HomeBrand Move !!กลัวบะหมี่ฯขึ้นราคาลูกค้าแห่ซื้อ ดันยอดขายครึ่งปี ‘มาม่า’ เพิ่ม แต่ต้นทุนผลิตพุ่ง ฉุดกำไรร่วง 32% 

กลัวบะหมี่ฯขึ้นราคาลูกค้าแห่ซื้อ ดันยอดขายครึ่งปี ‘มาม่า’ เพิ่ม แต่ต้นทุนผลิตพุ่ง ฉุดกำไรร่วง 32% 

แชร์ :

TFMAMA cover

ตั้งแต่ต้นปีผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้ออกมาแจกแจงต้นทุนวัตถุดิบทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าขนส่ง ที่ปรับตัวขึ้นสูงมาต่อเนื่อง จนต้องยื่นขอกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ปรับขึ้นราคาบะหมี่ฯ ซอง 6 บาท เป็น 8 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2 บาท หลังจากไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2551 หรือ 14 ปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุด 5 แบรนด์บะหมี่ฯ ที่ประกอบด้วย “มาม่า ไวไว ยำยำ นิชชิน และซื่อสัตย์” จับมือกันออกมายืนยันอีกครั้งว่า ต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้นมารอบนี้ “หนักสุด” เพราะเจอทั้ง ราคาวัตถุดิบ ค่าเงินบาทอ่อน เงินเฟ้อ ค่าขนส่ง และอาจเจอต้นทุนค่าแรงเพิ่มเข้ามาอีก จึงร้องขอให้กรมการค้าฯ พิจารณาอนุมัติขึ้นราคาบะหมี่ฯ เพราะไม่สามารถแบกไหวแล้ว

ตามดูผลประกอบการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ที่มีสินค้าหลักบะหมี่ฯ แบรนด์ “มาม่า” จำหน่ายในไทยและส่งออก สรุปตัวเลขไตรมาส 2 และงวดครึ่งปีแรก 2565  พบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นแต่กำไรลดลง จากต้นทุนผลิตสูง สรุปได้ดังนี้

รายได้ไตรมาส 2 ปี 2565 (เทียบช่วงเดียวกันปี 2564)

– รายได้ 6,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.40%

– ต้นทุนขาย 4,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.12%

– กำไรสุทธิ 556 ล้านบาท ลดลง 36.44%

รายได้ครึ่งปีแรก 2565 (เทียบช่วงเดียวกันปี 2564)

– รายได้ 12,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.84%

– ต้นทุนขาย 9,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.34%

– กำไรสุทธิ 1,164 ล้านบาท ลดลง 32.39%

แจกแจงรายได้ไตรมาส 2 ปี 2565 (เทียบปี 2564) แยกตามกลุ่มสินค้า 

 – สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในประเทศไทยมียอดขาย  2,591 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 2,275 ล้านบาท) และตลาดส่งออกต่างประเทศ 1,286 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 1,075 ล้านบาท)

– สินค้าเบเกอรี่ ในประเทศมียอดขาย 1,821 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 1,709  ล้านบาท)

– สินค้าขนมปังกรอบ ในประเทศมียอดขาย 194  ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 176 ล้านบาท)

– สินค้าน้ำผลไม้ ในประเทศมียอดขาย 61 ล้านบาท  (เพิ่มขึ้นจาก 52 ล้านบาท) ยอดขายต่างประเทศ 216 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจาก 146 ล้านบาท)

TFMAMA H1 2022 revenue

เห็นได้ว่าไตรมาส 2 ปีนี้ยอดขายสินค้าทุกประเภท “เพิ่มขึ้น” โดยมีรายได้จากการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในประเทศเพิ่มขึ้น 13.87% และต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 19.65% สาเหตุมาจากการระบายสินค้าดีขึ้น จากการที่ตลาดคาดว่าจะมีการ “ปรับราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้น” ส่วนตลาดต่างประเทศ มีปัจจัยเสริมจากการอ่อนค่าของเงินบาท

ส่วนยอดขายสินค้าเบเกอรี่ เพิ่มขึ้น 6.55% ขนมปัง เพิ่มขึ้น 10.98%  และน้ำผลไม้ เพิ่มขึ้น 39.58% เนื่องจากตลาดฟื้นตัวจากการเปิดประเทศและสินค้าที่มีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น

สรุปต้นทุนขาย

– ต้นทุนขายไตรมาส 2 ปี 2565 มีจำนวน 4,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 986 ล้านบาท หรือ 26.12% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

– ต้นทุนขายงวดครึ่งปีแรก 2565  มีจำนวน 9,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,545 ล้านบาท หรือ 20.34% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุจากราคาวัตถุดิบหลัก โดยเฉพาะ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ปรับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จากสถานการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นและสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนขายต่อรายได้จากการขาย ไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 72.86% (ปี 2564 อยู่ที่ 65.51%) และงวดครึ่งปีแรก อยู่ที่ 72.03% (ปี 2564 อยู่ที่ 65.74%)

กำไรสุทธิ

ไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 556 ล้านบาท ลดลง 36.44%  เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุจากต้นทุนวัตถุดิบหลักและค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น ส่วนงวดครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิ 1,164 ล้านบาท ลดลง 32.39% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ดูจากตัวเลขผลประกอบการ TFMAMA ในกลุ่มสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เห็นได้ว่าแม้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่กำไรลดลง จากสถานการณ์ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้ “มาม่า” รวมทั้งผู้ผลิตบะหมี่ฯ แบรนด์อื่นๆ ในตลาด ได้ยื่นต่อกรมการค้าภายใน ขอขึ้นราคาขายสินค้าหลัก ซอง 6 บาท เป็น 8 บาท โดยสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าแมส ครองส่วนแบ่งการตลาด 80% ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 18,000 ล้านบาท

ตามดูกลุ่มธุรกิจ TFMAMA  มีสินค้าอะไรบ้าง

บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เป็นธุรกิจในเครือสหพัฒน์ เป็นผู้ผลิตสินค้ากลุ่มบะหมี่ฯ เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ ทั้งจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออก

– กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ มาม่า, มาม่า OK โดยมาม่า เป็นผู้นำอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดบะหมี่ฯ 47% นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิตบะหมี่ฯ ให้กับบริษัทชั้นนำในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อการส่งออก แบรนด์ในต่างประเทศ เช่น  MAMY, PAPA, PAMA, HANDI RICE และ PRESIDENT RICE  กลุ่มสินค้าบะหมี่ฯ มียอดการผลิตรวม 6 ล้านซองต่อวัน

– กลุ่มเส้นขาว วุ้นเส้น โจ๊ก และข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ มาม่า  MAMA, MAMY, PAPA, PAMA

– กลุ่มเบเกอรี่ เป็นธุรกิจภายใต้ บริษัท เพรซิเดนท์เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TFMAMA  ถือหุ้น 51.99% ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมปังและเบเกอรี่ แบรนด์ ฟาร์มเฮ้าส์, บิสชิน,โฮมมี่, เดลิย่า ร้านเค้กมาดามมาร์โก้  และน้ำผลไม้ แบรนด์ กรีนเมท เคลลี่ และไทซัน

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like