรายได้ไตรมาสแรก 199,731 ล้าน เพิ่มขึ้น 50% โกยกำไร 3,453 ล้าน